กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เตือนพื้นที่เสี่ยงใกล้โรงงานอุตสาหกรรม เลี่ยงเก็บน้ำฝน หากจำเป็นควรทำความสะอาดรางรับน้ำฝน และภาชนะเก็บน้ำให้พร้อมใช้งาน เพื่อความปลอดภัย ก่อนนำมาใช้ดื่มควรต้มให้เดือด ลดความเสี่ยงจากโรคระบบทางเดินอาหารและอุจจาระร่วงได้
นายแพทย์ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ฤดูฝน การเก็บน้ำฝนไว้ใช้ในการอุปโภคบริโภคในช่วงแรก ๆ ที่ฝนตก อาจเกิดความสกปรกและความเสี่ยงจากสารเคมีได้ง่าย โดยเฉพาะพื้นที่ที่อยู่ใกล้กับโรงงานอุตสาหกรรม การจราจรหนาแน่น หรือมีมลพิษทางอากาศ เช่น ฝุ่น PM. 2.5 ควัน หรือก๊าซที่เกิดจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิง รวมทั้งความสะอาดหลังคาที่รองรับน้ำฝน และภาชนะเก็บกักน้ำฝน ซึ่งจากข้อมูลการเฝ้าระวังคุณภาพน้ำบริโภคครัวเรือนของกรมอนามัย พบว่า ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาคุณภาพน้ำฝนในครัวเรือนทั่วประเทศผ่านเกณฑ์มาตรฐานน้ำบริโภค เฉลี่ยร้อยละ 23.40 ส่วนที่ไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานพบการปนเปื้อนแบคทีเรียมากที่สุด และพบสี ความขุ่น ความเป็นกรด-ด่าง เกินเกณฑ์มาตรฐานเพียงเล็กน้อย เนื่องจากการดูแลความสะอาดของพื้นหลังคา รางรองรับน้ำฝน ภาชนะบรรจุน้ำฝนไม่ถูกหลักการสุขาภิบาลน้ำบริโภค
“ทั้งนี้ การเก็บน้ำฝนไว้บริโภคหรืออุปโภคให้ปลอดภัยนั้น ควรเริ่มจากการสำรวจความพร้อมของ รางรองรับน้ำฝน ทำความสะอาดเก็บกวาดสิ่งสกปรกบนหลังคา รางรองรับน้ำฝนให้เรียบร้อย สำหรับภาชนะบรรจุน้ำฝนควรสำรวจดูความชำรุดแตกรั่ว และต้องล้างให้สะอาดทั้งภายนอกและภายใน โดยเฉพาะภายในต้องทำการฆ่าเชื้อโรคด้วยการแช่หรือฉีดพ่นน้ำคลอรีนในขั้นตอนสุดท้ายของการล้างด้วย ในการรองน้ำฝนนั้นควรปล่อยให้ฝนตกชะล้างสิ่งสกปรกในอากาศ บนหลังคาและรางรับน้ำฝนทิ้งไปสักระยะหนึ่งก่อนแล้วค่อย รองน้ำฝนใส่ภาชนะที่เตรียมไว้ เมื่อเต็มแล้วปิดฝาภาชนะให้มิดชิดโดยใช้ตาข่ายพลาสติกปิดปากภาชนะให้แน่นก่อนปิดฝาเพื่อป้องกันสัตว์หรือแมลง เช่น จิ้งจก แมลงสาป เข้าไปอาศัย ดูแลที่ตั้งภาชนะเก็บน้ำฝนให้สะอาด ไม่เฉอะแฉะ ดูแลความสะอาดของภาชนะเก็บน้ำฝนอย่างสม่ำเสมอ ไม่ควรนำสิ่งของต่าง ๆ ไปวางหรือกองไว้บนภาชนะเก็บน้ำฝน เพราะจะเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์ แมลงนำโรค นอกจากนั้นเพื่อให้มั่นใจก่อนนำน้ำฝนมาดื่มควรนำไปต้มให้เดือดประมาณ 1 นาที เพื่อลดความเสี่ยงจากโรคระบบทางเดินอาหารที่เกิดจากน้ำเป็นสื่อ” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว
***
ศูนย์สื่อสารสาธารณะ / พฤษภาคม 2563