นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของกระทรวงพาณิชย์ประจำเดือนพฤษภาคม 2563 ปรับตัวสูงขึ้น โดยอยู่ที่ระดับ 38.1 เมื่อเทียบกับระดับ 33.3 ในเดือนก่อนหน้า เป็นการสูงขึ้นครั้งแรกในรอบ 6 เดือน ตามการสูงขึ้นของดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคทั้งในปัจจุบันและในอนาคต โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบัน ปรับตัวสูงขึ้นจากระดับ 28.0 มาอยู่ที่ระดับ 32.0 และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคต สูงขึ้นจากระดับ 36.8 มาอยู่ที่ระดับ 42.1
ทั้งนี้ เมื่อจำแนกรายอาชีพ พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมปรับตัวสูงขึ้นจากเดือนก่อนหน้าทุกอาชีพ โดยกลุ่มเกษตรกร สูงขึ้นจากระดับ 34.2 เป็น 38.3 กลุ่มพนักงานเอกชน จากระดับ 32.2 เป็น 35.5 กลุ่มผู้ประกอบการ จากระดับ 31.1 เป็น 38.7 กลุ่มรับจ้างอิสระ จากระดับ 30.8 เป็น 35.6 กลุ่มพนักงานของรัฐ จากระดับ 40.8 เป็น 45.8 กลุ่มนักศึกษา จากระดับ 34.6 เป็น 42.5 และกลุ่มไม่ได้ทำงาน จากระดับ 30.8 เป็น 33.1 การสูงขึ้นของดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในทุกกลุ่ม คาดว่าเกิดจากมาตรการต่างๆ ของภาครัฐที่ออกมาอย่างต่อเนื่องสามารถบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ที่ได้รับผลกระทบครอบคลุมในทุกๆ กลุ่มอาชีพ และเมื่อจำแนกรายภาค พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมปรับตัวสูงขึ้นจากเดือนก่อนหน้าทุกภาค กรุงเทพฯ และปริมณฑลจากระดับ 35.7 มาอยู่ที่ระดับ 38.9 ภาคกลาง จากระดับ 35.9 มาอยู่ที่ระดับ 39.2 ภาคเหนือ จากระดับ 32.1 มาอยู่ที่ระดับ 38.4 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จากระดับ 35.5 มาอยู่ที่ระดับ 40.5 และภาคใต้ จากระดับ 30.9 มาอยู่ที่ระดับ 37.9
นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ยังเปิดเผยต่อไปว่า ในเดือนนี้ สนค. ยังได้ดำเนินการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนใน 3 ประเด็น ได้แก่ ความกังวลในปัจจุบัน ผลกระทบที่ได้รับจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และพฤติกรรมการซื้อสินค้าออนไลน์/เดลิเวอรี่
ประเด็นแรก เรื่องที่ประชาชนมีความกังวลมากที่สุด อันดับแรก ไวรัสโควิด-19 จะยืดเยื้อ ประชาชนมีความกังวล ร้อยละ 28.9 ซึ่งถึงแม้จะเป็นเรื่องที่ประชาชนมีความกังวลสูงที่สุด แต่เมื่อเปรียบเทียบกับข้อมูลในเดือนที่ผ่านมาพบว่ามีแนวโน้มลดลง (เดือนเมษายน 2563 ร้อยละ 31.5) ทั้งนี้เนื่องจากการบริหารจัดการด้านการควบคุมโรคที่ดี ประกอบกับประชาชนมีความตระหนักและให้ความร่วมมือในการป้องกันการแพร่ระบาด ส่งผลให้สถิติผู้ติดเชื้อรายใหม่ในประเทศไทยมีอยู่ในระดับต่ำ จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ประชาชนคลายความกังวลลงจากช่วงก่อนหน้าได้ในระดับหนึ่ง อันดับสอง รายได้ลดลง ประชาชนมีความกังวลว่ารายได้จะลดลง ร้อยละ 18.5 ซึ่งเพิ่มสูงขึ้นจากเดือนที่ผ่านมา (เดือนเมษายน ร้อยละ 15.1) ทั้งนี้ ถึงแม้จะเริ่มมีการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ทำให้สามารถดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศได้ในบางส่วน อย่างไรก็ตาม ธุรกิจหลายประเภทยังไม่สามารถกลับมาดำเนินการได้อย่างเต็มรูปแบบ อันดับสาม สินค้าราคาสูงขึ้น ประชาชนมีความกังวลร้อยละ 14.6 ซึ่งลดลงจากเดือนก่อนหน้า (เดือนเมษายน ร้อยละ 16.5)
เป็นที่น่าสังเกตว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในครั้งนี้ ส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง และสร้างความกังวลต่อประชาชนในหลายๆ ด้าน โดยความกังวลด้านสาธารณสุข สังคม และการดำเนินชีวิตประจำวันเริ่มลดลง แต่ความกังวลด้านเศรษฐกิจกลับเพิ่มมากขึ้น
ประเด็นที่สอง ผลกระทบที่ประชาชนได้รับในการประกอบอาชีพ พบว่า เรื่องที่ประชาชนได้รับผลกระทบมากที่สุด อันดับแรก คือ รายได้ของกิจการลดลง ประชาชนได้รับผลกระทบ ร้อยละ 38.2 อันดับสอง การได้รับค่าจ้างน้อยลง ร้อยละ 18.6 อันดับสาม กิจการต้องปิด ร้อยละ 7.2 (เป็นการปิดกิจการชั่วคราว ร้อยละ 6.5 และปิดกิจการถาวร ร้อยละ 0.7) ซึ่งคาดว่าการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์เป็นระยะๆ ประกอบกับมาตรการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่องในทุกภาคส่วนจะสามารถช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนได้ในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตาม พบว่ามีประชาชนส่วนหนึ่ง (ร้อยละ 28.0) มีความเห็นว่าตนไม่ได้รับผลกระทบในการประกอบอาชีพจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในครั้งนี้
ประเด็นที่สาม พฤติกรรมการซื้อสินค้าสินค้าออนไลน์/เดลิเวอรี่ จากผลการสำรวจ พบว่า การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสในครั้งนี้ส่งผลให้ประชาชนมีพฤติกรรมการซื้อสินค้าออนไลน์/เดลิเวอรี่ เปลี่ยนแปลงไป โดยประชาชนมีการซื้อสินค้าออนไลน์/เดลิเวอรี่ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 36.6 ซื้อเท่าเดิม ร้อยละ 28.1 และลดลง ร้อยละ 35.3 เป็นที่น่าสังเกตว่า ประชาชนกลุ่มอาชีพรับจ้าง พนักงานเอกชน และไม่ได้ทำงาน มีการซื้อสินค้าออนไลน์/เดลิเวอรี่ ลดลงเกินกว่าร้อยละ 50 ในทุกกลุ่มอาชีพ ซึ่งคาดว่ากลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบด้านรายได้จากการแพร่ระบาดของไวรัส ในขณะเดียวกันเมื่อพิจารณาจากอายุ พบว่า ประชาชนที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป มีการซื้อสินค้าออนไลน์/เดลิเวอรี่ เพิ่มขึ้นร้อยละ 44.6 รองลงมา ได้แก่ อายุ 40-49 ปี และ 30-39 ปี ร้อยละ 33.9 และ 29.5 ตามลำดับ
นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร กล่าวทิ้งท้ายว่า การสูงขึ้นของดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนนี้ และจากผลการสำรวจดังกล่าวข้างต้น สะท้อนให้เห็นว่า นโยบายและมาตรการต่างๆ ที่รัฐบาลได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนและสามารถดูแลบรรเทาปัญหาของประเทศในสถานการณ์ปัจจุบัน และสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนได้ดี
………………………………………………………………………………