เหตุกระทรวงสาธารณสุข ชี้ประเด็นเรื่องสุขภาพและความปลอดภัย มติคณะกรรมการวัตถุอันตราย ประกาศแบนพาราควอตตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน นี้เป็นต้นไป แต่เตรียมแก้กฎหมายเอื้อประโยชน์ เกษตรกรกลุ่มปาล์มน้ำมันพร้อมจับตา การปรับค่าสารตกค้าง MRL เพิ่มค่าสารพิษตกค้างนำเข้าไทย ขัดแย้งกับการแบนพาราควอต
นายมนัส พุทธรัตน์ ประธานสมาพันธ์ชาวสวนปาล์มน้ำมันแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า “การตรวจสอบปริมาณสารตกค้างในพืชผักของประเทศไทยหลายครั้ง ไม่พบการปนเปื้อนของสารพาราควอตเกินมาตรฐาน ส่วนใหญ่พบสารตกค้างในกลุ่มยาฆ่าแมลง แต่กลับถูกเหมารวมว่าเป็น สารพาราควอต แล้วนำมาเป็นข้ออ้างในการแบน เพราะห่วงสุขภาพ แต่หลังจากได้มีมติแบนพาราควอต พบว่าสร้างปัญหาให้ผู้นำเข้าวัตถุดิบถั่วเหลือง กากถั่วเหลือง ข้าวสาลี เช่นเดียวกับสารไกลโฟเซต ที่สั่งให้เลิกแบนมาเป็นจำกัดการใช้ ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมวางแผนและอาจมีการปรับค่าสารพิษตกค้างสูงสุด (MRL) เพื่อให้สามารถนำเข้าผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรจากต่างประเทศที่มีสารพิษตกค้างเกินกำหนดมาตรฐานเดิมมาจำหน่ายให้ผู้บริโภคในประเทศไทยได้ โดยไม่ได้คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้บริโภคอย่างแท้จริง แต่เอื้อประโยชน์ต่อใคร? เป็นการปฎิบัติแบบสองมาตรฐาน ไม่มีความยุติธรรม ในเมื่อบอกว่าพาราควอตนั้นอันตรายร้ายแรง แต่กลับแก้กฎหมายเพื่อรองรับสิ่งที่ผิดนำเข้าสารพิษตกค้างเพิ่มจากต่างประเทศ และออกกฎหมายทำให้สิ่งที่ถูก อย่างสินค้าเกษตรภายในประเทศ กลายเป็นสิ่งผิดถ้าใช้พาราควอต แบบนี้ถ้าแบนไกลโฟเซตไปด้วย แล้วมาปรับค่าสารพิษตกค้างสูงสุดก็น่าจะทำได้เช่นกัน”
“ที่เราพูดไม่ได้ต้องการประชดใครทั้งนั้น แต่ต้องการให้ทุกหน่วยงานหูตาสว่างกับคำพูดสวยหรูห่วงใยสุขภาพประชาชน เพราะมันไม่จริง และเกษตรกรทั้งประเทศจะรอดูว่า วันนี้ วันที่ 1 มิถุนายน ภาครัฐจะสั่งห้ามนำเข้าวัตถุดิบเหล่านั้นที่มีการใช้สารพาราควอตและคลอร์ไพรีฟอสมาจากต่างประเทศต้นทางหรือไม่ เพราะถ้าไม่ทำ เท่ากับท่านละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ เนื่องจากทั้งสารพาราควอต และคลอร์ไพรีฟอส จะกลายเป็นสิ่งต้องห้ามแล้วหลังวันที่ 1 มิถุนายน 2563 ผมจึงขอเรียกร้องมายังผู้นำเข้า ผู้ส่งออก อุตสาหกรรมอาหารทั้งหมดที่เกี่ยวข้อง ท่านต้องลงมาช่วยเหลือเกษตรกรในการคัดค้านด้วย อย่าเอาตัวรอด แล้วปล่อยเกษตรกรสู้เพื่อความเป็นธรรมอยู่ฝ่ายเดียว ทั้งๆ ที่ท่านก็จะได้ประโยชน์หากมีการทบทวนการบังคับใช้มติการแบน ที่สำคัญ เกษตรกรยังไม่ได้รับข้อมูลมาตรการช่วยเหลือและเยียวยาอย่างชัดเจนจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เลย เมื่อไม่มีพาราควอตแล้วจะทำอย่างไร มีแต่ออกกฎหมายเล่นงานเกษตรกร ห้ามครองครอง พาราคาวอต หากพบฝ่าฝืนมีโทษจำคุก 10 ปี ปรับสูงสุดไม่เกิน 1 ล้านบาท” นายมนัส พุทธรัตน์ กล่าวทิ้งท้าย
………………………………………………..