ในภาวะที่มีการระบาดใหญ่ของไวรัสโควิด-19 ประชาชนควรรักษาสุขภาพให้แข็งแรงด้วยการรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ พักผ่อนให้เพียงพอ วันละ6-8 ชั่วโมง ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และหลีกเลี่ยงการสัมผัสเชื้อโรคโดยไม่จำเป็น ไม่ไปในที่ชุมชนแออัด (หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ควรสวมหน้ากากผ้าก่อนออกในแหล่งชุมชนทุกครั้ง) กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ขอแนะนำ ผักผลไม้สมุนไพรที่ช่วยดูแลสุขภาพของประชาชนให้มีสุขภาพดี มีภูมิต้านทานโรค ดังนี้
นายแพทย์มรุต จิรเศรษฐสิริ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่าจากการระบาดใหญ่ของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในหลายพื้นที่ทั่วโลก ทำให้ประชาชนอาจเกิดความวิตกกังวลหรือเครียด แต่หากเราเตรียมความพร้อมในการสร้างสุขภาพตนเองให้แข็งแรงด้วยการรับประทานอาหารที่มีสารกระตุ้นภูมิคุ้มกันและมีศักยภาพในการป้องกันการติดเชื้อไวรัส ก็จะเป็นเกราะป้องกันตนเอง ลดโอกาสติดเชื้อไวรัสได้ หรือหากติดเชื้อก็อาจช่วยลดความเสี่ยงที่จะมีอาการรุนแรงได้ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกจึงขอแนะนำผักผลไม้สมุนไพร 3 กลุ่ม ได้แก่ 1) กลุ่มเสริมภูมิคุ้มกัน 2) กลุ่มที่มีวิตามินซีและสารต้านอนุมูลอิสระสูง 3) กลุ่มที่มีสารสำคัญที่มีศักยภาพในการป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 จากรายงานการศึกษาการสร้างแบบจำลองการจับกันของโครงสร้างสามมิติของสารสำคัญจากสมุนไพรกับตัวรับของไวรัส (SARS, โควิด-19) ในทางเดินหายใจและกับโปรตีนที่จำเป็นสำหรับการแบ่งตัวของไวรัสด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์: molecular docking ดังนี้
- ผักผลไม้และยาจากสมุนไพรที่ช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกาย ได้แก่ พลูคาวหรือผักคาวตองขิง ข่า กระเทียม เห็ดต่าง ๆ เช่น เห็ดหอม เห็ดนางฟ้า เห็ดออรินจิ เห็ดหลินจือ และตรีผลา (สมอไทย สมอพิเภก มะขามป้อม) รับประทานในรูปของน้ำต้มดื่ม
- ผักผลไม้ที่มีวิตามินซีสูง เช่น ดอกขี้เหล็ก ยอดมะยม ใบเหลียง ยอดสะเดา มะระขี้นก ฟักข้าว ผักเชียงดา คะน้า มะรุม ผักแพว มะขามป้อม
หรือมีสารกลุ่มแอนโทไซยานินซึ่งเป็นสารเฟลโวนอยด์ที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระสูง เช่น ลูกหม่อน และผักผลไม้หลากสี ยังช่วยเสริมการทำงานของเซลล์ในระบบภูมิคุ้มกันด้วย
- ผักผลไม้และยาจากสมุนไพรของไทยที่มีศักยภาพในการป้องกันไม่ให้ไวรัสเข้าเซลล์ ช่วยลดโอกาสการติดเชื้อ ได้แก่ ผักผลไม้ที่มีสารเคอร์ซีติน (quercetin) สูง ได้แก่ พลูคาวหรือผักคาวตอง หอมแดง หอมหัวใหญ่ มะรุม ใบหม่อน แอปเปิล; ผักผลไม้ที่มีสาร เฮสเพอริดิน (hesperidin) และรูติน (rutin) สูง ได้แก่ ผิวและเยื่อหุ้มด้านในเปลือกผลของพืชตระกูลส้ม (citrus fruit เช่น ส้ม มะนาว มะกรูด ส้มซ่า), กะเพรา มีโอเรียนทิน (orientin) เป็นสารสำคัญที่มีศักยภาพในการป้องกันไม่ให้ไวรัสเข้าเซลล์
ส่วนเมนูอาหารไทยที่ขอแนะนำ เช่น เมี่ยงคำ ซึ่งมีมะนาวหั่นพร้อมเปลือกและหอมแดง นอกจากนั้น อาหารจำพวกแกงเลียง ยำ ต้มยำ ต้มโคล้งต่าง ๆ ที่ใส่หอมใหญ่ หอมแดง เห็ดชนิดต่าง ๆ และมะนาว จะให้ทั้งเคอร์ซีทิน เบต้ากลูแคน และวิตามินซี สำหรับเครื่องดื่มหรือน้ำสมุนไพรที่แนะนำคือ น้ำตรีผลา ซึ่งช่วยเสริมภูมิคุ้มกันได้ นอกจากนี้ อาจนำผักผลไม้ที่แนะนำข้างต้นมาปรุงอาหารอื่นหรือทำเป็นเครื่องดื่ม หรือเพิ่มการรับประทานผักผลไม้สมุนไพรกลุ่มนี้ให้มากขึ้นในระยะนี้
ผู้สนใจสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติม พร้อมเอกสารอ้างอิงได้ตาม QR code ข้างล่างนี้