สสส. ห่วงยอดคนไร้บ้านพุ่ง 30% จับมือภาคีเครือข่าย ฝ่าวิกฤติโควิด-19 ช่วยคนจนเมือง จัดตั้งจุดช่วยเหลือในชุมชนแออัด 76 ชุมชน 11 จังหวัด เน้นการพึ่งตนเองอย่างยั่งยืน เสริมระบบป้องกันสุขภาพ ลดผลกระทบทางเศรษฐกิจ

นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) กล่าวว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19ส่งผลกระทบทุกภาคส่วน สำหรับคนไร้บ้านและคนจนเมือง เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ทั้งความเสี่ยงทางสุขภาพและความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ สสส. จึงร่วมกับภาคีเครือข่าย ได้แก่ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ เครือข่ายคนไร้บ้าน และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พัฒนาระบบการป้องกันทางสุขภาพและการลดผลกระทบจากความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ เพราะหากไม่มีรายได้ คนไม่สามารถแบกรับภาระค่าใช้จ่ายค่าที่อยู่อาศัยได้ อาจจำต้องออกมาใช้ชีวิตในพื้นที่สาธารณะ เป็นกลุ่มเสี่ยงที่กลายเป็นคนไร้บ้าน หากไม่มีกลไกหรือมาตรการรองรับ ซึ่งสอดคล้องกับผลการวิจัยที่ สสส. ร่วมกับร่วมกับสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ศึกษาพบว่า จำนวนประชากรคนไร้บ้านมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างน้อยร้อยละ 30

“ปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนไร้บ้านเพิ่มสูงขึ้น มาจากภาวะการว่างงานและเข้าไม่ถึงที่อยู่อาศัย หลังพ้นสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด สสส. จึงร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ องค์กรภาคประชาสังคม และภาควิชาการพัฒนาระบบการป้องกันทางสุขภาพและการลดผลกระทบจากความเสี่ยงทางเศรษฐกิจขึ้นเพื่อรองรับสถานการณ์โควิด-19 โดยในช่วงการแพร่ระบาด มีการช่วยเหลือด้านอุปกรณ์ป้องกัน การตรวจคัดกรอง และความรู้เกี่ยวกับการแพร่ระบาด การจัดครัวกลางแจกจ่ายอาหารสำหรับผู้ได้รับผลกระทบ จัดตั้งจุดช่วยเหลือประสานงานในชุมชนแออัด 76 ชุมชน ใน 11 จังหวัด ส่วนในช่วงฟื้นฟูมีแผนการส่งเสริมการตั้งหลักชีวิต การพึ่งตนเองทางเศรษฐกิจ ส่งเสริมความเข้มแข็งของเครือข่ายคนไร้บ้านและคนจนเมืองให้มีความรู้ ความเข้าใจ เท่าทันต่อสถานการณ์สุขภาพและโรคอุบัติใหม่” นางภรณีกล่าว

นายอุเทน ชนะกุล ผู้อำนวยการกองคุ้มครองสวัสดิภาพและเสริมสร้างคุณภาพชีวิต กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวว่า นับตั้งแต่มีการแพร่ระบาดกรมฯ ได้ร่วมมือกับทาง สสส. และภาคีเครือข่ายภาครัฐ และภาคประชาสังคมพัฒนาจุดบริการเพื่อช่วยเหลือคนจนเมือง คนไร้บ้านในพื้นที่สาธารณะและคนตกงาน 5 จุดในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล นอกจากนี้มีการวางแผนงานในการป้องกันและสนับสนุนช่วยเหลือกลุ่มคนไร้บ้านและคนจนเมืองที่ประสบกับความยากลำบากในการใช้ชีวิต จัดเตรียมสถานที่รองรับสำหรับกลุ่มเปราะบางที่เข้าไม่ถึงสิทธิและทรัพยากรในการป้องกันตนเองจากสถานการณ์โรคระบาด นำร่องในเขตพื้นที่ กทม. เป็นลำดับแรก หากคนไร้บ้านและคนจนเมืองที่ไม่มีที่พักอาศัย และสมัครใจเข้ารับบริการ จะมีการจัดบริการด้านปัจจัย 4 และจัดสถานที่ให้พักชั่วคราว โดยคำนึงถึงการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) หรือการเว้นระยะห่างทางกายภาพ (Physical Distancing) พร้อมทั้งให้คำปรึกษาแนะนำตามกระบวนการทางสังคมสงเคราะห์ โดยไม่มีค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด