แพทย์แผนไทย แนะวิธีดูแลสุขภาพกาย-ใจ ตามศาสตร์แผนไทย ในยุค NEW NORMAL

กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก แนะการดูแลสุขภาพกายด้วยอาหารสมุนไพรที่มีประโยชน์ และดูแลสุขภาพใจ ด้วยการออกกำลังกายที่กำหนดลมหายใจ สามารถช่วยให้ร่างกายแข็งแรง ปราศจากโรคภัย ในยุค NEW NORMAL

นายแพทย์สรรพงศ์ ฤทธิรักษา รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวภายหลังการแถลงข่าวประเด็น “แพทย์แผนไทย แนะวิธีดูแลสุขภาพกาย-ใจ ตามศาสตร์แผนไทย ในยุค NEW NORMAL” ในเวทีแถลงข่าว สถานการณ์โรคไวรัสโควิด – 19 ประจำวันที่ 8 พฤษภาคม 2563 ว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ในประเทศ รัฐบาลออกนโยบาย เพื่อควบคุมการระบาดของโรค ทำให้ประชาชนเกิดวิถีชีวิตปกติแบบใหม่ทางด้านสังคม หรือNEW NORMAL บางคนต้องเปลี่ยนวิถีชีวิตความเป็นอยู่ อาจต้องอยู่ทำงานที่บ้าน (Work from home) มากขึ้น สิ่งที่ตามมา คือ พฤติกรรมการบริโภคอาหารที่ไม่ถูกสุขลักษณะตามหลักโภชนาการ ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดโรค อย่างเช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน  โรคความดันโลหิตสูง เป็นต้น

ในปัจุบันสภาวะแวดล้อม และพฤติกรรมสุขภาพที่ไม่เหมาะสมเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดการ เจ็บป่วย โรคภัยต่างๆ ที่เกิดขึ้นทางร่างกายและจิตใจของคนเราเกิดขึ้นจากการใช้ชีวิตประจำวัน การรับประทานอาหาร และ ความเครียด สิ่งเหล่านี้เป็นตัวแปรที่ทำให้ธาตุทั้ง 4 ในร่างกาย (ดิน น้ำ ลม ไฟ) เกิดความไม่สมดุลจนเจ็บป่วย การใช้ชีวิต slow life ตามแบบแพทย์แผนไทยจึงเป็นเทรนด์ใหม่ต้อนรับวิถี new normal เน้นการใช้ชีวิตติดธรรมชาติ 2 ด้าน คือ ด้านร่างกาย  ควรรับประทานอาหารที่ประกอบด้วย พืชผักสมุนไพรที่ช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันร่างกาย อย่างเช่น เห็ดหอม เห็ดนางฟ้า เห็ดออรินจิ เห็ดหลินจือ เมนูยำเห็ด ต้มยำ ใส่เห็ด  น้ำตรีผลา ซึ่งมีสารสำคัญคือเบต้ากลูแคน กลุ่มผักผลไม้ที่มีวิตามินซีสูง และสารต้านอนุมูลอิสระสูง เช่น ดอกขี้เหล็ก ยอดมะยม ใบเหลียง ยอดสะเดา มะระขี้นก ฟักข้าว ผักเชียงดา คะน้า มะรุม ผักแพว มะขามป้อม หรือมีสารกลุ่มแอนโทไซยานินซึ่งเป็นสารเฟลโวนอยด์ ที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระสูง เช่น ลูกหม่อน และผักผลไม้หลากสี ยังช่วยเสริมการทำงานของเซลล์ในระบบภูมิคุ้มกัน เมนูอาหาร เช่น แกงขี้เหล็ก มะระผัดไข่ ใบเหลียงผัดไข่  น้ำมะนาว กลุ่มที่มีงานวิจัยด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ว่า มีสารสำคัญที่อาจจะมีศักยภาพช่วยลดโอกาสการติดเชื้อ ได้แก่ ผักผลไม้ ที่มีสารเคอร์ซีติน (quercetin) สูง ได้แก่ หอมแดง หอมหัวใหญ่ มะรุม ใบหม่อน แอปเปิล; ผักผลไม้ที่มีสารเฮสเพอริดิน (hesperidin) และรูติน (rutin) สูง ได้แก่ ผิวและเยื่อหุ้มด้านในเปลือกผลของพืชตระกูลส้ม (citrus fruit เช่น ส้ม มะนาว มะกรูด ส้มซ่า), กะเพรา มีโอเรียนทิน (orientin) เป็นสาระสำคัญที่มีศักยภาพในการป้องกันไม่ให้ไวรัสเข้าเซลล์ เมนูอาหารเช่น ต้มจืดกะเพรา ไข่เจียวหอมแดง น้ำส้ม

ทางด้านจิตใจ นอกจากการรับประทานอาหารให้ถูกสุขลักษณะตามศาสตร์การแพทย์แผนไทยแล้ว การออกกำลังกายก็เป็นสิ่งสำคัญ จึงขอแนะนำท่าการออกกำลังกายในเพลง ไทสู่สุข ประยุกต์มาจากท่าฤาษีดัดตน (วัดโพธิ์) โดยกรมการแพทย์  แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก นำมาประยุกต์ใช้ประโยชน์และเรียกขานให้ง่าย ต่อการจดจำ จำนวน 6 ท่า ซึ่งสามารถ  ค้นหาใน YouTube โดยพิมพ์คำว่า “ไทสู่สุข” ท่านก็สามารถฝึกปฏิบัติได้


8 พฤษภาคม 63