สธ.เข้มมาตรการสาธารณสุข ความร่วมมือองค์กรและประชาชน ป้องกันการระบาดระลอก 2

กระทรวงสาธารณสุข ยังคงเข้มมาตรการทางสาธารณสุข ขอความร่วมมือประชาชน ลดการเดินทางที่ไม่จำเป็น ลดชุมนุมกันเป็นกลุ่มก้อน สวมหน้ากากเมื่ออยู่นอกบ้าน ลดแออัดที่ทำงาน ป้องกันการแพร่ระบาดระลอก 2

วันที่ 1 มิถุนายน 2563 ที่ศูนย์ปฏิบัติการด้านข่าวโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค นพ.บัญชา ค้าของ รองอธิบดีกรมอนามัย แถลงข่าว กิจกรรมและมาตรการผ่อนคลายระยะที่ 3 ว่า ประเทศไทยไม่พบผู้ติดเชื้อในประเทศมาระยะหนึ่งแล้ว แต่ถ้าเราเผลอ มีการรวมตัวกันของผู้คนเป็นจำนวนมากและมีผู้ป่วยหลุดเข้าไป ก็จะมีโอกาสกลับมาพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นได้อีก โดยสถานการณ์การแพร่ระบาดแบ่งเป็น 3 ระยะ ระยะแรกก็คือระยะที่โรคยังมีการแพร่ระบาดแบ่งเป็น 3 ระดับ ระดับที่ 1 ไม่มีผู้ป่วยหรือมีผู้ป่วยในวงจำกัด ระดับ 2 การแพร่ระบาดต่อเนื่อง และระดับ 3 การแพร่ระบาดระดับวิกฤติ ระยะที่ 2 คือ หลังจากที่สามารถสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคได้ด้วยวัคซีน ระยะที่ 3 ระยะฟื้นฟู เตรียมความพร้อมสำหรับการระบาดของโรคใหม่ๆ ที่อาจเกิดขึ้น ขณะนี้ไทยยังอยู่ในระยะที่ 1 คือระยะที่โรคนี้ยังมีการแพร่ระบาดในระดับต่ำสุด บางจังหวัดไม่เคยพบโรคนี้ บางจังหวัดพบในระดับต่ำมากๆ แต่หากเราหย่อนการป้องกันตัวเอง จะมีโอกาสที่จะเริ่มมีการแพร่ระบาดต่อเนื่อง และหากไม่ระวังและควบคุมโรคไม่ดี ก็จะมีโอกาสแพร่ระบาดในระดับวิกฤติ มีผู้ป่วยมากกว่าจำนวนเตียงโรงพยาบาล ซึ่งพิจารณาสถานการณ์ในระยะต่อไปจะพิจารณาเป็นรายจังหวัด

ในการผ่อนปรนมาตรการทางสังคมภาคบังคับจะต้องไม่เพิ่มความเสี่ยงการแพร่ระบาด โดยดำเนินการใน 3 มาตรการเพื่อให้สถานการณ์โรคอยู่ระดับต่ำต่อไป คือ มาตรการทางสาธารณสุข ได้แก่ การป้องกัน ค้นหา รักษา และควบคุม ในส่วนของการค้นหา กระทรวงสาธารณสุขยังคงให้ความสำคัญกับการค้นหาผู้ป่วยเชิงรุก แม้ว่าช่วงหลังผู้ป่วยน้อยลงแต่จำนวนตัวอย่างที่ตรวจไม่ได้น้อยลง ในสัปดาห์ที่ผ่านมาตรวจได้ 45,076 ตัวอย่าง รวมสะสมตรวจได้ 400,000 กว่าตัวอย่าง และยังเฝ้าระวังโรคในพื้นที่เฉพาะกับประชากรกลุ่มเสี่ยงอีกด้วย มาตรการระดับบุคคล ยังขอความร่วมมือให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการเดินทางที่ไม่จำเป็น กลุ่มเสี่ยงพักอยู่กับบ้าน หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้อื่น หลีกเลี่ยงการพบปะหรือการชุมนุมกันเป็นกลุ่มก้อน ที่สำคัญคือสวมหน้ากากทุกครั้งก่อนออกจากบ้าน ไม่ใส่เฟซชิลด์โดยไม่สวมหน้ากาก และหมั่นล้างมือบ่อยๆ ส่วนมาตรการระดับองค์กร ขอความร่วมมือผู้บริหารองค์กรต่าง ๆ รักษาระดับความเข้มขนของมาตรการต่อไป ทั้งการทำงานที่บ้าน เหลื่อมเวลาการทำงาน ธุรกรรมออนไลน์ ลดแออัดในที่ทำงาน ดูแลระบบระบายอากาศ ปรับระบบงาน เช่น การคัดกรองพนักงาน ประชุมออนไลน์ รวมถึงส่งเสริมให้พนักงาน ลูกค้า และผู้ที่มาติดต่อสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย และล้างมือบ่อยๆ

นายแพทย์บัญชา ค้าของ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ข้อมูลสำคัญ 3 ส่วนที่จะบ่งบอกความเสี่ยงการระบาดในระลอก 2 หลังจากการผ่อนคลายคือ ข้อมูลของพฤติกรรมประชาชน ข้อมูลการปฏิบัติของผู้ประกอบการ และข้อมูลการควบคุมโรคโควิด 19 ในประเทศไทย หากข้อมูลการปฏิบัติส่วนหนึ่งส่วนใดทำได้ไม่ดีจะเริ่มมีความเสี่ยง ซึ่งจากการสำรวจพฤติกรรมประชาชนในช่วงเดือนเมษายน พบประชาชนสวมหน้ากากลดลงเหลือร้อยละ 84 ส่วนข้อมูลสถานประกอบการกว่า 40,000 แห่งที่ลงทะเบียนเข้าร่วมประเมินมาตรฐานกรมอนามัย Thai Stop Covid ผ่านเกณฑ์ร้อยละ 79 และข้อมูลการควบคุมโรคโควิด 19 ในประเทศไทย อาทิ ยังงดการเดินทางเข้าประเทศ คนไทยที่กลับจากต่างประเทศต้องกักตัวในสถานที่รัฐจัดไว้ ความเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดการแพร่ระบาดได้ ในวันที่ 1 กรกฎาคมจะเปิดภาคเรียน หากพ่อแม่ไปรวมกลุ่มสังสรรค์ในสถานประกอบกิจการต่างๆ อาจแพร่เชื้อไปสู่ลูก และจากลูกไปสู่โรงเรียนและครอบครัวอื่น ๆ ที่น่าห่วงคือผู้สูงอายุที่ติดจากเด็กซึ่งส่วนใหญ่มีอาการน้อยหรือไม่แสดงอาการ ดังนั้น ประเทศไทยคลายล็อคสำเร็จหรือไม่ ขึ้นกับวินัยใหม่ของคนไทยทุกคนร่วมกันป้องกันไม่ให้โรคแพร่กระจายในกิจการ บ้าน และโรงเรียน


1 มิถุนายน 2563