9 พฤษภาคม 2563, อาคารดีป้า ลาดพร้าว – รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ร่วมหารือภาคเอกชน-รัฐวิสาหกิจ หาแนวทางความร่วมมือในการบรรเทาความเดือดร้อนและช่วยเหลือผู้ว่างงานนัดแรก หวังช่วยให้ประชาชนไทยมีงานทำ หลังสิ้นสุดวิกฤต COVID-19 พร้อมรองรับยุคเศรษฐกิจ-สังคมดิจิทัล และสภาวะ New Normal
นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) พร้อมด้วย ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า ประชุมหารือแนวทางความร่วมมือในการบรรเทาความเดือดร้อนและช่วยเหลือผู้ว่างงานจากผลกระทบสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ครั้งที่ 1 ร่วมกับคณะผู้บริหารจากบริษัทเอกชนขนาดใหญ่และรัฐวิสาหกิจ รวม 19 บริษัทวานนี้ ประกอบด้วย บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด บริษัท เดลล์ เทคโนโลยีส์ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท ซิสโก้ ซีสเต็มส์ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท เด็นโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท ฮิตาชิ เอเชีย (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท มิตซูบิชิ อีเล็คทริค แฟคทอรี่ ออโตเมชั่น (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท สยามคูโบต้า คอร์ปอเรชั่น จำกัด บริษัท ทีวี ไดเร็ค จำกัด (มหาชน) บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) (AIS) บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) (DTAC) บริษัท ทรูคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (TRUE) บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (CAT) บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) (TOT) ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) และ บริษัท กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป
โดย นายพุทธิพงษ์ เปิดเผยว่า ที่ประชุมได้มีการหารือใน 3 ประเด็นหลักคือ ความร่วมมือระหว่างรัฐและเอกชนในการแก้ไขปัญหาให้กับประชาชน 3 กลุ่ม ประกอบด้วย ผู้ว่างงาน พนักงานที่ถูกลดค่าตอบแทน และนักศึกษาจบใหม่ที่กำลังหางานหรือเริ่มประกอบธุรกิจ อีกทั้งการพัฒนา National Digital Workplace Platform ซึ่ง ดีป้า จะเป็นตัวแทนของรัฐบาลในการพัฒนาระบบ พร้อมร่วมมือกับบริษัทด้านดิจิทัลในการจับคู่งาน (Matching) กับผู้ที่ต้องการงาน ทั้งในรูปแบบ Digital Supporter (Non-technical) ไปจนถึง Programmer และ Data Scientist ซึ่งรัฐบาลได้ขอความร่วมมือจากภาคเอกชนในการนำส่งข้อมูลตำแหน่งงานว่างด้านดิจิทัล และนอกเหนือจากดิจิทัล เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบ โดยบริษัทจะมีสิทธิ์ในการเป็นผู้พิจารณาคุณสมบัติและคัดเลือกผู้สมัครด้วยตนเอง
ประเด็นถัดมาคือ การช่วยเหลือประชาชนที่ต้องการพัฒนาทักษะและความสามารถด้านต่าง ๆ เพิ่มเติม Reskill และ Upskill เพื่อให้ตรงตามความต้องการของตลาด รองรับการก้าวเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล รวมถึงสภาวะ New Normal โดย ดีป้า จะดำเนินการช่วยเหลือและประสานงานกับบริษัทด้านดิจิทัลในการพัฒนาหลักสูตร และมอบประกาศนียบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา ประเด็นสุดท้ายคือ ข้อเสนอแนะจากผู้ประกอบการและข้อเรียกร้องที่ต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลือ โดยคณะผู้บริหารจะนำผลการประชุมครั้งนี้กลับไปหารือและนำข้อสรุปกลับมาประชุมร่วมกันอีกครั้งหลังจากนี้
ด้าน ดร.ณัฐพล กล่าวว่า ดีป้า คาดหวังว่า การประชุมนัดแรกในวันนี้จะส่งผลให้คน IT คน Non IT รวมถึงผู้ที่ต้องการยกระดับทักษะเพื่อประกอบอาชีพใหม่มีช่องทางการหางานผ่านแพลตฟอร์มที่รัฐและเอกชนบูรณาการการทำงาน โดยมี ดีป้า เป็นผู้ดำเนินการ ทั้งในเรื่องของการสร้างสังคมดิจิทัล เพื่อให้ประชาชนไทยสามารถปรับตัวรับยุค New Normal และสามารถสืบค้นงานที่ตรงตามความเชี่ยวชาญและทักษะที่เปลี่ยนไปได้
———————————————————————