วันที่ 1 พฤษภาคม 63 นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต มอบหมายให้ นพ.ณัฐกร จำปาทอง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต และ ผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันการฆ่าตัวตายระดับชาติ ดำเนินการแถลงข่าวเพื่อสื่อสารข้อมูลและความห่วงใยไปยังพี่น้องประชาชนชาวไทยที่กำลังได้รับผลกระทบจากการระบาดของเชื้อโควิด-19 และการเตรียมความพร้อมของหน่วยบริการสาธารณสุขต่อการรับมือกับสถานการณ์ปัญหาการเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายในอนาคต พร้อมเสนอแนะวิธีการดูแลช่วยเหลือตนเองหากพบว่ากำลังอยู่ในความเสี่ยงต่อการทำร้ายตนเอง
นพ.ณัฐกร จำปาทอง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ และศูนย์ป้องกันการฆ่าตัวตายระดับชาติได้ชี้แจ้งการดำเนินงานเพื่อป้องกันปัญหาการฆ่าตัวตายที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น และชี้แจงข้อมูลเพิ่มใน 3 ประเด็น ได้แก่
1. จำนวนตัวเลขผู้เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายปี 2562 จากการรวบรวมโดยเก็บข้อมูลจากมรณบัตร และใบรายงานการตาย พบว่าอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จ เท่ากับ 6.64 ต่อแสนประชากรต่อปี มากกว่าการประมาณการทั่วไปเล็กน้อย ซึ่งค่าเฉลี่ย 10 ปีก่อนหน้านี้จะอยู่ในช่วงระหว่าง 6 – 6.5 ต่อแสนประชากรต่อปี การสูงขึ้นของตัวเลขนี้ของช่วงปีที่แล้วก่อนที่ภาวะโควิดจะระบาด ในขณะนี้ยังมีสาเหตุที่ไม่แน่ชัด แต่มีทิศทางเดียวกับตัวเลขการเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายที่สูงขึ้นในหลายๆประเทศทั่วโลก ที่ได้ประกาศมาในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา เช่น ประเทศอังกฤษ อยู่ที่ 11.4 ต่อแสนประชากร สูงสุดในรอบ 19 ปีที่ผ่านมา และสหรัฐอเมริกาที่ตัวเลขสูงขึ้นทุกปี 13 ปีติดต่อกัน โดยสาเหตุอีกประการหนึ่งของตัวเลขในไทยที่สูงขึ้น อาจสืบเนื่องจากการปรับวิธีการคำนวณตัวเลขของกรมสุขภาพจิตให้มีความถูกต้องแม่นยำมากขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี ตัวเลขข้อมูลเหล่านี้คือความสูญเสียที่กรมสุขภาพจิตไม่อยากให้มีจำนวนสูงขึ้น
2. สำหรับจำนวนตัวเลขผู้เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ กรมสุขภาพจิตมีความห่วงใยและกำลังอยู่ในขั้นตอนการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลและเปรียบเทียบฐานข้อมูลต่างๆ เพื่อให้เกิดความแม่นยำที่สุด โดยปกติแล้วตัวเลขผู้เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายนี้ในประเทศต่าง ๆจะใช้เวลา 3-6 เดือนเพื่อตรวจสอบความถูกต้องแม่นยำ แต่กรมสุขภาพจิตเล็งเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญที่เร่งด่วนและอยู่ในความสนใจของประชาชน จึงจะดำเนินการนำเสนออย่างรวดเร็วที่สุดภายใน 1-2 สัปดาห์ข้างหน้านี้ พร้อมทั้งผลักดันมาตรการให้รายงานข้อมูลการเฝ้าระวังการทำร้ายตนเอง (รง 506S) จากหน่วยบริการทั่วประเทศ ให้เป็นปัจจุบันและรายงานข้อมูลผ่านหน้าเว็บไซต์ของศูนย์ป้องกันการฆ่าตัวตายระดับชาติ กรมสุขภาพจิต
3. สำหรับข้อมูลการประมาณการตัวเลขผู้เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายในปีนี้ซึ่งมีการระบาดของโควิด เป็นอีกหนึ่งข้อมูลสำคัญที่ประชาชนให้ความสนใจ และมีแนวโน้มจะสูงขึ้นมากทั่วโลกจากวิกฤติการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยในขณะนี้กรมสุขภาพจิตกำลังระดมนักวิจัยและนักวิชาการด้านสุขภาพจิต เร่งสร้างการประมาณการด้วยวิธีการที่ให้ความแม่นยำ แต่การประมาณการตัวเลขผู้เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายนั้นเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน เนื่องจากการฆ่าตัวตายเป็นปัญหาที่มีความสลับซับซ้อนอย่างมาก และมีปัจจัยจำนวนมหาศาลที่เกี่ยวข้อง ซึ่งตัวเลขประมาณการณ์นี้กรมสุขภาพจิตจะนำเสนออย่างรวดเร็วที่สุดภายใน 1-2 สัปดาห์ข้างหน้านี้เช่นเดียวกัน
สำหรับการดำเนินงานในขณะนี้ กรมสุขภาพจิตได้จัดทำแผนการฟื้นฟูจิตใจในสถานการณ์การระบาดโรคโควิด ได้แก่ 1) การเพิ่มระดับการเฝ้าระวังสถานการณ์ปัญหาสุขภาพจิต โดยเฉพาะปัญหาการฆ่าตัวตายทั้งจากระบบรายงานและที่ปรากฏเป็นข่าว 2 ) การระบุกลุ่มเสี่ยงผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโรคโควิด 19 ที่เสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย ควบคู่ไปกับการประสานให้แต่ละหน่วยบริการทราบถึงแนวทางการดูแลช่วยเหลือจิตใจ ทั้งการดูแลด้วยกระบวนการบำบัดแบบสั้นและการป้องกันภาวะสุขภาพจิตตามระดับความรุนแรง โดยเฉพาะผู้ที่เสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายในระดับรุนแรงจะต้องได้รับการติดตามเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่องจนปลอดภัย ไม่กลับมาทำร้ายตนเองซ้ำอีก 3) การดำเนินงานเสริมความเข้มแข็งทางใจ ทั้งการสร้างวัคซีนใจบุคคลและการสร้างวัคซีนใจชุมชน ทั้งในกลุ่มเขตเมืองและกลุ่มนอกเขตเมือง ผ่านการใช้กลไก บ้าน วัด โรงเรียน ในการขับเคลื่อนร่วมกัน และสนับสนุนมาตรการเข้มข้นเรื่องการจำกัดการดื่มสุราและการใช้สารเสพติดอื่นๆ
นอกจากนั้นกรมสุขภาพจิตยังดำเนินงานเปิดช่องทางปรึกษาพิเศษสำหรับบุคลากรทางการแพทย์จำนวน 41 เลขหมายทั่วประเทศ เพื่อให้มีสภาพจิตใจที่พร้อมในการดูแลพี่น้องประชาชนต่อไป สำหรับประชาชนทั่วไปสามารถใช้บริการผ่านสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ซึ่งได้มีการเพิ่มคู่สายเป็นจำนวนสองเท่าตั้งแต่ช่วงต้นปีนี้ นอกจากนั้นยังสามารถใช้ช่องทางไลน์แอด“KhuiKun” และแอปพลิเคชั่น “SABAIJAI” เพื่อเข้าถึงความช่วยเหลือที่มากขึ้น
กรมสุขภาพจิตขอแสดงความห่วงใยไปถึงพี่น้องประชาชน เราทุกคนกำลังต้องต่อสู้กับวิกฤตที่รุนแรงอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ตัวเลขการฆ่าตัวตายที่เริ่มสูงขึ้นตั้งแต่ปีก่อน ทำให้เราทุกคนคงต้องตระหนักและหันมามองปัญหาด้านสุขภาพจิตว่าเป็นเรื่องใกล้ตัวของทุกคน กรมสุขภาพจิตเองกำลังทำงานเชิงรุกอย่างเข้มข้นมากขึ้น เพื่อให้เกิดความสูญเสียต่อประชาชนน้อยที่สุด ในขณะเดียวกัน ก็อยากให้พี่น้องประชาชนทุกคนสนใจและดูแลสุขภาพจิตของตัวเอง คนรอบข้าง และครอบครัว รับฟังและเข้าใจซึ่งกันและกัน ช่วยกันดึงพลังแฝงที่มีอยู่ในใจทุกคน ให้ “อึด ฮึด สู้” และผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปด้วยกัน
1 พฤษภาคม 2563