กคช. และ หจก. ธนโชคน้ำมันพืช (2012) ร่วมบริหารจัดการน้ำมันพืชใช้แล้วอย่างเป็นระบบ

การเคหะแห่งชาติ ร่วมกับ ห้างหุ้นส่วนจำกัด ธนโชคน้ำมันพืช (2012) ลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU) ในการส่งเสริมการขับเคลื่อนกิจกรรมบริหารจัดการน้ำมันพืชใช้แล้วในชุมชนของการเคหะแห่งชาติ โดยมี นายวิญญา สิงห์อินทร์ รักษาการผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ พร้อมด้วยนายธนวัฒน์ ลินจงสุบงกช กรรมการผู้บริหาร ห้างหุ้นส่วนจำกัด ธนโชคน้ำมันพืช (2012) ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงดังกล่าว เพื่อส่งเสริมผู้อยู่อาศัยในชุมชนของการเคหะแห่งชาติ บริหารจัดการน้ำมันพืชใช้แล้วอย่างเป็นระบบ พร้อมต่อยอดสู่การทดลองผลิตไอโอดีเซลเพื่อประยุกต์ให้เหมาะสมในชุมชน

นายวิญญา สิงห์อินทร์ รักษาการผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ กล่าวว่า การเคหะแห่งชาติเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มีภารกิจหลักในการพัฒนาที่อยู่อาศัยให้กับประชาชนที่มีรายได้น้อยถึงปานกลาง ควบคู่ไปกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนให้มีความสุขทั้ง 3 ด้าน ได้แก่ สังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อมในชุมชนที่ทุกคนจะต้องร่วมมือร่วมใจกันพัฒนาให้เป็นชุมชนที่น่าอยู่อาศัยอย่างยั่งยืน

สำหรับเรื่องการจัดการน้ำมันพืชใช้แล้วในภาคครัวเรือน เป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ สิ่งแวดล้อม และระบบสาธารณูปโภคส่วนรวมในชุมชนโดยตรง และยังไม่มีหน่วยงานใดเข้ามาดำเนินการแก้ไขได้อย่างเป็นรูปธรรม การเคหะแห่งชาติมีโครงการที่อยู่อาศัยที่อยู่ในความดูแลทั่วประเทศกว่า 700,000 หน่วย จึงได้ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวที่จะส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัยในชุมชน เช่นเดียวกับ ห้างหุ้นส่วนจำกัด ธนโชคน้ำมันพืช (2012) ที่เข้ามาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการเสริมหนุนการพัฒนาชุมชนให้เกิดกระบวนการแก้ไขปัญหาจากภายในชุมชนอย่างเป็นระบบ อันนำไปสู่การเสริมสร้างให้ชุมชนมีความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน

การเคหะแห่งชาติ และ ห้างหุ้นส่วนจำกัด ธนโชคน้ำมันพืช (2012) จึงลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU) ในการส่งเสริมการขับเคลื่อนกิจกรรมบริหารจัดการน้ำมันพืชใช้แล้วในชุมชนของการเคหะแห่งชาติ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการต่อยอดการจัดการน้ำมันพืชใช้แล้วไปสู่การผลิตไบโอดีเซลได้อย่างเป็นรูปธรรม อันนำไปสู่การพัฒนาเป็นศูนย์เรียนรู้ในการทดลองผลิตไบโอดีเซลจากน้ำมันพืชใช้แล้วในครัวเรือนได้อย่างเป็นระบบ และเป็นสถานที่ศึกษาดูงานสำหรับผู้สนใจทั่วไปได้ศึกษา นำไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับชุมชนของตนเองตามแนวทางการสร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจร่วมกับการพัฒนาสังคมชุมชนที่ยั่งยืน