สตช. ร่วมกับ อย. เผยผลตรวจวิเคราะห์พบ เมทิลแอลกอฮอล์ในเจลแอลกอฮอล์สูงถึง 99.59 %w/w ซึ่งมาจากปฏิบัติการทลายแหล่งผลิตเจลแอลกอฮอล์จำนวนมากย่านสมุทรสาคร เมื่อเมษายน 2563 ที่ผ่านมา ทั้งนี้ อย.ไม่อนุญาตให้ใช้เมทิลแอลกอฮอล์เป็นส่วนผสมในการผลิตเครื่องสำอาง ผู้ผลิตและผู้ขายมีความผิดตามกฎหมายทั้งจำทั้งปรับ
วันที่ 2 มิถุนายน 2563 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) โดยพลตำรวจโท เพิ่มพูน ชิดชอบ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ หัวหน้าคณะทำงาน พร้อมด้วยพลตำรวจตรี ณัฐศักดิ์ เชาวนาศัย ผบก.ปคบ. พ.ต.อ.พานทอง สุวรรณจูฑะ รอง ผบก ภ.จว.มหาสารคาม หัวหน้าส่วนอำนวยการ และ พ.ต.อ.ภาส สิริสุขะ รอง ผบก.ตม.3 หัวหน้าส่วนปฏิบัติการ, พ.ต.อ.ชนันนัทธ์ สารถวัลย์แพศย์ ผกก.4 บก.ปคบ. รองหัวหน้าส่วนปฏิบัติการ, พ.ต.ท.เอกรัตน์ ทัศเจริญ รอง ผกก.ฯ และ พ.ต.ท.ธวัชชัย โป๊ะโดย สว.ฯ เจ้าหน้าที่ชุดสืบสวนฯ และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข โดยนายแพทย์ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา พร้อมด้วย เภสัชกรหญิงสุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ร่วมกันแถลงผลการตรวจวิเคราะห์ เจลแอลกอฮอล์ ดังนี้
ตามที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้รับรายงานจากศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล โดยแพทย์ผู้รักษาอาการสงสัยเกิดพิษจาก methanol alcohol toxicity ได้แก่ มีภาวะเลือดเป็นกรดรุนแรง (severe acidosis) ซึ่งเป็นคนงานจากโรงงานผลิตแอลกอฮอล์เจลที่อยู่บริเวณรอยต่อจังหวัดนครปฐมและสมุทรสาคร จึงประสานสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ทำการสืบสวน และต่อมาในวันที่ 26 มีนาคม 2563 ได้ขอหมายเข้าค้นบริษัท มานะภัณฑ์ เครื่องหอม จำกัด เลขที่ 168 หมู่ 9 ต.อ้อมน้อย อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร ตรวจค้น ยึดและอายัดของกลาง ประกอบด้วย วัตถุดิบ 15 ถัง ๆ ละ 200 ลิตร รวม 3,000 ลิตร ผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป จำนวน 6,865 ขวด และเก็บตัวอย่างส่งตรวจวิเคราะห์ที่กรมวิทยาศาสตร์ ซึ่งกรณีดังกล่าว สตช. และ อย.ได้ร่วมกันแถลงผลปฏิบัติการทลายแหล่งผลิตเจลแอลกอฮอล์เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2563 แล้วนั้น
บัดนี้ ได้รับทราบผลการตรวจวิเคราะห์ของกลางที่เก็บตัวอย่างจากสถานที่ผลิตเครื่องสำอางชื่อ บริษัท มานะภัณฑ์ เครื่องหอม จำกัด ตั้งอยู่เลขที่ 168 หมู่ 9 ต.อ้อมน้อย อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร ตรวจพบเมทิลแอลกอฮอล์ (Methyl alcohol) ในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางชื่อการค้า ดังนี้
1) Nana Cleansing alcohol 80% ปริมาณสุทธิ 4000 ml ลักษณะเป็นของเหลวสีฟ้า ฉลากปลอมเลขที่ใบรับ จดแจ้ง 73-1-6300008855 exp.03/2023 ตรวจพบ Methyl alcohol 34.98 %w/w
2) Nana Hand Gel alcohol 80% ปริมาณสุทธิ 1000 ml ลักษณะเป็นของเหลวสีชมพู ฉลากปลอมเลขที่ใบรับ จดแจ้ง 73-1-6300008859 exp.03/2023 ตรวจพบ Methyl alcohol 72.44 %w/w
3) Nana Hand alcohol 80% ปริมาณสุทธิ 1000 ml ลักษณะเป็นของเหลวใส ฉลากปลอมเลขที่ใบรับจดแจ้ง 73-1-6300008855 exp.03/2023 ตรวจพบ Methyl alcohol 71.30 %w/w
4) Nana Cleansing alcohol 80% ปริมาณสุทธิ 10 ml ลักษณะเป็นของเหลวใสบรรจุขวดสเปรย์ ฉลากปลอมเลขที่ใบรับจดแจ้ง 73-1-6300008855 exp.03/2023 ตรวจพบ Methyl alcohol 90.84 %w/w
นอกจากนี้ยังตรวจพบเมทิลแอลกอฮอล์ (Methyl alcohol) ในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่รอการบรรจุและในวัตถุดิบ ดังนี้
1) เจลสีชมพู บรรจุในขวดพลาสติกขุ่นสีขาว ปริมาณสุทธิ 1000 ml ตรวจพบ Methyl alcohol 74.63 %w/w
2) ของเหลวใส บรรจุในแกลลอนขาวขุ่น ปริมาณสุทธิ 1000 ml ตรวจพบ Methyl alcohol 99.59 %w/w
3) ของเหลวใสสีฟ้า บรรจุถังพลาสติกขุ่นสีขาว ปริมาณสุทธิ 4000 ml ตรวจพบ Methyl alcohol 38.67 %w/w
4) ของเหลวใส บรรจุในแกลลอนขาวขุ่น ปริมาณสุทธิ 1000 ml ตรวจพบ Methyl alcohol 99.53 %w/w
พลตำรวจโท เพิ่มพูน ชิดชอบ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้เกิดการกักตุนหน้ากากอนามัยและถูกนำมาจำหน่ายในราคาที่สูงเกินสมควร อีกทั้งมีการลักลอบนำอุปกรณ์ชุดตรวจโรคโควิด-19 ซึ่งเป็นเครื่องมือแพทย์ และเจลผสมแอลกอฮอล์มาโฆษณาขายผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ โดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งการกระทำดังกล่าวอาจทำให้เกิดอันตรายแก่พี่น้องประชาชนได้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าวเป็นอย่างมาก จึงมีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานปราบปรามผลิตภัณฑ์และการบริการด้านสุขภาพที่ผิดกฎหมายขึ้นมา โดยเน้นย้ำในการจับกุมผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพให้ครอบคลุมในทุกพื้นที่ และประสานการทำงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เพื่อเป็นการคุ้มครองความปลอดภัยของพี่น้องประชาชน ซึ่งจากผลการปฏิบัติที่ผ่านมา สามารถจับกุมผู้กระทำผิดพร้อมตรวจยึดของกลางได้จำนวนมาก และขอฝากเตือนไปยังผู้ประกอบการที่ยังลักลอบกระทำความผิด ไม่ว่าจะเป็นการผลิต นำเข้า หรือจำหน่ายผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมาย ให้หยุดการกระทำดังกล่าว หากตรวจพบจะดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างถึงที่สุด
นายแพทย์ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวต่อไปว่า อย. และ สตช. จะผนึกกำลังร่วมมือกันปฏิบัติหน้าที่ เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยให้กับผู้บริโภค โดยจะขยายผลเข้าตรวจสอบหาโรงงานที่ลักลอบผลิต นำเข้าและจำหน่าย หากพบผู้รับอนุญาตฯ รายใดมีส่วนเกี่ยวข้องจะดำเนินคดีทั้งทางอาญาและใช้มาตรการทางปกครองทันที ในกรณีนี้ผลการตรวจวิเคราะห์ ตรวจพบเมทิลแอลกอฮอล์ ซึ่งจัดเป็นสารที่มีพิษต่อร่างกายรุนแรงมาก สามารถดูดซึมได้ทางผิวหนังและลมหายใจ ทำให้หลอดลม ลำคอ เยื่อบุตาอักเสบ หากหายใจหรือสัมผัสในปริมาณมากอาจทำให้ปวดท้อง เวียนหัว คลื่นไส้ อาเจียน กล้ามเนื้อกระตุก หายใจลําบาก การมองเห็นผิดปกติและอาจตาบอดได้ ทั้งนี้ อย. ไม่อนุญาตให้ใช้เมทิลแอลกอฮอล์เป็นส่วนผสมในการผลิตเครื่องสำอางโดยเด็ดขาด เพราะเป็นเครื่องสำอางไม่ปลอดภัยในการใช้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ สำหรับผู้ขาย มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
เภสัชกรหญิงสุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวในตอนท้ายว่า ขอเตือนไปยังผู้ผลิตอย่าซ้ำเติมสถานการณ์โควิด-19 ควรเลือกวัตถุดิบแอลกอฮอล์สำหรับผลิตเจลแอลกอฮอล์ให้ดีก่อนซื้อมาผลิต ห้ามใช้เมทิลแอลกอฮอล์ โดยเด็ดขาด เพราะจะเกิดอันตรายกับผู้บริโภค แนะให้ซื้อจากแหล่งจำหน่าย วัตถุดิบที่น่าเชื่อถือ ให้ขอเอกสารระบุรายละเอียดของวัตถุดิบ (CoA) และผู้ผลิตควรส่งวัตถุดิบตรวจสอบ กับหน่วยงานที่ให้บริการตรวจวิเคราะห์ เพื่อความมั่นใจในคุณภาพ นอกจากนี้ ในกรณีที่พบแป้งเปียกผสมสีบรรจุขวดติดฉลากว่าเป็นเจลแอลกอฮอล์ จัดเป็นเครื่องสำอางปลอม โทษมีทั้งจำคุกหรือปรับ ซึ่ง อย. พร้อมเอาผิดกับผู้ประกอบการที่ไม่เป็นธรรมกับผู้บริโภคทุกกรณี และขอเตือนไปยังร้านจำหน่ายทั่วประเทศ ให้ระมัดระวังใน การเลือกสินค้าเข้ามาจำหน่าย ต้องเป็นผลิตภัณฑ์ที่ถูกต้องตามกฎหมายและซื้อจากแหล่งจำหน่ายที่เชื่อถือได้ และ ขอเน้นย้ำสำหรับผู้บริโภคการเลือกซื้อเครื่องสำอางเจลแอลกอฮอล์ขอให้ตรวจสอบเลขจดแจ้งของผลิตภัณฑ์ก่อนซื้อ ทุกครั้ง โดยสามารถตรวจสอบได้ที่ Oryor Smart Application หรือ อย. ตรวจเลข หรือ Line @ Fdathai เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค และช่วยกันเป็นหูเป็นตา หากพบการลักลอบผลิต นำเข้า จำหน่ายผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมาย ขอให้แจ้งมาที่สายด่วน อย. 1556 หรือที่ อีเมล์:1556@fda.moph.go.th หรือ ตู้ ปณ. 1556 ปณฝ. กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี 11004 หรือที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัด รวมทั้งสามารถร้องเรียนผ่าน Oryor Smart Application หรือเดินทางมาร้องเรียนด้วยตนเอง ที่ศูนย์จัดการเรื่องร้องเรียนและปราบปรามการกระทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ (ศรป.) ได้ทุกวันในเวลาราชการ หรือสายด่วน 1135 กองบังคับการปราบปราม การกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อจะได้ดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
วันที่เผยแพร่ข่าว 2 มิถุนายน 2563 แถลงข่าว 13 / ปีงบประมาณ พ.ศ. 2563
ข้อมูล https://bit.ly/2ZYjZ8U