นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประขุมชี้แจงการฝึกอบรมพัฒนาบุคลากร กศน. แบบออนไลน์ หลักสูตรการจัดกิจกรรม กศน. ป้องกันภาวะซึมเศร้า คงสมรรถนะทางกาย จิต และสมองของผู้สูงอายุ เมื่อวันศุกร์ที่ 5 มิถุนายน 2563 ณ ห้องประชุมราชวัลลภ โดยมีนายกมล รอดคล้าย ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายดิศกุล เกษมสวัสดิ์ เลขาธิการ กศน. แพทย์หญิงสุพัตรา ศรีวณิชชากร เลขาธิการมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน (มสพช.) และแพทย์หญิงสิรินทร ฉันศิริกาญจน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ตลอดจนผู้แทนสำนักงาน กศน. จาก 21 จังหวัด เข้าร่วม
“ขอย้ำว่ากระทรวงศึกษาธิการตระหนักถึงความสำคัญของ “สังคมผู้สูงอายุ” ที่ประเทศไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายใหม่ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร และความซับซ้อนของสังคมในทุกมิติ ส่งผลต่อคนทุกกลุ่มวัย ดังนั้นภารกิจในการจัดการศึกษาตลอดชีวิตของ กศน. จึงต้องเตรียมความพร้อมรองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในชุมชนต่าง ๆ ทั่วประเทศ ภายใต้พลังความร่วมมือขององค์กรภาคีเครือข่าย เพื่อขับเคลื่อนหลักการบูรณาการความร่วมมือ ด้วยการเชื่อมโยง หนุนเสริม ต่อยอด โดยมีประชาชนหรือกลุ่มเป้าหมาย เป็นศูนย์กลางของการพัฒนา
จึงเป็นที่มาของการประชุมชี้แจง การฝึกอบรมพัฒนาบุคลากร กศน. แบบออนไลน์ หลักสูตรการจัดกิจกรรม กศน. ป้องกันภาวะซึมเศร้า คงสมรรถนะทางกาย จิต และสมองของผู้สูงอายุ เพื่อพัฒนาบุคลากร กศน. ให้สามารถเตรียมความพร้อมด้านเครื่องมือและอุปกรณ์รองรับการอบรมออนไลน์แบบถ่ายทอดสด Live ครั้งแรก เกี่ยวกับความรู้ความเข้าใจ สามารถประเมิน สังเกตุ พฤติกรรมความผิดปกติ เพื่อหาสาหตุและแนวทางการป้องกัน ส่งเสริมสุขภาพและชะลอความเสื่อม ทั้งทางกาย จิตใจ และสมองของผู้สูงอายุกลุ่มที่ยังช่วยหลือตนเองได้ (กลุ่มติดสังคม)และมีทักษะเบื้องต้นในการพัฒนากิจกรรม เพื่อส่งเสริมสุขภาพและชะลอความเสื่อมได้
โดยมีกลุ่มเป้าหมาย เป็นครู บรรณารักษ์ และบุคลากรห้องสมุดสังกัด กศน. ที่ผ่านการคัดเลือก รวมจำนวน 529 คนใน 254 อำเภอของ 21 จังหวัดต้นแบบ ซึ่งจะเป็นเมล็ดพันธุ์ุพิเศษรุ่นแรก ที่ทั้ง 3 หน่วยงานร่วมกันบ่มเพาะ ผ่านระบบออนไลน์ ในรูปแบบห้องเรียนออนไลน์ ClassStart แอปพลิเคชัน Zoom Facebook และ Line และเมื่อผ่านการอบรมแล้ว จะทำหน้าที่หัวหน้ากลุ่มระดับอำเภอและจังหวัด เพื่อสื่อสารและถ่ายทอดสู่ชาว กศน.อื่น พร้อมแสวงหาความร่วมมือในการทำงานร่วมกับเครือข่ายที่ดี (Goodpartnership) ทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ไม่ว่าจะเป็น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล (รพ.สต.) อาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) ผู้นำท้องที่ท้องถิ่น ชุมชน ตลอดจนกลุ่มสตรีในพื้นที่ตำบล อำเภอ และจังหวัด และสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จังหวัด (พมจ.) ที่จะคงสมรรถนะทางกาย จิตใจ และสมองของผู้สูงอายุกลุ่มที่ยังช่วยหลือตนเองได้ ให้ยาวนานที่สุด และสร้างความภาคภูมิใจในการใช้ชีวิตอยู่ในสังคมอย่างมีความสุข” รมช.ศึกษาธิการ กล่าว
………………………………………….
นวรัตน์ รามสูต: สรุป/เรียบเรียง, อิทธิพล รุ่งก่อน: ถ่ายภาพ