นายทวี เกศิสำอาง อธิบดีกรมท่าอากาศยาน (อทย.) กล่าวเปิดเผยว่า ตามที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) ประกาศมาตรการผ่อนปรน ระยะที่ 3 ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2563 ทำให้สายการบินขอเพิ่มเส้นทางบินเพื่อให้บริการเแก่ผู้โดยสารที่มีความจำเป็นและเพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกในการเดินทาง จำนวน 5 สายการบิน ได้แก่ สายการบินนกแอร์ สายการบินไทยแอร์เอเชีย สายการบินไทยไลอ้อนแอร์ สายการบินไทยสมายล์ และสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส
และตามประกาศสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) กำหนดเงื่อนไขและเงื่อนเวลาในการใช้ท่าอากาศยานเพื่อการขึ้นลงของอากาศยาน (ฉบับที่ 4) โดยท่าอากาศยานที่เปิดให้บริการเฉพาะเส้นทางภายในประเทศ ได้แก่ ท่าอากาศยานขอนแก่น ชุมพร ตรัง นครพนม นครราชสีมา นครศรีธรรมราช น่านนคร นราธิวาส บุรีรัมย์ ปาย พิษณุโลก เพชรบูรณ์ แพร่ แม่สอด แม่ฮ่องสอน ระนอง ร้อยเอ็ด เลย ลำปาง สกลนคร อุดรธานี อุบลราชธานี
โดยจะเปิดให้บริการ ตั้งแต่เวลา 06.00 – 20.00 น. หรือปรับลดเวลาให้สั้นกว่าระยะเวลาที้กำหนดตามความจำเป็นและเหมาะสม และท่าอากาศยานที่สามารถให้บริการการบินภายในประเทศและต่างประเทศ ได้แก่ ท่าอากาศกระบี่ สุราษฎร์ธานี และหัวหิน โดยเปิดให้อากาศยานขึ้นลงได้ตามระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งประกาศดังกล่าวมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 6 มิถุนายน 2563 เป็นต้นไป
อทย. กล่าวเพิ่มเติมว่า จากประกาศฉบับดังกล่าว ส่งผลให้ให้ท่าอากาศยานทุกแห่ง สามารถเปิดให้บริการได้ตามปกติทุกท่าอากาศยาน ทั้งนี้ ถึงแม้ว่าจะมีมาตรการปลดล็อค แต่ ทย. ยังคงมีมาตรการตรวจเข้มที่ให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการ ดังนี้
1.ทำการคัดกรองบุคคลที่เข้ามาใช้บริการท่าอากาศยานจะต้องสวมหน้ากากอนามัยและผ่านการตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย ไม่สูงกว่า 37.3 องศาเซลเซียส สำหรับผู้โดยสารขาเข้าทุกคนจะต้องกรอกแบบสำรวจการเดินทาง ต. 8 คค. เพื่อเก็บประวัติการเดินทางของผู้โดยสาร
2.ต้องปฏิบัติตามมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) เช่น จุดรับรอรับกระเป๋าสัมภาระ จุดตรวจบัตรโดยสาร (Check-in counter) ที่นั่งรอก่อนการเดินทางได้จัดให้มีระยะห่างอย่างน้อย 1 เมตร
สำหรับการรักษาความสะอาดเพื่อความปลอดภัย ท่าอากาศยานทุกแห่งดำเนินการพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อกระเป๋าสัมภาระผู้โดยสารก่อนจุดรับกระเป๋าทุกเที่ยวบิน พร้อมตั้งจุดบริการเจล แอลกอฮอร์ล้างมือตามจุดต่างๆ และทำความสะอาดโดยใช้ แอลกอฮอร์และน้ำยาฆ่าเชื้อ ในบริเวณพื้นอาคาร ห้องน้ำ รถเข็น เก้าอี้ที่พักผู้โดยสาร ราวบันได ลิฟต์โดยสาร และอุปกรณ์สำหรับให้บริการ และอุปกรณ์ของเจ้าหน้าที่ตามจุดต่างๆ ทุกชั่วโมงหรือหลังจากเสร็จสิ้นภารกิจทุกเที่ยวบิน รวมถึงทำการฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อภายในอาคารที่พักผู้โดยสาร ทุกสัปดาห์
ทั้งนี้ ทุกท่าอากาศยานได้มีการตั้งจุดลงทะเบียนสแกนคิวอาร์โค้ด “ไทยชนะ” เพื่อเก็บข้อมูลการเข้าออกของผู้โดยสาร ตามนโยบายกระทรวงคมนาคม สำหรับผู้โดยสารที่มีความจำเป็นต้องเดินทาง ทย.ขอเน้นย้ำขอให้ศึกษาประกาศ/เงื่อนไข คำสั่งของจังหวัดปลายทาง ซึ่งมีแนวทางปฏิบัติที่แตกต่างกัน เพื่อการเตรียมตัวในการเดินทางได้ถูกต้องตามประกาศดังกล่าว ซึ่งผู้โดยสารสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ผ่านเฟสบุ๊คของกรมท่าอากาศยาน Department of Airports: กรมท่าอากาศยาน และเพจกรมท่าอากาศยาน “ข่าวและภาพกิจกรรม กรมท่าอากาศยาน” และเพจของท่าอากาศยานที่อยู่ในความดูแลของ ทย. และขอให้มั่นใจว่า ทย. มีความพร้อมในการให้บริการผู้โดยสาร และสายการบิน ณ ท่าอากาศยาน ที่อยู่ในความดูแลของ ทย. ให้ปลอดภัยจากเชื้อโควิด-19 ควบคู่มาตรฐานการบิน
…………………………………………………………………………………