กระทรวง พม./ จุติ ไกรฤกษ์ รมว.พม. แจง พอช.ยืดพักชำระหนี้สมาชิกโครงการบ้านมั่งคงออกไปอีก 3 เดือนจากช่วงแรกเมษายน-มิถุนายน ไปจนถึงเดือนกันยายน 2563 รวม 6 เดือน เพื่อช่วยเหลือชาวชุมชนโครงการบ้านมั่นคงที่ใช้สินเชื่อสร้างบ้านจาก พอช.ทั่วประเทศ 395 องค์กร รวม 119,956 ครัวเรือน
นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ทำให้เกิดผลกระทบด้านเศรษฐกิจและรายได้ต่อประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะกลุ่มผู้ที่มีรายได้น้อย รัฐบาลจึงมีนโยบายให้หน่วยงานต่างๆ ออกมาตรการช่วยเหลือและลดผลกระทบด้านเศรษฐกิจต่อประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมาย ในส่วนของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวง พม. ที่ทำงานกับชุมชนและเครือข่ายชาวบ้าน ได้มีมาตรการช่วยเหลือประชาชน โดยผ่อนผันให้สหกรณ์และสมาชิกโครงการบ้านมั่นคงทั่วประเทศที่ใช้สินเชื่อจาก พอช. ไม่ต้องชำระเงินต้นและดอกเบี้ยให้แก่ พอช.เป็นเวลา 3 เดือน ในช่วงแรกเริ่มตั้งแต่เดือนเมษายนถึงเดือนมิถุนายน ได้บรรเทาความเดือดร้อนในช่วง 3 เดือนนี้แก่ขบวนองค์กรชุมชนเกือบ 1.2 แสนครัวเรือน
“ล่าสุดเมื่อวานนี้ (28 พฤษภาคม 2563) พอช.รายงานว่า ที่ประชุมบอร์ด พอช. ได้มีการลงมติเห็นชอบการขยายระยะเวลาการพักชำระหนี้เพิ่มอีก 3 เดือนให้แก่สหกรณ์และสมาชิกโครงการบ้านมั่นคงทั่วประเทศ จากเดิมที่จะครบกำหนดในเดือนมิถุนายนนี้ ขยายออกไปเป็นเดือนกันยายน เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่มีรายได้น้อย ให้ได้มีโอกาสฟื้นฟูเรื่องอาชีพและรายได้ โดยไม่ต้องชำระเงินต้นและดอกเบี้ย ทำให้มีประชาชนที่ได้รับประโยชน์ในครั้งนี้กว่า 1 แสนครัวเรือน ร่วม 5 แสนคน” รัฐมนตรี พม.กล่าว
โดยที่ประชุมคณะกรรมการสถาบันฯ ได้พิจารณาว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 น่าจะเข้าใกล้ภาวะปกติตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2563 เป็นต้นไป อย่างไรก็ตาม มีการคาดการณ์ว่าผลกระทบทางเศรษฐกิจจะยังคงมีต่อเนื่องไปอีกประมาณ 2 ปี โดยนอกจากมาตรการช่วยเหลือเร่งด่วนเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนซึ่งกำลังดำเนินการอยู่ รัฐยังมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยออก พ.ร.ก.เงินกู้ วงเงิน 1.0 ล้านล้านบาท ซึ่งมีระยะเวลาการกู้เงินที่รัฐสามารถดำเนินการได้ตามความเหมาะสมจนถึง 30 กันยายน 2564
นอกจากนี้ตลอดระยะเวลา 2 เดือนที่ผ่านมา กระทรวง พม. ยังได้มีมาตรการช่วยเหลือพี่น้องประชาชน เช่น โครงการ ‘สำรวจให้พบ จบที่ชุมชน’ นำร่อง 286 ชุมชนใน กทม. ตั้งครัวกลาง 38 ครัว จัดทำอาหารปรุงสุก จำนวน 88,025 กล่อง/ราย พร้อมทั้งมีการมอบถุงยังชีพ เป็นต้น
ส่วนการพักชำระหนี้โครงการบ้านมั่นคงช่วงแรก ตั้งแต่เดือนเมษายน-มิถุนายน 2563 สถาบันฯ ได้อนุมัติพักชำระหนี้รวมทั้งสิ้น 395 องค์กร รวม 119,956 ครัวเรือน ต้นเงินคงเหลือ 4,009.77 ล้านบาท ประมาณการดอกเบี้ยที่สถาบันฯ จะไม่ได้รับในปี 2563 รวม 37.25 ล้านบาท และหากขยายเวลาพักชำระหนี้ออกไปอีก 3 เดือน ดอกเบี้ยที่สถาบันฯ จะไม่ได้รับจะเพิ่มเป็น 74.50 ล้านบาท หรือช่วยให้กลุ่มและองค์กรที่ใช้สินเชื่อทั่วประเทศไม่ต้องชำระดอกเบี้ยรวม 74.50 ล้านบาทองค์กรที่ขอพักชำระหนี้ 395 องค์กร คิดเป็นร้อยละ 79.48 ขององค์กรผู้ใช้สินเชื่อที่อยู่ในเกณฑ์พักชำระหนี้ได้ (497 องค์กร) โดยมีองค์กรที่ไม่ขอพักชำระหนี้ทั้งสิ้น 102 องค์กร ซึ่งเป็นสินเชื่อในโครงการบ้านมั่นคงทั้งหมด ส่วนใหญ่ใกล้ครบกำหนดสัญญาแล้วและมีเงินทุนภายในเพียงพอในการรับภาระการชำระคืนต่อสถาบันฯ จึงไม่ขอพักชำระหนี้ตามมาตรการช่วยเหลือ และมีบางองค์กรซึ่งไม่ขอพักชำระหนี้เนื่องจากไม่ประสงค์จะปรับเปลี่ยนระบบการบริหารจัดการภายใน
นายสมชาติ ภาระสุวรรณ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ กล่าวว่า สถาบันฯ ได้สนับสนุนสินเชื่อเพื่อการพัฒนาที่อยู่อาศัยแก่องค์กรชุมชนและเครือข่ายองค์กรชุมชนมาอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ โดยเฉพาะสินเชื่อ ‘โครงการบ้านมั่นคง’ ที่เริ่มดำเนินโครงการตั้งแต่ปี 2546 โดยมีเจตนารมณ์ที่จะทําให้เกิดความมั่นคงในการอยู่อาศัยและพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีรายได้น้อยในชุมชนเมืองและชนบท โดยการใช้สินเชื่อที่สามารถแก้ปัญหาหรือพัฒนาตามแผนของชุมชน นําไปสู่การสร้างความเข้มแข็ง โดยให้ประชาชนที่เดือดร้อนรวมกลุ่มกันแก้ไขปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัยในลักษณะต่างๆ เช่น การซื้อที่ดินเพื่อสร้างบ้านและชุมชนใหม่ การปรับปรุงบนที่ดินเดิม ซึ่งอาจเป็นที่ดินเช่าหรือที่ดินสาธารณะที่อยู่ในการดูแลของท้องถิ่น โดยให้สินเชื่อระยะยาว ดอกเบี้ยต่ำ เป็นต้น
“ปัจจุบันโครงการบ้านมั่นคงดำเนินการไปแล้วทั่วประเทศ รวม 1,231โครงการ จำนวน 112,777 ครัวเรือน ทำให้ประชาชนที่มีรายได้น้อยมีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม และมีการพัฒนาคุณภาพชีวิตต่างๆ เช่น ส่งเสริมอาชีพ ปลูกผักสวนครัวเพื่อลดรายจ่าย มีกิจกรรมเด็กและเยาวชน การจัดการขยะ บำบัดน้ำเสีย การดูแลสิ่งแวดล้อม” ผอ.พอช.กล่าว