เที่ยวชายหาดให้ปลอดภัย การ์ดอย่าตก

กระทรวงสาธารณสุข แนะนำประชาชน ท่องเที่ยวแหล่งธรรมชาติ หายหาด ให้ปลอดภัย ต้องการ์ดอย่าตก สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อย ๆ เว้นระยะห่าง ป้องกันโควิด 19 กลับมาระบาด

วันที่ 5 มิถุนายน 2563 ที่ศูนย์ปฏิบัติการด้านข่าวโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย แถลงข่าวมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโรคโควิด 19 สำหรับแหล่งท่องเที่ยวชายหาด ว่า องค์การสหประชาชาติได้กำหนดให้วันที่ 5 มิถุนายนของทุกปีเป็นวันสิ่งแวดล้อมโลก เพื่อให้ทั่วโลกตื่นตัวกับวิกฤตการณ์สิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น ร่วมกันหาแนวทางป้องกันและลงมือแก้ไข โดยปีนี้โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ รณรงค์ภายใต้แนวคิด “Time For Nature” ถึงเวลาคืนลมหายใจให้ธรรมชาติ ทุกคนสามารถทำได้โดยร่วมกันลดปริมาณขยะ โดยเฉพาะตามแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ ซึ่งในสถานการณ์โรคโควิด 19 ธรรมชาติได้พักฟื้น ระบบนิเวศฟื้นตัว ขณะเดียวกันวิถีชีวิตใหม่ทำให้เพิ่มจำนวนขยะพลาสติก จากการสำรวจเฝ้าระวังขยะพลาสติกชนิดใช้ครั้งเดียวทิ้งจากการรับส่งอาหาร พบเพิ่มขึ้นร้อยละ 15 จาก 5,500 ตัน เป็น 6,300 ตัน โดยเฉพาะขยะพลาสติกจากครัวเรือนในกทม. เดือนเมษายน 2563 เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 62 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเมษายนปี 2562

หลังผ่อนปรนระยะที่ 3 ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายนที่ผ่านมา พบว่า ประชาชนได้ไปท่องเที่ยวชายหาดจำนวนมาก ซึ่งเห็นได้จากข่าวมีคนรวมกลุ่มกัน แออัด ใกล้ชิดกัน เราจะต้องปรับเปลี่ยนการท่องเที่ยวแบบวิถีชีวิตใหม่ ไม่นำไปสู่การแพร่กระจายของเชื้อโรค มาตรการหลักที่สำคัญคือความสะอาด ซึ่งไทยทำสำเร็จมาตลอดคือ ส้วมสาธารณะสะอาด โดยในช่วงโควิด 19 ต้องเพิ่มความสะอาดของพื้นผิว และการสวมหน้ากากตลอดเวลาที่ไทยเป็นที่ 1 ในเอเชีย ขอให้ยึดหลักการเดียวกัน คือใช้หน้ากากผ้า ร่วมกับการเว้นระยะห่าง มีพื้นที่เฉพาะในกลุ่มเดียวกัน เว้นระยะจากกลุ่มอื่น ๆ รวมทั้งมีจุดล้างมือ การล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ และขอให้พกถุงเล็ก ๆ ไว้ช่วยกันเก็บขยะกลับออกจากพื้นที่ ใส่ในถังขยะคัดแยกที่ท้องถิ่นเตรียมไว้อย่างเพียงพอ เพื่อให้สถานที่ท่องเที่ยวไทยสะอาด และปลอดภัย

กรมอนามัย ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และสถานประกอบการ เตรียมความพร้อม และกำหนดแนวปฏิบัติด้านสาธารณสุขสำหรับแหล่งท่องเที่ยวและชายหาด โดยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น/ ผู้ควบคุมกำกับดูแล มีการจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวไม่ให้แออัด จัดระยะห่างที่เหมาะสม เช่น ระยะห่างระหว่างกลุ่มที่นั่งพัก/ปูเสื่อบริเวณชายหาด และเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล (ที่ไม่ได้มาด้วยกัน) อย่างน้อย 1-2 เมตร จำกัดจำนวนคนในการเล่นน้ำ เช่น เครื่องเล่นประเภทบานาน่าโบ๊ท เรือ และห่วงยางในแต่ละรอบ และให้พนักงานบริการ นักท่องเที่ยวสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่อยู่บริเวณชายหาด และจัดอุปกรณ์ป้องกันตนเองสำหรับพนักงาน เช่น ถุงมือ เฟซชิลด์ จัดให้มีที่ล้างมือพร้อมสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์อย่างเพียงพอ ทำความสะอาดห้องน้ำ ห้องสุขาอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง เน้นจุดสัมผัสที่เป็นกลุ่มเสี่ยง จัดถังขยะมีฝาปิดเพียงพอ ให้คำแนะนำ/ สื่อ/ เสียงตามสายประชาสัมพันธ์ขั้นตอน การปฏิบัติตัวลงทะเบียนนักท่องเที่ยว สำหรับพนักงาน/เจ้าหน้าที่ หากมีไข้ ไอ จามให้หยุดงานและพบแพทย์  ล้างมือบ่อย ๆ พนักงานทำความสะอาด พนักงานเก็บขยะ ต้องสวมอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล แม้จะเป็นสิ่งที่ไม่คุ้นชินหรือรู้สึกอึดอัด แต่ขอให้ทำเพื่อความปลอดภัยในการป้องกันการแพร่กระจายโรคทั้งตนเองและส่วนรวม

สิ่งสำคัญที่สุดคือนักท่องเที่ยว ต้องปฏิบัติตามแนวทางของสถานที่อย่างเคร่งครัด สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่อยู่บริเวณชายหาด ล้างมือบ่อย ๆ งดการตะโกนระหว่างเล่นน้ำ เว้นระยะห่าง 1- 2 เมตรทั้งบนบกและในน้ำ กลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจ ควรหลีกเลี่ยงช่วงเวลาที่มีคนจำนวนมาก และใช้เวลาในพื้นที่ไม่นาน หากป่วย มีไข้ ไอ จาม มีน้ำมูก หรือเหนื่อยหอบงดไปในสถานที่ท่องเที่ยว และพบแพทย์

………………………………………………….