แผนปฏิบัติการฝนหลวงประจำวันที่ 5 มิถุนายน 2563

วันที่ 5 มิถุนายน 2563 เวลา 10.30 น. นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า ขณะนี้ กรมฝนหลวงและการบินเกษตร มีการจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 12 หน่วยฯ กระจายอยู่ทั่วภูมิภาค ได้แก่ พื้นที่ภาคเหนือ จ.ตาก และ จ.แพร่ โดยมี 2 หน่วยฯ ที่ จ.เชียงใหม่ และ จ.พิษณุโลก ปรับเป็นฐานเติมสารฝนหลวง ซึ่งอากาศยานที่ขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวงจากหน่วยฯ จ.ตาก และ จ.แพร่ หากขึ้นบินปฏิบัติภารกิจแล้วเสร็จ สามารถลงจอดเพื่อทำการเติมสารที่หน่วยฯ จ.เชียงใหม่ หรือ จ.พิษณุโลกได้ เพื่อให้การปฏิบัติการฝนหลวงดำเนินการไปได้อย่างต่อเนื่อง ในขณะเดียวกัน หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงในบริเวณพื้นที่ภาคกลางอยู่ที่ จ.ลพบุรี และราชบุรี ซึ่งมีหน่วยฯ จ.นครสวรรค์ เป็นฐานเติมสารฝนหลวงด้วยเช่นเดียวกัน  สำหรับหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง บริเวณพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนืออยู่ที่ จ.ขอนแก่น อุดรธานี สุรินทร์ และ จ.นครราชสีมา โดยมี จ.บุรีรัมย์ เป็นฐานเติมสารฝนหลวง ซึ่งสามารถดูแลการปฏิบัติการฝนหลวงได้ทั้งภาคอีสานตอนเหนือ และตอนล่าง ส่วนภาคตะวันออก มี 1 หน่วย ที่ จ.ระยอง และภาคใต้ มี 3 หน่วย ที่ จ.ชุมพร สุราษฎร์ธานี และ จ.สงขลา ซึ่งทั้ง 12 หน่วย มีการติดตามสภาพอากาศในช่วงเช้าของทุกวันเพื่อที่จะนำข้อมูลของสภาพอากาศชั้นบนนำมาประกอบการวิเคราะห์ว่าเข้าเกณฑ์เงื่อนไขในการปฏิบัติการทำฝนหลวงหรือไม่ สำหรับช่วงเช้ามีการปฏิบัติการในขั้นตอนที่ 1 คือการก่อเมฆ โดยจะนำเกลือโซเดียมคลอไรหรือเกลือแกง นำขึ้นไปโปรยเพื่อทำให้เกิดการก่อเมฆให้เร็วมากขึ้น หลังจากนั้นจะมีการติดตามสังเกตุกลุ่มเมฆที่ทำการก่อกวนไปแล้วว่ามีการเคลื่อนที่ไปตามทิศทางลมและกระแสความเร็วลมจากการคำนวนตามหลักฟิสิกส์ว่าก้อนเมฆใช้ระยะเวลาเท่าไรในการเดินทางไปถึงยังพื้นที่เป้าหมาย หลังจากนั้นจะปฏิบัติการ ในขั้นตอนที่ 2 คือการเลี้ยงให้อ้วน ซึ่งโดยธรรมชาติแล้วจะอาศัยพลังงานของแสงอาทิตย์และกระบวนการของการเกิดความร้อนแฝงในก้อนเมฆเอง โดยสารที่นำมาใช้ได้มีการวิจัยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งมีมาตรฐานเปรียบเทียบกับมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก มาตรฐานของกระทรววงสารธารณสุข และสำนักมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พบว่าไม่เป็นอันตรายและไม่มีสารตกค้าง มีความปลอดภัยสามารถใช้อุปโภคบริโภคได้ หลังจากนั้นจะมีการปฏิบัติการในขั้นตอนที่ 3 คือการโจมตีเพื่อให้กลุ่มเมฆตกในพื้นที่เป้าหมาย เพื่อช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร ที่ปริมาณน้ำไม่เพียงพอ และพื้นที่รับน้ำต่างๆ ต่อไป

สำหรับผลการปฏิบัติการฝนหลวงเมื่อวานนี้ กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้ขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 12 หน่วยปฏิบัติการ ทำให้มีฝนตกบริเวณพื้นที่การเกษตรบางส่วนของ จ.กำแพงเพชร  ตาก น่าน อุตรดิตถ์ อุทัยธานี ชัยนาท นครสวรรค์ ลพบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง กาญจนบุรี สุพรรณบุรี ราชบุรี ชัยภูมิ ขอนแก่น หนองบัวลำภู อุดรธานี เลย นครราชสีมา บุรีรัมย์ ชลบุรี ฉะเชิงเทรา กระบี่ นครศรีธรรมราช พื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนจำนวน 7 แห่ง อ่างเก็บน้ำจำนวน 13แห่ง บึงบอระเพ็ด และพื้นที่ป่าพรุบาเจาะ

ด้านแผนการปฏิบัติการฝนหลวงประจำวันที่ 5 มิถุนายน 2563 จากข้อมูลของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยออกประกาศเขตพื้นที่ภัยแล้ง มีจำนวน 29 จังหวัด 167 อำเภอ 883 ตำบล 5 เทศบาล 7,603 หมู่บ้าน/ชุมชน บริเวณพื้นที่ภาคเหนือ 6 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 6 จังหวัด ภาคกลางและภาคตะวันออก 9 จังหวัด ขณะที่ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำน้อยกว่า 30% ของปริมาณน้ำใช้การ เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ จำนวน 32 แห่ง และอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 221 แห่ง ด้านประกาศแจ้งเตือนพื้นที่เสี่ยงฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงในวันนี้ อยู่ในระดับเสี่ยงฝนตกหนักบริเวณ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก และภาคใต้บางส่วน สำหรับข้อมูลการขอรับบริการฝนหลวง ณ วันที่ 4 มิ.ย.2563 พบว่ามีผู้ขอรับบริการฝนหลวงจากทั่วทุกภูมิภาคจำนวน 867 แห่ง (57 จังหวัด 434 อำเภอ) สอดคล้องกับข้อมูลปริมาณน้ำฝนสะสมรายสัปดาห์ของพื้นที่บริเวณภาคเหนือฝั่งตะวันตก ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้บางส่วน ที่ยังมีปริมาณน้ำฝนสะสมในระดับ 10-25 มิลลิเมตร ซึ่งทางทางกรมฝนหลวงฯ จะนำมาวางแผนและปฏิบัติการฝนหลวงให้กับพื้นที่ที่มีความต้องการน้ำอย่างทั่วถึงต่อไป

ส่วนการติดตามสภาพอากาศเพื่อวางแผนการปฏิบัติการฝนหลวงในวันนี้ ผลการตรวจอากาศจากสถานีเรดาร์ในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก เข้าเงื่อนไข
การปฏิบัติการฝนหลวง ในช่วงเช้านี้จึงมีการวางแผนขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่เป้าหมายโดยหน่วยปฏิบัติการฯ ๗ หน่วย ได้แก่

– หน่วยปฏิบัติการฯ จ.ตาก ช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร จ.เชียงใหม่ ลำพูน กำแพงเพชร พิจิตร เขื่อนและอ่างเก็บน้ำที่มีน้ำใช้การน้อยกว่า 30%

– หน่วยปฏิบัติการฯ จ.ลพบุรี ช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร จ. นครสวรรค์ (ฝั่งตะวันออก) และ ลพบุรี

– หน่วยปฏิบัติการฯ จ.ราชบุรี ช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร จ.กาญจนบุรี สุพรรณบุรี ราชบุรี และพื้นที่ลุ่มรับน้ำในพื้นที่ภาคกลาง

– หน่วยปฏิบัติการฯ จ.ขอนแก่น ช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร จ.ชัยภูมิ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ และพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนห้วยกุ่ม เขื่อนจุฬาภรณ์

– หน่วยปฏิบัติการฯ จ.อุดรธานี ช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรและพื้นที่ลุ่มรับน้ำอ่างเก็บน้ำ จ.หนองบัวลำภู และ จ.อุดรธานี

– หน่วยปฏิบัติการฯ จ.นครราชสีมา ช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรและพื้นที่ลุ่มรับน้ำอ่างเก็บน้ำจ.นครราชสีมา ชัยภูมิ และจ.บุรีรัมย์

– หน่วยปฏิบัติการฯ จ.สุรินทร์ ช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร และพื้นที่เสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค จ.บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี และพื้นที่ลุ่มรับน้ำอ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มาก

สำหรับหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงในพื้นที่ภาคใต้ ทั้ง 3 หน่วยคือ หน่วยปฏิบัติการฯ จ.สงขลา หน่วยปฏิบัติการฯ จ.สุราษฎรษ์ธานี และหน่วยปฏิบัติการ จ.ชุมพร ยังขอติดตามสภาพอากาศระหว่างวัน หากมีการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่เข้าเงื่อนไขปฏิบัติการฝนหลวง จะวางแผนขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่ได้รับผลกระทบต่อไป ทั้งนี้ เกษตรกร และพี่น้องประชาชน สามารถขอรับบริการฝนหลวง และติดตามข้อมูลข่าวสารกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้ทางเพจ Facebook, Line official account, Instagram, Twitter และเว็บไซต์กรมฝนหลวงและการบินเกษตร

……………………………………………

กรมฝนหลวงและการบินเกษตร

5 มิถุนายน 2563