รมช.มนัญญา แนวฟื้นฟูการบินไทยยึดหลักสหกรณ์ชำระหนี้ยุติธรรมเป็นหนึ่งเดียว

นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประธานในพิธีเปิดการประชุมชี้แจงแนวทางการฟื้นฟูกิจการและการปฏิบัติของเจ้าหนี้บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) พร้อมทั้งนายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ  อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ และ นายโอภาส ทองยงค์ อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ผู้แทนสหกรณ์เจ้าหนี้บริษัทการบินไทย ผู้แทนสันนิบาตสหกรร์แห่งประเทศไทย ข้าราชการกรมส่งเสริมสหกรณ์และกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ เข้าร่วมรับฟัง ณ ห้องประชุม ชั้น 3 อาคารฝึกอบรมส่วนกลาง สำนักพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีการสหกรณ์ รวมทั้งถ่ายทอดผ่าน Conference ไปยังสำนักงานสหกรณ์จังหวัด 14 จังหวัด

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการประชุม ตามที่ วันที่ 27 พฤษภาคม 2563 ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เพื่อให้กิจการสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ โดยนัดไต่สวนและพิจารณาคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ วันที่ 17 สิงหาคม 2563 ในการนี้หากคำสั่งศาลให้ฟื้นฟูกิจการและตั้งผู้ทำแผน จะมีกระบวนการในการจัดทำแผนฯ การจัดกลุ่มเจ้าหนี้ เพื่อกำหนดวิธีการชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้แต่ละกลุ่ม ในส่วนของสหกรณ์ที่มาในวันนี้เป็นการทำความเข้าใจกับเจ้าหนี้และผู้ถือหุ้น เพื่อให้ทราบแนวทางในการชำระหนี้ ในวันนี้ถือเป็นโอกาสดีที่ได้รับความร่วมมือจาก กรมบังคับคดี มาชี้แจงแนวทางในการฟื้นฟูกิจการและการปฏิบัติของเจ้าหนี้บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) รวมทั้งเปิดโอกาสให้ผู้แทนสหกรณ์เจ้าหนี้สามารถที่จะซักถาม ประเด็นข้อสงสัยต่าง ๆ จากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านกฎหมาย ที่มาให้ความรู้ เพื่อจะได้ถือปฏิบัติ ให้ถูกต้องและสามารถถ่ายทอดหรือชี้แจงกับสมาชิกได้เข้าใจในทิศทางเดียวกัน ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีความยินดีที่จะรับฟังปัญหา และข้อเสนอแนะเพื่อกำหนดแนวทางให้สหกรณ์เจ้าหนี้สามารถดำเนินกิจการ โดยจุดประสงค์ของกฎหมายฟื้นฟูกิจการนั้น เพื่อรักษามูลค่าขององค์กรธุรกิจนั้นทั้งหมดไว้ เป็นหนึ่งเดียวแทนที่จะถูกแยกจำหน่ายเป็นส่วนๆ อีกทั้งให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้อย่างยุติธรรมเสมอภาคกัน ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหนี้หุ้น เจ้าหนี้แรงงาน เจ้าหนี้การค้า เป็นต้น และเพื่อให้ลูกหนี้ได้มีโอกาสดำเนินธุรกิจต่อไปและรักษาสภาพการจ้างงานไว้ ซึ่งแตกต่างโดยสิ้นเชิงกับสถานะการล้มละลาย ดังนั้นในขณะนี้จึงจำเป็นต้องทำความเข้าใจดังกล่าวต่อเจ้าหนี้และลูกหนี้ อย่างถูกต้องเพื่อบังเกิดผลดีกับสมาชิกและสร้างความมั่นคงต่อระบบสหกรณ์ ต่อไป