รายงานข่าวกรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ประจำวันที่ 7 มิถุนายน 2563

วันที่ 7 มิถุนายน 2563) ที่ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด19 (ศบค.) กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี แพทย์หญิงพรรณประภา ยงค์ตระกูล ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด 19 แถลงความคืบหน้าสถานการณ์ผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในประเทศไทยวันนี้ ว่ามีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 8 ราย เป็นคนไทยที่เดินทางกลับจากต่างประเทศและเข้ารับการเฝ้าระวังในสถานที่รัฐจัดให้ (สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 5 ราย, คูเวต 2 ราย, อินเดีย 1 ราย) มีผู้ป่วยกลับบ้านได้ 1 ราย ยอดผู้ป่วยกลับบ้านสะสม 2,972 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 95.5 ของผู้ป่วยทั้งหมด มีผู้ป่วยที่ยังรักษาอยู่ในโรงพยาบาล 82 ราย หรือร้อยละ 2.63 ของผู้ป่วยทั้งหมด ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม รวมผู้เสียชีวิตสะสม 58 ราย ผู้ป่วยสะสมทั้งสิ้น 3,112 ราย

ขณะนี้สถานการณ์การติดเชื้อโควิด 19 ไม่มีผู้ติดเชื้อภายในประเทศต่อเนื่องเป็นเวลา 13 วันแล้ว และหลังมาตรการผ่อนปรนระยะที่ 3 (วันที่ 1 มิถุนายน 2563) เป็นเวลา 7 วัน ยังไม่พบผู้ติดเชื้อภายในประเทศ เป็นผลมาจากความร่วมมือร่วมใจของประชาชนและผู้ประกอบการที่ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งการเว้นระยะห่าง ล้างมือบ่อยๆ และการสวมหน้ากากอนามัย/หน้ากากผ้าเมื่อออกนอกบ้าน โดยเฉพาะเมื่อไปในสถานที่ชุมชน หรือใช้บริการระบบขนส่งสาธารณะ ซึ่งสอดคล้องกับคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2563 ที่ระบุไว้ว่า การสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า เมื่ออยู่นอกเคหะสถานนั้น “เป็นหนึ่งในวิธีซึ่งมีประสิทธิภาพ” ในการลดความเสี่ยงติดเชื้อและแพร่เชื้อโรค โดยยังต้องรักษาสุขอนามัย คือ การล้างมือให้ถูกวิธี และการรักษาระยะห่างจากผู้อื่นให้เป็นปกติสม่ำเสมอ

สำหรับผู้ติดเชื้อรายใหม่ในช่วงนี้กว่าร้อยละ 98 เป็นคนไทยที่เดินทางมากลับมาจากต่างประเทศและเข้าระบบเฝ้าระวังในสถานที่รัฐจัดให้ ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่เดินทางมาจากประเทศที่มีประชากรหนาแน่น อัตราป่วยสูง คือ คูเวต ซาอุดิอาระเบีย อินโดนีเซีย ปากีสถาน และกาตาร์ เป็นต้น

ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด 19 (ศบค.) ขอแนะนำประชาชนกลุ่มเสี่ยงโดยเฉพาะผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ขอให้ดูแล ป้องกันตัวเองและปฏิบัติการตามมาตรการอย่างเคร่งครัด ขอให้อยู่บ้าน รับประทานยาตามแพทย์สั่งอย่างต่อเนื่อง เพราะหากติดเชื้อจะมีอาการรุนแรงและมีอัตราการเสียชีวิตสูง เนื่องจากมีการวิจัยในประเทศจีน ศึกษาผู้ป่วยโควิด 19 ที่รักษาในอู่ฮั่นจำนวนเกือบ 3,000 ราย พบว่า ผู้ป่วยที่มีภาวะความดันโลหิตสูงจะมีอัตราการเสียชีวิตถึงร้อยละ 4 ขณะที่ผู้ป่วยที่มีความดันโลหิตปกติจะเสียชีวิตร้อยละ 1.1 หรือ เกือบ 4 เท่า และในผู้ป่วยที่หยุดกินยาลดความดันโลหิตมีอัตราเสียชีวิตร้อยละ 7.9

****************************** 7 มิถุนายน 2563