บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ สนับสนุน เครือข่ายเพื่อความยั่งยืนแห่งประเทศไทย (Thailand Responsible Business Network-TRBN) ภาครัฐและภาคประชาชน ริเริ่มโครงการ “ส่งพลาสติกกลับบ้าน” เพื่อร่วมรณรงค์ให้ผู้บริโภคแยกขยะพลาสติกที่ใช้แล้วนำไปรีไซเคิลหรือนำไปเพิ่มมูลค่าเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่
นายวุฒิชัย สิทธิปรีดานันท์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซีพีเอฟ กล่าวว่า จากปัญหาขยะพลาสติกที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมทั่วโลก โดยเฉพาะการปนเปื้อนจากพลาสติกอนุภาคขนาดเล็ก (microplastic) ในทะเล ซึ่งบริษัทฯ ในฐานะผู้ผลิตอาหารชั้นนำตระหนักดีถึงปัญหาดังกล่าวจึงได้เริ่มต้นจากการลดการใช้พลาสติกตั้งแต่ต้นทาง และประกาศนโยบายและแนวทางปฏิบัติด้านบรรจุภัณฑ์ที่ยังยืน ที่มุ่งมั่นพัฒนาและบริหารจัดการบรรจุภัณฑ์ให้เกิดความยั่งยืน โดยพิจารณาตลอดห่วงโซ่คุณค่าอยู่บนพื้นฐานแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เพื่อให้ใช้ทรัพยากรในการผลิตบรรจุภัณฑ์อย่างคุ้มค่า และลดปัญหาขยะจากบรรจุภัณฑ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งขยะพลาสติก เพื่อให้มั่นใจว่ากระบวนการดำเนินธุรกิจของบริษัท มีส่วนร่วมในการบรรเทาผลกระทบเชิงลบและก่อให้เกิดการสร้างผลเชิงบวกต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ควบคู่ไปกับความปลอดภัยทางอาหารเพื่อความมั่นใจของผู้บริโภค
โครงการดังกล่าวเป็นความร่วมของภาคเอกชน ภาครัฐและภาคประชาชน ในการรณรงค์และให้ความรู้กับผู้บริโภคในการแยกขยะตั้งแต่ต้นทางและนำมารวบรวมที่จุดรับพลาสติก (drop point) 10 แห่ง ที่ตั้งไว้ในบริเวณที่แต่ละบริษัทกำหนด โดยรับพลาสติก 7 ชนิด ได้แก่ ถุง กล่องใส่อาหาร ถ้วย แก้วน้ำ ขวด ฝาขวด ฟิล์ม และต้องทำให้พลาสติกสะอาดและแห้ง ซึ่งเริ่มนำร่องบนถนนสุขุมวิทเพื่อเป็นต้นแบบการเรียกคืนพลาสติกที่มีประสิทธิภาพ เพื่อรวบรวมและส่งต่อให้กับบริษัทผู้รับรีไซเคิล (recycle) หรือนำไปผลิตสินค้าใหม่ (upcyclable) ซึ่งเป็นการเพิ่มสัดส่วนการนำพลาสติกกลับมาใช้ใหม่ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในรูปแบบที่เหมาะสม โดยซีพีเอฟ ได้จัดจุดรับพลาสติกที่หน้าร้านซีพี เฟรชมาร์ท เริ่มต้นที่สาขาเพชรบุรี 38/1 (ซอยสุขุมวิท 39)
“การคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง จะเป็นเพิ่มความปลอดภัยให้กับซาเล้งและพนักงานเก็บขยะ ลดปริมาณขยะพลาสติกสู่บ่อฝังกลบและเพิ่มการนำพลาสติกกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ ซึ่งเป็นการสนับสนุนระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนให้เกิดขึ้นได้จริง ขณะเดียวกันยังเป็นการแก้ปัญหาขยะพลาสติกอย่างครบวงจรและยั่งยืน” นายวุฒิชัย กล่าว
นายวุฒิชัย กล่าวต่อไปว่า สถานการณ์วิกฤต COVID-19 กำลังส่งผลกระทบต่อการเพิ่มขึ้นของปริมาณขยะในประเทศไทย ตามรายงานของกรมควบคุมมลพิษ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ล่าสุดพบว่า ขยะที่เป็นบรรจุภัณฑ์พลาสติกเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 15% จาก 5,500 ตันต่อวันเป็น 6,300 ตันต่อวัน จากการใช้บริการรับส่งอาหารที่มากขึ้นถึง 3 เท่า เนื่องจากคนส่วนใหญ่ทำงานจากที่บ้านและเป็นช่วงปิดภาคเรียนของโรงเรียน
ที่ผ่านมา มีการนำพลาสติกกลับไปใช้ประโยชน์ใหม่ หรือ รีไซเคิล เพียง 25% ส่วนที่ 75% ไม่ถูก recycle ซึ่งมีสาเหตุสำคัญมาจากขาดการคัดแยกที่ต้นทาง ถือเป็นการเสียโอกาสในการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า โครงการ “ส่งพลาสติกกลับบ้าน” นอกจากจะมีเป้าหมายในการเปลี่ยนพฤติกรรมและเกิดวินัยการแยกพลาสติกสะอาดก่อนทิ้งแล้ว ยังต้องการเพิ่มปริมาณพลาสติกที่เรียกคืนมาได้ เพิ่มสัดส่วนการรีไซเคิล ใช้พลาสติกใหม่น้อยลง อันจะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยลดการดึงทรัพยากรมาใช้
สำหรับภาคเครือข่ายที่ร่วมริเริ่มโครงการนี้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ภาคเอกชนชั้นนำผู้ดำเนินธุรกิจรีไซเคิลและนำไปผลิตสินค้าใหม่ เช่น พีทีทีโกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ทีพีบีไอ จำกัด (มหาชน) บริษัทแก้วกรุงไทย จำกัด ผู้สนับสนุนจุดรับพลาสติกประกอบด้วย เทสโก้ โลตัส บริษัทเดอะมอลล์ กรุ๊ป สิงห์คอมเพล็กซ์ บริษัทยูนิลิเวอร์ไทย จำกัด บริษัทไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) เดอะคอมมอน เป็นต้น
………………………………………………………………….