สรุปสถานการณ์ราคาสินค้าและบริการ เดือนพฤษภาคม 2563

ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือนพฤษภาคม 2563 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 3.44 (YoY) โดยมีสาเหตุสำคัญจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ยังอยู่ในระดับต่ำ แม้ว่าจะมีการปรับสูงขึ้นหลายครั้งในเดือนนี้ แต่ยังต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน รวมทั้งมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐ โดยเฉพาะการลดค่าไฟฟ้า ค่าน้ำประปา และราคาสินค้าที่จำเป็นต่อการครองชีพบางรายการ นอกจากนั้นฐานราคาอาหารสด โดยเฉพาะผักสด ในปีที่ผ่านมาค่อนข้างสูง ทำให้ราคาผักสดลดลงต่ำสุดในรอบ 3 ปี สำหรับราคาสินค้าและบริการในหมวดอื่นๆ ส่วนใหญ่ยังคงเคลื่อนไหวในทิศทางที่สอดคล้องกับสถานการณ์และพฤติกรรมการบริโภคของประชาชน เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออกแล้ว เงินเฟ้อพื้นฐานขยายตัวที่ร้อยละ 0.01 (YoY) เงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 5 เดือน (ม.ค.- พ.ค.) ปี 2563 เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 ลดลงร้อยละ 1.04 (AoA) และเงินเฟ้อพื้นฐาน สูงขึ้นร้อยละ 0.40 (AoA)

การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ขยายวงกว้างไปทั่วโลก ส่งผลให้ภาคการผลิตและบริการ ทั้งในและต่างประเทศชะลอตัว ถึงแม้ว่าจะมีหลายประเทศรวมถึงไทยได้ผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์บ้างแล้ว แต่ยังคงจำกัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมในบางกิจกรรม ซึ่งเป็นปัจจัยชั่วคราวที่ส่งผลกระทบต่อความต้องการสินค้าและบริการ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ อย่างไรก็ตามการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ดังกล่าว นับว่าเป็นสัญญาณที่ดีที่จะทำให้สถานการณ์ปรับตัวดีขึ้น ประกอบกับศักยภาพการผลิตและความสามารถด้านการแข่งขันของไทยยังอยู่ในระดับที่ดี ซึ่งจะส่งผลให้สถานการณ์เศรษฐกิจและเงินเฟ้อกลับเข้าสู่ทิศทางปกติได้โดยเร็ว ทั้งนี้ ภัยแล้งยังเป็นปัจจัยสำคัญที่กระทบต่อผลผลิตและราคาสินค้าเกษตร ซึ่งจะเป็นประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญต่อไป

สถานการณ์ราคาสินค้าและบริการ เดือนพฤษภาคม 2563

ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือนพฤษภาคม 2563 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน ลดลงร้อยละ 3.44 (YoY) ตามการลดลงของสินค้าอื่น ๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ร้อยละ 5.42 โดยหมวดพาหนะการขนส่งและการสื่อสาร ลดลงร้อยละ 9.15 จากการลดลงของราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงทุกชนิด ร้อยละ 27.97 ปรับตัวสูงขึ้นจากเดือนที่ผ่านมาที่ลดลงร้อยละ 30.85 ส่งผลให้กลุ่มพลังงาน ลดลงร้อยละ 27.38 หมวดเคหสถาน ลดลงร้อยละ 5.61 จากมาตรการของรัฐในการลดค่ากระแสไฟฟ้าและค่าน้ำประปา หมวดการสื่อสาร ลดลงร้อยละ 0.05 (เครื่องรับโทรศัพท์มือถือ) ขณะที่หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า สูงขึ้นร้อยละ 0.08  (เสื้อเชิ้ตบุรุษ กางเกงขายาวสตรี รองเท้าหุ้มส้นหนังบุรุษ) หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล สูงขึ้นร้อยละ 0.24 (แชมพู ค่าแต่งผมชาย น้ำยาระงับกลิ่นกาย) หมวดการบันเทิง การอ่าน การศึกษาฯ สูงขึ้นร้อยละ 0.36 (ค่าเดินทางไปเยี่ยมญาติและทำบุญ (ค่าเช่ารถตู้) ค่าเล่าเรียน-ค่าธรรมเนียมการศึกษา) และค่าโดยสารสาธารณะ สูงขึ้นร้อยละ 0.42 (ค่าโดยสารรถตู้วิ่งระหว่างอำเภอ ค่าโดยสารเครื่องบิน) รวมทั้ง หมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 0.02 (สุรา) หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ลดลงร้อยละ 0.01 จากการลดลงของกลุ่มผักและผลไม้ ร้อยละ 8.80 ต่ำสุดในรอบ 3 ปี และฐานราคาปีที่ผ่านมาสูง รวมทั้งความต้องการบริโภคชะลอตัว โดยผักสด ลดลงร้อยละ 15.84 (มะนาว ต้นหอม พริกสด) ผลไม้ ลดลงร้อยละ 4.57 (มะม่วง เงาะ ลองกอง) ขณะที่สินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้นซึ่งสอดคล้องกับผลผลิตและความต้องการ ได้แก่ ข้าว แป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง สูงขึ้นร้อยละ 6.03 (ข้าวสารเหนียว) เนื้อสัตว์ เป็ดไก่ และสัตว์น้ำ สูงขึ้นร้อยละ 0.48 (เนื้อสุกร ปลาดุก ไก่ย่าง) ไข่และผลิตภัณฑ์นม สูงขึ้นร้อยละ 1.35 เครื่องประกอบอาหาร สูงขึ้นร้อยละ 3.37 (น้ำมันพืช มะพร้าว (ผลแห้ง/ขูด) ซอสหอยนางรม) เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 2.01 (น้ำอัดลม น้ำหวาน กาแฟผงสำเร็จรูป) อาหารบริโภคในบ้านและนอกบ้าน สูงขึ้นร้อยละ 0.72 และ 0.46 ตามลำดับ (กับข้าวสำเร็จรูป ข้าวแกง/ข้าวกล่อง ก๋วยเตี๋ยว ข้าวผัด)

ดัชนีราคาผู้บริโภค เมื่อเทียบกับเดือนเมษายน 2563 สูงขึ้นร้อยละ 0.01 (MoM) และเฉลี่ย 5 เดือน (ม.ค.-พ.ค.) ปี 2563 เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 ลดลงร้อยละ 1.04 (AoA)

ดัชนีราคาผู้ผลิต เดือนพฤษภาคม 2563 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน ลดลงร้อยละ 4.8 (YoY) จากร้อยละ 4.3 ในเดือนก่อนหน้า จากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ขยายวงกว้างไปทั่วโลก ส่งผลให้ภาคการผลิตและบริการ ทั้งในและต่างประเทศชะลอตัว แม้ว่าจะมีหลายประเทศรวมถึงไทยได้ผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์บ้างแล้ว แต่อุปสงค์ยังอยู่ในขาลง โดยหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ลดลงร้อยละ 4.4 ได้แก่ กลุ่มน้ำมันเชื้อเพลิงและสินค้าที่เกี่ยวเนื่อง (น้ำมันดีเซล น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91,95 น้ำมันเตา) กลุ่มเคมีภัณฑ์ (โซดาไฟ เม็ดพลาสติก) กลุ่มโลหะขั้นมูลฐานและผลิตภัณฑ์ (เหล็กแท่ง    เหล็กแผ่น) กลุ่มสิ่งทอ (เส้นใยสังเคราะห์ ด้ายฝ้าย) กลุ่มเยื่อกระดาษ ผลิตภัณฑ์กระดาษ (กระดาษพิมพ์เขียน เยื่อกระดาษ) กลุ่มผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก (ยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง) กลุ่มเครื่องไฟฟ้า อุปกรณ์และอิเล็กทรอนิกส์ หมวดผลิตภัณฑ์ จากเหมือง ลดลงร้อยละ 24.5 ได้แก่ น้ำมันปิโตรเลียมดิบ ก๊าซธรรมชาติ และแร่ และหมวดผลผลิตเกษตรกรรม ลดลงร้อยละ 1.9 ได้แก่ กลุ่มผลผลิตการเกษตร (ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ หัวมันสำปะหลัง ยางพารา) พืชผัก (มะนาว มะเขือเทศ กะหล่ำปลี) ผลไม้ (มะม่วง มังคุด เงาะ) และกลุ่มสัตว์มีชีวิต (สุกรมีชีวิต) สำหรับสินค้าที่ราคาสูงขึ้น เนื่องจากได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง แต่ความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศยังมีอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ ข้าวเปลือก อ้อย ไก่มีชีวิต และไข่ไก่ ปลาน้ำจืดและปลาทะเล ส่วนผลปาล์มสดราคาสูงขึ้น จากมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐเป็นสำคัญ

ดัชนีราคาผู้ผลิต เมื่อเทียบกับเดือนเมษายน 2563 ลดลงร้อยละ 0.2 (MoM) และเฉลี่ย 5 เดือน (ม.ค.-พ.ค.)  ปี 2563 เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 ลดลงร้อยละ 2.1 (AoA)

ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง เดือนพฤษภาคม 2563 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน ลดลงร้อยละ 3.8 (YoY) ลดลงต่อเนื่องแต่ในอัตราที่น้อยลงกว่าเดือนก่อนที่ลดลงร้อยละ 4.0 สาเหตุสำคัญจากการค้าชะลอตัว การแข่งขันค่อนข้างสูง ประกอบกับต้นทุนวัตถุดิบลดลง ซึ่งสอดคล้องกับเครื่องชี้วัดด้านการก่อสร้างที่ลดลง ทั้งดัชนีการลงทุนภาคเอกชน และภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ โดยหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก ลดลงร้อยละ 14.9 อาทิ เหล็กเส้นกลมผิวเรียบ -ผิวข้ออ้อย และเหล็กโครงสร้างรูปพรรณ หมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต ลดลงร้อยละ 2.7 อาทิ คอนกรีตบล็อกก่อผนังมวลเบา คอนกรีตผสมเสร็จ และคอนกรีตหยาบ หมวดซีเมนต์ ลดลงร้อยละ 1.2 อาทิ ปูนซีเมนต์ผสม ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ และปูนฉาบสำเร็จรูป หมวดวัสดุก่อสร้างอื่น ๆ ลดลงร้อยละ 0.4 อาทิ อลูมิเนียมแผ่นเรียบ อิฐมอญ และทรายหยาบ ขณะที่หมวดกระเบื้อง สูงขึ้นร้อยละ 1.7 จากการสูงขึ้นของกระเบื้องแกรนิตเป็นสำคัญ หมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา สูงขึ้นร้อยละ 0.4 อาทิ ถังเก็บน้ำสแตนเลส ท่อร้อยสายไฟและสายโทรศัพท์พีวีซี ราคาสูงขึ้นตามต้นทุนวัตถุดิบ หมวดวัสดุฉาบผิว สูงขึ้นร้อยละ 0.2 ได้แก่ สีเคลือบน้ำมัน และสีรองพื้นปูน-โลหะ หมวดสุขภัณฑ์ สูงขึ้นร้อยละ 0.1 ได้แก่ อ่างล้างหน้าเซรามิก กระจกเงาและที่ใส่สบู่ ส่วนหมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ ดัชนีราคาโดยเฉลี่ยไม่เปลี่ยนแปลง

ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง เมื่อเทียบกับเดือนเมษายน 2563 ลดลงร้อยละ 0.1 (MoM) และเฉลี่ย 5 เดือน (ม.ค.-พ.ค.) ปี 2563 เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 ลดลงร้อยละ 2.9 (AoA)

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือนพฤษภาคม 2563 ปรับตัวสูงขึ้นอยู่ที่ระดับ 38.1 จากระดับ 33.3 ในเดือนก่อน เป็นการสูงขึ้นครั้งแรกในรอบ 6 เดือน ตามการสูงขึ้นของดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคทั้งในปัจจุบันและในอนาคตที่ปรับตัวสูงขึ้นจากระดับ 28.0 มาอยู่ที่ระดับ 32.0 และจากระดับ 36.8 มาอยู่ที่ระดับ 42.1 ตามลำดับ และเป็นการสูงขึ้นในทุกภูมิภาคและทุกอาชีพ สาเหตุสำคัญคาดว่ามาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทย มีแนวโน้มดีขึ้น และรัฐบาลได้ผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ ส่งผลให้กิจการบางส่วนกลับมาดำเนินการได้อีกครั้ง ประกอบกับมาตรการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่องในทุกภาคส่วน ทั้งผู้รับจ้าง แรงงาน เกษตรกร นักศึกษา และผู้ประกอบการ รวมทั้งมาตรการลดภาระค่าครองชีพให้แก่ประชาชน ทั้งการลดค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภค และร่วมมือกับภาคเอกชนจัดหาสินค้าที่จำเป็นต่อการครองชีพให้เพียงพอในราคาที่ย่อมเยา ซึ่งมาตรการดังกล่าวได้บรรเทาความเดือดร้อนและสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนมากขึ้น

แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนมิถุนายน 2563

ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อเงินเฟ้อ นอกเหนือจากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 แล้ว ยังมาจากราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับต่ำ และการส่งออกที่ยังรอการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก รวมทั้งอุปทานส่วนเกินของสินค้าอุตสาหกรรมที่เป็นผลจากการลดลงของ อุปสงค์และสงครามการค้า ขณะที่ราคาสินค้าเกษตรแม้ยังมีปัจจัยบวกจากภัยแล้งและอุปสงค์ในประเทศ ที่เริ่มดีขึ้นจากการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ต่าง ๆ แต่การลดลงของนักท่องเที่ยวต่างชาติยังเป็นปัจจัยทอนที่น่าจะส่งผลต่ออุปสงค์ในภาคการผลิตและบริการอย่างมีนัยสำคัญตลอดทั้งปี ดังนั้น เงินเฟ้อในเดือนมิถุนายนมีแนวโน้มที่จะยังหดตัว แต่ในอัตราที่ลดลง ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ว่า อัตราเงินเฟ้อ  ทั้งปี 2563 จะเคลื่อนไหวอยู่ระหว่างร้อยละ (-1.0) ถึง (-0.2) (ค่ากลางอยู่ที่ -0.6) 

 


สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า

กระทรวงพาณิชย์

5 มิถุนายน 2563