กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก จับมือ กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ร่วมมือจัดทำคลังข้อมูลทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อคุ้มครองภูมิปัญญาไทยและต่อยอดมูลค่าทางเศรษฐกิจ เพื่อคนไทย
วันที่ 28 พฤษภาคม 2563 ณ กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ระหว่าง นายแพทย์มรุต จิรเศรษฐสิริ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข กับ นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ พร้อมด้วย สักขีพยานทั้ง 2 หน่วยงาน ร่วมพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือในครั้งนี้
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมมือและส่งเสริมการจัดทำคลังข้อมูลทรัพย์สินทางปัญญา (IP Data Warehouse) และข้อมูลด้านทรัพยากรพันธุกรรม (Genetic Resources: GRs) ภูมิปัญญาท้องถิ่น (Traditional Knowledge: TK) และการแสดงออกทางวัฒนธรรมดั้งเดิม (Traditional Cultural Expressions: TCEs) เพื่ออ้างอิงความเป็นเจ้าของและปกป้องคุ้มครอง GRs TK และ TCEs ของไทยจากการลักลอบนำไปใช้อย่างไม่เหมาะสมและส่งเสริมให้ประชาชนในภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้ใช้ประโยชน์จากการนำ GRs TK และ TCEs ของไทยไปพัฒนาต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการ นำเข้าสู่ระบบการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศไทย
นายแพทย์มรุต จิรเศรษฐสิริ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า ปัจจุบันกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก มีระบบ Thai Traditional Digital Knowledge Library (TTDKL) ซึ่งเป็นระบบคลังความรู้ มีลักษณะเป็นห้องสมุด Digital ที่รวบรวมข้อมูลภูมิปัญญาด้านสมุนไพร การแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้าน และการแพทย์ทางเลือก และส่วนที่เกี่ยวข้อง เข้ามารวมไว้ด้วยกัน ได้แก่ ข้อมูลตำรับ – ตำราการแพทย์แผนไทย ข้อมูลสมุนไพร ข้อมูลด้านกฎหมาย ข้อมูลรายงานการวิจัยด้านสมุนไพร การแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้าน และการแพทย์ทางเลือก ข้อมูลพจนานุกรมศัพท์แพทย์-เภสัชกรรมแผนไทย และข้อมูลพจนานุกรมศัพท์แพทย์ เภสัชกรรมการแพทย์แผนจีน เป็นต้น
สำหรับข้อมูลในระบบ TTDKL นับเป็นข้อมูลที่มีความสำคัญและเกี่ยวข้องกับการเฝ้าระวังและการคุ้มครองสิทธิบัตรด้านภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย ข้อมูลดังกล่าวได้มาจากการถ่ายถอด ปริวรรต ของตำรายาการแพทย์แผนไทยโบราณของชาติและทั่วไป กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ได้ประกาศกำหนดเกี่ยวกับการคุ้มครองภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย ซึ่งปัจจุบันได้ประกาศไปทั้งสิ้น 27 ฉบับ จำนวน 36,293 ตำรับ แล้วนำเข้าสู่ขั้นตอนการรวบรวม จัดลำดับความสำคัญของตำรายา และนำไปสู่ขั้นตอนของการจัดหมวดหมู่และวิเคราะห์องค์ประกอบของตำรับยาที่มีความถูกต้องชัดเจน ก่อนนำไปสู่การบันทึกลงในระบบ TTDKL เพื่อออกรหัสมาตรฐานซึ่งรหัสมาตรฐานดังกล่าวจะเป็นเครื่องมือที่สำคัญที่สามารถใช้ในการเฝ้าระวัง และคุ้มครองสิทธิบัตรด้านภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยต่อไปในอนาคต
……………………………………………………………………………