นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กล่าวถึงความกังวลว่าสหรัฐฯ และจีนอาจกลับมามีความขัดแย้งทางการค้ากันอีกครั้ง หลังจากประธานาธิบดีทรัมป์ให้สัมภาษณ์ว่า สหรัฐฯ อาจยกเลิกข้อตกลงเศรษฐกิจการค้าระยะแรกกับจีน หากจีนไม่ทำตามข้อตกลงการซื้อสินค้าและบริการจากสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นเป็นมูลค่า 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายใน 2 ปี (วันที่ 1 ม.ค. 2563 – 31 ธ.ค. 2564) นอกจากนี้ สหรัฐฯ พร้อมจะกลับมาใช้มาตรการกับจีนเพิ่มเติม โดยอ้างเหตุการพบความเชื่อมโยงระหว่างจีนและการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่กำลังสร้างความเสียหายต่อประชากรและเศรษฐกิจโลกอย่างกว้างขวาง
นางสาวพิมพ์ชนก กล่าวว่าการที่สหรัฐฯ เร่งผลักดันให้จีนซื้อสินค้า อาจเกิดจากความกังวลว่าเศรษฐกิจจีนที่หดตัวครั้งแรกในรอบ 33 ปี จะเป็นอุปสรรคต่อการนำเข้าสินค้าสหรัฐฯ ตามที่จีนตกลงไว้ นอกจากนี้ กลุ่มผู้ผลิตน้ำมันของสหรัฐฯ ซึ่งได้รับผลกระทบจากอุปสงค์ที่ลดลงเนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้เรียกร้องให้ฝ่ายบริหารกดดันให้จีนซื้อสินค้าพลังงานจากสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ภายหลังจากที่จีนมีการนำเข้าน้ำมันดิบจากซาอุดีอาระเบียและรัสเซียเพิ่มขึ้น ประมาณร้อยละ 19 – 20 ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ ขณะที่นำเข้าน้ำมันดิบจากสหรัฐฯ ในปริมาณน้อยมาก อย่างไรก็ดี นับตั้งแต่วันลงนามข้อตกลงฯ (15 ม.ค. 2563) จีนได้ทยอยดำเนินการตามข้อเรียกร้องของสหรัฐฯ อาทิ ในด้านการค้าสินค้าเกษตรและอาหาร จีนได้ยกเลิกข้อจำกัดการนำเข้า และเพิ่มความสะดวกในการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ หลายรายการ เช่น สัตว์ปีกและสินค้าสัตวปีก อาหารสัตว์ โปรตีนจากสัตว์ ผลิตภัณฑ์นม นมผงทารก และมันฝรั่งสด
จากข้อมูลการค้าสหรัฐฯ – จีน ในไตรมาสแรกของปี 2563 จีนนำเข้าจากสหรัฐฯ ในกลุ่มสินค้าภายใต้ข้อตกลงฯ เป็นมูลค่ารวม 19,995 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 3.1 เทียบกับไตรมาสแรกของปีก่อน จากกลุ่มอุตสาหกรรม และสินค้ากลุ่มพลังงาน ที่ชะลอตัวลงร้อยละ 17.0 และ 69.1 ตามลำดับ ซึ่งคาดว่าเป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ทำให้ภาคการผลิตและเศรษฐกิจจีนชะงักงันช่วงต้นปี ขณะที่จีนนำเข้าสินค้าเกษตรจากสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 104.3 และมีมูลค่ากว่า 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าที่เติบโตสูง อาทิ เนื้อและเครื่องในสุกร สัตว์ปีก ข้าวฟ่าง ฝ้าย อย่างไรก็ตาม จีนมีการนำเข้าสินค้าภายใต้ข้อตกลงฯ เพียงร้อยละ 11.8 ซึ่งไม่ถึงหนึ่งในสี่ของมูลค่าที่จีนตกลงจะนำเข้าทั้งปี (169,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) และอาจเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้สหรัฐฯ เร่งผลักดันให้จีนนำเข้าเพิ่มขึ้นเพื่อให้เป็นไปตามข้อตกลงฯ ทั้งนี้ ภายใต้ข้อตกลงเศรษฐกิจการค้าระยะแรก กำหนดให้มีการจัดตั้งสำนักงานประเมินและระงับข้อพิพาทสองฝ่าย (Bilateral Evaluation and Dispute Resolution Office) ซึ่งเป็นช่องทางหนึ่งที่สามารถหารือและแก้ไขปัญหาอุปสรรคต่างๆ ในการดำเนินการตามข้อตกลงฯ ได้
ในส่วนของการใช้มาตรการกับจีนเพิ่มเติม โดยอ้างเหตุความเชื่อมโยงระหว่างจีนกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 นั้น ขณะนี้ทางการสหรัฐฯ อยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลที่มาของการแพร่ระบาดเพิ่มเติม และพิจารณามาตรการที่อาจนำมาใช้กับจีน เช่น การคว่ำบาตร การยกเลิกการจ่ายคืนหนี้ที่กู้ยืมจากจีนในรูปพันธบัตร และนโยบายทางการค้าใหม่เพิ่มเติมจากเดิม นอกจากนี้ ประธานาธิบดีทรัมป์อาจใช้สถานการณ์การแพร่ระบาด ไวรัสโควิด-19 เร่งผลักดันการโยกย้ายห่วงโซ่อุปทานออกจากจีนมากขึ้น
นางสาวพิมพ์ชนก กล่าวต่อว่า ท่ามกลางสงครามการค้าในปีที่ผ่านมา แม้ว่าการส่งออกจากไทยไปจีนจะหดตัวที่ร้อยละ 3.8 แต่การส่งออกไปสหรัฐฯ ยังคงขยายตัวดีที่ร้อยละ 11.8 และไทยยังมีโอกาสในทั้งสองตลาดด้วยความสามารถในการทดแทนสินค้าที่สหรัฐฯ และจีนขึ้นภาษีระหว่างกัน โดยในปี 2562 ไทยมีส่วนแบ่งในตลาดสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 1.35 (จากร้อยละ 1.26 ในปี 2561) สินค้าที่เติบโตดีในตลาดสหรัฐฯ อาทิ อาหารทะเลแช่แข็งและแปรรูป (ขยายตัวร้อยละ 1.0) ผลิตภัณฑ์พลาสติก (ขยายตัวร้อยละ 15.9) รถยนต์และส่วนประกอบ (ขยายตัวร้อยละ 6.9) เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบ (ขยายตัวร้อยละ 6.6) เครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร เครื่องครัว และของใช้ในบ้านเรือน (ขยายตัวร้อยละ 32.8) เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน (ขยายตัวร้อยละ 93.1) รวมทั้งมีส่วนแบ่งในตลาดจีนเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 2.23 (จากร้อยละ 2.10 ในปี 2561) สินค้าที่เติบโตดีในตลาดจีน อาทิ กุ้งสด แช่เย็น แช่แข็ง (ขยายตัวร้อยละ 69.7) เครื่องดื่ม (ขยายตัวร้อยละ 23.4) เครื่องนุ่งห่ม รองเท้า (ขยายตัวร้อยละ 21.0) และเครื่องสำอาง สบู่ และผลิตภัณฑ์รักษาผิว (ขยายตัวร้อยละ 34.8)
สำหรับการส่งออกของไทยในปี 2563 พบว่า สินค้าที่เคยได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าอย่างอิเล็กทรอนิกส์ (สัดส่วนร้อยละ 14 ของการส่งออกรวม) กลับมาขยายตัวตั้งแต่เดือน ม.ค. 2563 สะท้อนการปรับตัวของการส่งออกไทย ทำให้ผลกระทบของสงครามการค้าต่อการส่งออกไทยเริ่มลดลง และอานิสงส์จากการที่ไทยสามารถเป็นห่วงโซ่การผลิต (Supply Chain) ทดแทนสินค้าจีน ในช่วงโรงงานในอู่ฮั่นปิดทำการจากไวรัสโควิด-19 โดยในไตรมาสแรกของปี 2563 การส่งออกกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ขยายตัวร้อยละ 4.5 สินค้าที่เติบโตได้ดี อาทิ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (ขยายตัวร้อยละ 8.8) เครื่องคำนวณอิเล็กทรอนิกส์ (ขยายตัวร้อยละ 229.2) วงจรพิมพ์ (ขยายตัวร้อยละ 6.3) เครื่องส่งวิทยุ โทรเลข โทรศัพท์ โทรทัศน์ (ขยายตัวร้อยละ 26.3) และการเติบโตกระจายตัวในหลายตลาดมากขึ้น ได้แก่ สหรัฐฯ (ขยายตัวร้อยละ 39.1) ฮ่องกง (ขยายตัวร้อยละ 1.0) จีน (ขยายตัวร้อยละ 14.6) สิงคโปร์ (ขยายตัวร้อยละ 22.8) เวียดนาม (ขยายตัวร้อยละ 20.4) ไต้หวัน (ขยายตัวร้อยละ 28.7) เกาหลีใต้ (ขยายตัวร้อยละ 6.5) และอินโดนีเซีย (ขยายตัวร้อยละ 7.1) อย่างไรก็ตาม ยังต้องประเมินแนวโน้มการทดแทนอีกสักระยะว่าประเทศผู้นำเข้าจะใช้แหล่งทางเลือกทดแทนจีน เพื่อกระจายความเสี่ยงอย่างถาวรหรือไม่ ภายหลังโรงงานในจีนกลับมาเปิดทำการตามปกติ นอกจากนี้ การส่งออกสินค้ากลุ่มอาหารก็ขยายตัวได้ดี ตอบสนองแนวโนมความตองการความมั่นคงทางอาหารทามกลางสถานการณโควิด-19 สินคาส่งออกสําคัญ ไดแก ไกสด แช่เย็นและแช่แข็ง (ขยายตัวร้อยละ 28.6) ผักกระปองและแปรรูป (ขยายตัวร้อยละ 11.7) ผลไมกระปองและแปรรูป (ขยายตัวร้อยละ 9.0) สิ่งปรุงรสอาหาร (ขยายตัวร้อยละ 12.1)
ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กล่าวสรุปว่า ในภาพรวม ถือว่าผู้ประกอบการไทยสามารถปรับตัวรองรับสงครามการค้าได้ในระดับหนึ่ง แต่ยังต้องติดตามสถานการณ์และท่าทีระหว่างสหรัฐฯ และจีนอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะขณะนี้ ที่สหรัฐฯ กำลังเข้าสู่ช่วงหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในเดือน พ.ย. 2563 ซึ่งประธานาธิบดีทรัมป์อาจออกนโยบายหรือมาตรการอื่นๆ กับจีนเพิ่มเติมอีก
ทั้งนี้ ข้อมูลการค้าสหรัฐฯ – จีน ในภาพรวม ครอบคลุมสินค้าทุกรายการ (ไม่ใช่เพียงสินค้าภายใต้ข้อตกลงฯ) พบว่า ในไตรมาสแรกของปี 2563 จีนนำเข้าจากสหรัฐฯ เป็นมูลค่า 27,477 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 3.6 เทียบกับไตรมาสแรกของปีที่แล้ว ขณะที่จีนส่งออกไปสหรัฐฯ 68,183 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงถึงร้อยละ 25.1 โดยสหรัฐฯ เป็นฝ่ายขาดดุลการค้าจีน 40,706 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกของปีที่แล้ว พบว่า สหรัฐฯ ขาดดุลการค้ากับจีนลดลงเกือบ 22,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
—————————————————–
สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า
8 พฤษภาคม 2563