ก.แรงงาน ขับเคลื่อนจ้างงานฟาร์มตัวอย่าง ส่งเสริมประกอบอาชีพอิสระ สู้วิกฤติโควิด

กระทรวงแรงงาน ลงพื้นที่จังหวัดราชบุรี ตรวจเยี่ยมผู้เข้าร่วมโครงการฟาร์มตัวอย่างต้านภัยโควิด – 19 ส่งเสริมการประกอบอาชีพอิสระให้เป็นแหล่งจ้างงานในท้องถิ่น ประชาชนมีรายได้ เลี้ยงตนเองอย่างยั่งยืน

วันที่ 26 พฤษภาคม 2563 นางเธียรรัตน์ นะวะมะวัฒน์ รองปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะโฆษกกระทรวงแรงงาน ตรวจเยี่ยมความคืบหน้าการดำเนินงานโครงการฟาร์มตัวอย่าง ต้านภัยโควิด – 19 ณ โครงการฟาร์มตัวอย่างตามพระราชดำริในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง (บ้านบ่อหวี) จังหวัดราชบุรี ตำบลตะนาวศรี อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี โดยกล่าวว่า กระทรวงแรงงาน สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี พระราชทานพื้นที่ในฟาร์มตัวอย่างตามพระราชดำริในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ให้เกิดการจ้างงานในพื้นที่ ซึ่งเป็นกิจกรรมจ้างงานเร่งด่วน ทั้งนี้ จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด – 19 ทำให้สถานประกอบกิจการหลายแห่งปิดกิจการ ลูกจ้างถูกเลิกจ้าง ทำให้แรงงานต้องเผชิญกับปัญหาการว่างงาน ขาดรายได้ และเดินทางกลับภูมิลำเนาเป็นจำนวนมาก กระทรวงแรงงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงร่วมกับศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสาพระราชทาน (ศอญ.) ดำเนินโครงการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนด้านอาชีพ ปี 2563 ภายใต้กิจกรรมจ้างงานเร่งด่วนชื่อ “โครงการฟาร์มตัวอย่างต้านภัยโควิด -19”โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนอาชีพ สร้างแรงงานและรายได้ให้กับแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เป็นแหล่งจ้างงานในท้องถิ่นให้ประชาชนมีรายได้จากการรับจ้างและฝึกอาชีพในฟาร์ม สามารถนำไปประกอบอาชีพได้

นางเธียรรัตน์ กล่าวว่า สำหรับจังหวัดราชบุรีมีผู้เข้าร่วมโครงการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนด้านอาชีพ กิจกรรมจ้างงานเร่งด่วน จำนวน 50 คน โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 4 พ.ค. – 28 ก.ค.63 ระยะเวลา 60 วัน หยุดทุกวันอาทิตย์ ค่าตอบแทนวันละ 300 บาท นอกจากนี้ หน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงาน จะช่วยเติมเต็มตามภารกิจ อาทิ กิจกรรมส่งเสริมและแนะแนวอาชีพ (การเลี้ยงหมูหลุม) ส่งเสริมและแนะแนวอาชีพ ให้ความรู้เกี่ยวกับความปลอดภัยและการใช้สารเคมีทางเกษตร และแนะแนวให้ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายประกันสังคม เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังได้ตรวจเยี่ยมโครงการส่งเสริมการประกอบอาชีพสู้วิกฤต COVID-19 หลักสูตร “หมูหลุมอินทรีย์ วิถีชุมชน” โดยมีเป้าหมายเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด – 19 จำนวน 20 คน เพื่อให้ผู้ได้รับผลกระทบได้มีอาชีพและมีรายได้สำหรับการดำรงชีพ ได้รับความรู้และทักษะในการประกอบอาชีพอิสระ เมื่อผ่านการฝึกแล้วจะได้รับวัสดุอุปกรณ์เพื่อใช้ในการประกอบอาชีพและสามารถนำความรู้และวัสดุอุปกรณ์ไปประกอบเป็นอาชีพหลักหรืออาชีพเสริม และสามารถต่อยอดในการประกอบอาชีพหรือทำเป็นอาชีพเสริมหลังพ้นวิกฤติโควิด -19 ได้

สำหรับการทำ“หมูหลุม”เป็นการเลี้ยงหมูแบบขุดหลุมลึก โดยใช้วัสดุรองพื้นตามหลักการของ “เกษตรกรรมธรรมชาติ” ซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของระบบเกษตรกรรมยั่งยืน เป็นการเกษตรที่ไม่เพียงแต่คำนึงถึงผลผลิตจากการเกษตรเท่านั้น แต่มีปรัชญาแนวคิดอยู่เบื้องหลัง เป็นการพัฒนารูปแบบการเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการพึ่งพาตนเองในด้านการผลิตและการบริโภคขนาดเล็กและขนาดกลาง ที่เหมาะสมกับทรัพยากร ภูมิปัญญาในท้องถิ่น และวัฒนธรรมที่มีในชุมชนโดยมีเป้าหมายเชิงนโยบายอยู่ที่การพัฒนาชนบท การฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน การอยู่ดีกินดีของคนชนบท และสุขภาพของประชากร นำไปสู่การแก้ไขปัญหาความยากจนในที่สุด