DIP จับมือ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เชื่อมโยงฐานข้อมูล คาดช่วยปกป้องทรัพยากรพันธุกรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่นของไทยจากการลักลอบใช้อย่างไม่เหมาะสม

กรมทรัพย์สินทางปัญญา ประสานความร่วมมือกับ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก จัดพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือการจัดทำคลังข้อมูลทรัพย์สินทางปัญญา และข้อมูลด้านทรัพยากรพันธุกรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น และการแสดงออกทางวัฒนธรรมดั้งเดิม เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2563 ณ ห้องประชุม ชั้น 14 กรมทรัพย์สินทางปัญญา โดยมีนายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา และนายแพทย์มรุต จิรเศรษฐสิริ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ร่วมลงนาม MOU ดังกล่าว มั่นใจช่วยป้องกันการลักลอบใช้ทรัพยากรพันธุกรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่นไทยอย่างไม่เหมาะสม

นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า “ประเทศไทยมีความหลากหลายทางชีวภาพสูงและมีมรดกภูมิปัญญาที่ส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่นมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน ซึ่งที่ผ่านมาจะพบว่ามีการลักลอบใช้ทรัพยากรพันธุกรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่นของไทยอย่างไม่เหมาะสมหรือไม่ได้ขออนุญาตก่อนใช้ และนำมาขอรับความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา กรมทรัพย์สินทางปัญญาตระหนักถึงความสำคัญของเรื่องดังกล่าว จึงได้ดำเนินการในด้านต่างๆ อย่างต่อเนื่องทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น การผลักดันให้เกิดการคุ้มครองทรัพยากรพันธุกรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น และการแสดงออกทางวัฒนธรรมดั้งเดิมในเวทีระหว่างประเทศ การพัฒนากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อรองรับการปฏิบัติงานในส่วนที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการเชื่อมโยงข้อมูลทรัพยากรพันธุกรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น และการแสดงออกทางวัฒนธรรมดั้งเดิมระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายในประเทศ”

นายทศพล กล่าวเพิ่มเติมว่า “การลงนาม MOU ระหว่างกรมทรัพย์สินทางปัญญาและกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกในวันนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อบูรณาการและเชื่อมโยงข้อมูลทรัพยากรพันธุกรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อสร้างเป็นคลังข้อมูลกลางสำหรับประโยชน์ในการอ้างอิงความเป็นเจ้าของ โดยเป็นจุดเริ่มต้นและเป็นก้าวสำคัญของประเทศในการเดินหน้าเพื่อปกป้องคุ้มครองทรัพยากรพันธุกรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นของไทย จากการลักลอบนำไปใช้อย่างไม่เหมาะสมหรือไม่มีการขออนุญาตก่อนการเข้าถึง นอกจากนี้ ยังรวมถึงการส่งเสริมให้ประชาชนใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลเพื่อนำไปพัฒนา ต่อยอดสินค้าและบริการ ก่อนเข้าสู่ระบบการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาต่อไป”

 

ทั้งนี้ การจัดทำฐานข้อมูลดังกล่าวจะช่วยอำนวยความสะดวกในการพิจารณาคำขอ และเป็นส่วนสำคัญรองรับการดำเนินงานในกระบวนการตรวจสอบสิทธิบัตรเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การเปิดเผยแหล่งที่มาและการแสดงเอกสารที่เกี่ยวข้อง สำหรับกรณีที่มีการใช้ทรัพยากรพันธุกรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นในการประดิษฐ์ หากร่างพระราชบัญญัติสิทธิบัตร (ฉบับที่…) พ.ศ. …. ที่อยู่ระหว่างการแก้ไขของกรมทรัพย์สินทางปัญญา ในขณะนี้ มีผลใช้บังคับในอนาคต ดังนั้น การจัดทำฐานข้อมูลและการร่วมกันดำเนินการภายใต้ MOU ฉบับนี้จะเป็นส่วนเติมเต็มที่สำคัญของไทยในการปกป้องและคุ้มครองทรัพยากรพันธุกรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นของชาติอย่างรอบด้านและครบวงจร และเป็นการส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภายในประเทศอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด จนนำไปสู่การผลักดันให้การคุ้มครองในต่างประเทศและในระดับระหว่างประเทศต่อไป

………………………………………..