พลเอก ประวิตร ขึ้น ฮ.ตรวจสถานการณ์ผักตบชวาและวัชพืชสะสม พื้นที่ลุ่มน้ำภาคกลาง เร่งกำจัดก่อนน้ำหลากปีนี้

วันที่ 8 มิถุนายน 2563 พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ตรวจติดตามสถานการณ์ผักตบชวาและวัชพืชในลุ่มน้ำภาคกลาง (แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำน้อย คลองรังสิตประยูรศักดิ์) โดยรองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการติดตามสถานการณ์ผักตบชวาและวัชพืช ในลุ่มน้ำภาคกลาง ณ ห้องเตรียมบิน กองการบิน ศูนย์การเคลื่อนย้ายกองทัพบก พร้อมทั้งขึ้นเฮลิคอปเตอร์ เพื่อสำรวจเส้นทางการไหลของผักตบชวา

พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ปัญหาผักตบชวาและวัชพืชในแม่น้ำของประเทศ เป็นปัญหาที่รัฐบาลได้ให้ความสำคัญในการแก้ไขเป็นอย่างยิ่ง และได้ติดตามผลการดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชนที่ใช้เส้นทางน้ำในการคมนาคม ขนส่ง เป็นประจำ พร้อมทั้งเตรียมความพร้อมในการรับมือกับปัญหาน้ำหลากในช่วงฤดูฝน ซึ่งจากการประชุมเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2563 ณ ห้องประชุมโรงเรียนวัดทรงคนอง อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม ได้มอบหมายให้ 4 หน่วยงานรับผิดชอบพื้นที่ที่มีการสะสมของผักตบชวาและวัชพืชในแม่น้ำสายหลักและแหล่งน้ำเชื่อมโยง ได้แก่ กรมโยธาธิการและผังเมือง กรมชลประทาน กรมเจ้าท่า กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น โดยใช้รายงานการสำรวจผักตบชวาของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA เพื่อให้ทุกหน่วยงานที่รับผิดชอบในการแก้ไขปัญหาผักตบชวาเห็นภาพปัญหาได้ชัดเจนยิ่งขึ้น และได้เร่งรัดดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเดือนมิถุนายนนี้ วันนี้จึงได้ใช้เฮลิคอปเตอร์บินสํารวจสถานการณ์ผักตบชวา ในพื้นที่ลุ่มน้ำภาคกลางตอนล่าง ได้แก่ คลองหกวา คลองสอง คลองสาม คลองรังสิตประยูรศักดิ์ และได้บินไปสํารวจในแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำน้อย บริเวณประตูระบายน้ำผักไห่และแม่น้ำท่าจีน บริเวณประตูระบายน้ำโพธิ์พระยา จังหวัดสุพรรณบุรี เรื่อยมาจนถึงบริเวณหน้าวัดบางช้างเหนือ จังหวัดนครปฐม จากการบินสำรวจพบว่ายังมีหลายจุดที่มีผักตบชวาสะสมอยู่ปริมาณมาก จึงได้กําชับให้ทุกหน่วยเร่งดําเนินการกําจัดผักตบชวาให้ทันก่อนที่น้ำเหนือจะไหลหลาก     ลงมาในช่วงเดือนกรกฎาคม การกำจัดผักตบชวาให้สิ้นซากนั้นแม้จะเป็นเรื่องยาก แต่ถ้าหากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกหน่วยงานร่วมมือกันอย่างจริงจัง ประชาชนที่อยู่ริมน้ำทุกหลังคาเรือนช่วยกันดูแลความสะอาดหน้าบ้านของตนเองอย่างสม่ำเสมอ เชื่อว่าปัญหาผักตบชวาก็จะหมดไปจากแม่น้ำ ลำคลองและเกิดความยั่งยืนต่อไป

ด้านนายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง กล่าวเพิ่มเติมว่า การตรวจติดตามสถานการณ์ผักตบชวาและวัชพืชของรองนายกในวันนี้ สืบเนื่องจากการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2563 การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในการจัดเก็บผักตบชวาบริเวณวัดทรงคนอง แม่น้ำท่าจีน จังหวัดนครปฐม และตรวจติดตามผลการจัดเก็บผักตบชวา โดยใช้ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมของ GISTDA สํารวจ เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2563 ซึ่งได้มอบหมายให้ 4 หน่วยงานหลักดําเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยรองนายกได้แจ้งในที่ประชุมให้มี การบินสํารวจด้วยเฮลิคอปเตอร์เพื่อสํารวจพื้นที่ลุ่มน้ำภาคกลางตอนล่าง ซึ่งจะทำให้มองเห็นเส้นทางและปริมาณการไหลของผักตบชวาที่สะสมอยู่ในพื้นที่ต่างๆได้อย่างชัดเจน จึงได้เชิญหน่วยงานที่รับผิดชอบดําเนินการจัดเก็บผักตบชวาร่วมทําการบินสํารวจในครั้งนี้ และได้มีการถ่ายภาพเพิ่มในลุ่มน้ำภาคกลาง และภาคตะวันออกของ GISTDA เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2563 พบว่ามีการสะสมของผักตบชวา จํานวน 128 จุด 19 จังหวัด สะสมเป็นจำนวนมากในแม่น้ำสายหลัก จํานวน 47 จุด ได้แก่ แม่น้ำเจ้าพระยา 2 จุด แม่น้ำน้อย 15 จุด แม่น้ำท่าจีน 23 จุด แม่น้ำปาสัก 1 จุด แม่น้ำลพบุรี 6 จุด รวมปริมาณผักตบชวาในแม่น้ำสายหลักทั้งสิ้น 165,360 ตัน

จากผลสํารวจข้างต้น ได้มีการแบ่งพื้นที่รับผิดชอบไว้ดังนี้

– กรมชลประทาน รับผิดชอบ
1. แม่น้ำท่าจีน (ประตูระบายน้ำพลเทพ ถึงประตูระบายน้ำโพธิ์พระยา ระยะทาง 120 กม.) มีปริมาณผักตบชวา 13,680 ตัน
2. แม่น้ำน้อย (ประตูระบายน้ำบรมธาตุถึงประตูระบายน้ำผักไห่ระยะทาง 97 กม.) มีปริมาณผักตบชวา 16,320 ตัน
3. คลองรังสิตประยูรศักดิ์ คลองสอง คลองสาม และคลองหกวา มีปริมาณผักตบชวา 15,600 ตัน

– กรมเจ้าท่า รับผิดชอบ
1. แม่น้ำเจ้าพระยา ระยะทาง 160 กม. มีปริมาณผักตบชวา 20,880 ตัน
2. แม่น้ำน้อย (ใต้ประตูระบายน้ำผักไห่ถึงจุดเชื่อมต่อแม่น้ำเจ้าพระยาที่อําเภอบางไทร ระยะทาง 42 เมตร) มีปริมาณผักตบชวา 50,640 ตัน

– กรมโยธาธิการและผังเมือง รับผิดชอบ
1. แม่น้ำท่าจีน (ใต้ประตูระบายน้ำโพธิ์พระยาถึงอ่าวไทยระยะทาง 200 กม.) มีปริมาณผักตบชวา 55,600 ตัน

สําหรับการบินสํารวจในวันนี้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการแก้ไขปัญหาผักตบชวาให้กับพี่น้องประชาชน และเตรียมความพร้อมในการรับมือกับปัญหาน้ำหลากได้เป็นอย่างดี ซึ่งรัฐบาลให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการเร่งรัดแก้ไขปัญหาเพื่อให้แม่น้ำปลอดผักตบชวา การคมนาคม ขนส่งสะดวกสบาย แก้ไขปัญหาน้ำท่วม และประชาชนริมน้ำมีวิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีต่อไป

…………………………………………………………….