ฝนที่ตกลงมาในระยะนี้ ถือได้ว่าเป็นสิ่งที่ดี ช่วยเพิ่มปริมาณน้ำท่าในลำน้ำธรรมชาติต่างๆ รวมไปถึงทำให้มีน้ำไหลงอ่างเก็บน้ำบ้างแล้ว แม้จะยังอยู่ในเกณฑ์ไม่มากนัก เน้นย้ำให้ทุกโครงการชลประทานทั่วประเทศเฝ้าระวังติดตามและบริหารจัดการน้ำอย่างใกล้ชิด
ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั่วประเทศว่า ปัจจุบัน(26 พ.ค. 63) มีปริมาณน้ำในอ่างฯรวมกันประมาณ 31,949 ล้านลูกบาศก์เมตร( ล้าน ลบ.ม.) คิดเป็นร้อยละ 45 ของความจุฯรวมกัน โดยมีปริมาณน้ำใช้การได้ประมาณ 8,655 ล้าน ลบ.ม. สามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า 38,000 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 8,101 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 33 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน 1,405 ล้าน ลบ.ม. สามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า 16,000 ล้าน ลบ.ม.
สำหรับสถานการณ์ฝนที่กำลังตกอยู่ในหลายพื้นที่ขณะนี้ ส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำบ้างเล็กน้อย โดยเขื่อนขนาดใหญ่ทั้ง 35 แห่งทั่วประเทศ มีปริมานน้ำไหลลงอ่างฯรวมประมาณ 21 ล้าน ลบ.ม. แยกเป็นรายภาค ดังนี้ ภาคเหนือ มีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 8 แห่ง มีน้ำไหลลงอ่างฯรวม 4.99 ล้าน ลบ.ม. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 12 แห่ง มีน้ำไหลลงอ่างฯรวม 7.29 ล้าน ลบ.ม. ภาคกลาง มีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 3 แห่ง มีน้ำไหลลงอ่างฯรวม 0.17 ล้าน ลบ.ม. ภาคตะวันตก มีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 2 แห่ง มีน้ำไหลลงอ่างฯรวม 0.56 ล้าน ลบ.ม. ภาคตะวันออก มีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 6 แห่ง ปริมาณน้ำไหลลงอ่างฯรวม 1.45 ล้าน ลบ.ม. และภาคใต้ มีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 4 แห่ง ปริมาณน้ำไหลลงอ่างฯรวม 6.74 ล้าน ลบ.ม. ทั้งนี้ จากอิทธิพลของมรสุมตะวันตกเฉียงใตกำลังคอนข้างแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามันและประเทศไทย ทำให้มีฝนฟ้าคะนองและฝนตกหนักบางแห่งในระยะนี้
กรมชลประทาน ได้คาดการณ์สถานการณ์น้ำ โดยจำลองและเปรียบเทียบปริมาณน้ำไว้ 3 กรณี คือ กรณีคล้ายกับปี 2538 กรณีน้ำเฉลี่ย และกรณีน้ำน้อยกว่าค่าเฉลี่ย 5% ซึ่งอ้างอิงจากข้อมูลปริมาณน้ำต้นทุน และการคาดการณ์สภาพฝนของกรมอุตุนิยมวิทยา นำมากำหนดแนวทางการบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำต่างๆ ให้มีความเหมาะสม สามารถรองรับปริมาณน้ำในช่วงฤดูฝนได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งเก็บกักปริมาณน้ำสำรองไว้ใช้ในอนาคตด้วย นอกจากนี้ ยังได้จัดเตรียมเครื่องจักร เครื่องมือ อาทิ เครื่องสูบน้ำ 1,935 เครื่อง เครื่องผลักดันน้ำ 527 ชุด รถบรรทุก 511 คัน กระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาค ในเขตสำนักงานชลประทานต่างๆ รวมทั้งสิ้น 4,850 หน่วย เพื่อให้สามารถเข้าไปช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ที่เสี่ยงภัยได้อย่างทั่วถึงและทันต่อเหตุการณ์
ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ(SWOC) กรมชลประทาน
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
26 พฤษภาคม 2563