1 พ.ค. 2563 8.30 น. นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เมื่อคืนวันที่ 29 เมษายน 2563 ตามเวลาประเทศไทย ผู้แทนการค้าสหรัฐอเมริกา (USTR) ได้ประกาศ สถานะการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศคู่ค้ารายสำคัญ ภายใต้กฎหมายการค้าสหรัฐฯ มาตรา 301 พิเศษ (Special 301) ประจําปี 2563 โดยไทยสามารถรักษาสถานะอยู่ในบัญชีประเทศที่ต้องจับตามอง (Watch List: WL) ได้ต่อไป หลังจากที่สหรัฐฯ ได้ปรับสถานะไทยให้ดีขึ้นจากบัญชีประเทศที่ต้องจับตามองพิเศษ (Priority Watch List: PWL) เป็น WL เมื่อปี 2560 ในการประกาศครั้งนี้ สหรัฐฯ ได้ชื่นชมนโยบายและพัฒนาการด้านการคุ้มครองและป้องปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของไทย โดยเฉพาะการที่รัฐบาลได้กำกับดูแลและติดตามความคืบหน้าการดําเนินงานในเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด ทำให้การประสานงานระหว่างหน่วยงานภาครัฐเป็นไปอย่างราบรื่น และได้ผลอย่างเป็นรูปธรรม
รายงานข่าวระบุว่า ประเทศไทยยังคงดำเนินการพัฒนาระบบทรัพย์สินทางปัญญาอย่างต่อเนื่อง เช่น การเสนอแก้ไขกฎหมายสิทธิบัตร เพื่อปรับปรุงขั้นตอนการจดทะเบียน และเตรียมการเข้าเป็นภาคีความตกลงกรุงเฮกว่าด้วยการจดทะเบียนการออกแบบผลิตภัณฑ์ระหว่างประเทศ การเสนอแก้ไขกฎหมายลิขสิทธิ์ เพื่อตอบรับกับยุคอินเทอร์เน็ตและเตรียมการเข้าเป็นภาคีสนธิสัญญาว่าด้วยลิขสิทธิ์ขององค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก การเพิ่มจำนวนผู้ตรวจสอบสิทธิบัตร การปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาทั้งในท้องตลาดและบนอินเทอร์เน็ต รวมถึงการจัดกิจกรรมรณรงค์และสร้างความตระหนักรู้ด้านทรัพย์สินทางปัญญาในหลากหลายรูปแบบ
อีกทั้งกระทรวงพาณิชย์ยังได้ทำหน้าที่เป็นแกนกลางในการทำความเข้าใจกับภาครัฐและภาคเอกชนต่างประเทศ ทำให้สหรัฐฯ ได้รับทราบถึงนโยบายและการดำเนินการต่างๆ และประเมินสถานะของไทยบนพื้นฐานข้อมูลที่ถูกต้อง อย่างไรก็ดี ในการประเมินครั้งนี้ สหรัฐฯ ยังคงมีการระบุข้อห่วงกังวลเกี่ยวกับการจำหน่ายสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาในบางพื้นที่ โดยเฉพาะตลาดพัฒน์พงษ์ และ www.shopee.co.th สำหรับประเทศที่สหรัฐฯ จัดให้อยู่ในบัญชี PWL ในปีนี้มี 10 ประเทศ ได้แก่ จีน อินโดนีเซีย อินเดีย อัลจีเรีย ซาอุดิอาระเบีย รัสเซีย ยูเครน อาร์เจนตินา ชิลี และเวเนซุเอลา และประเทศที่ถูกจัดให้อยู่ในบัญชี WL มี 23 ประเทศ ได้แก่ เวียดนาม ปากีสถาน เติร์กเมนิสถาน อุซเบกิสถาน อียิปต์ คูเวต เลบานอน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โรมาเนีย ตุรกี บาร์เบโดส โบลิเวีย บราซิล แคนาดา โคลอมเบีย สาธารณรัฐโดมินิกัน เอกวาดอร์ กัวเตมาลา เม็กซิโก ปารากวัย เปรู ตรินิแดดและโตเบโก และไทย
ทางด้านนายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวด้วยว่า ถือว่าน่าพอใจ และในฐานะที่กำกับดูแลกรมทรัพย์สินทางปัญญา ขอขอบคุณหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคที่ร่วมแรงร่วมใจในการทำงานอย่างหนักมาโดยตลอด อาทิ กอ.รมน. สำนักงานตำรวจ แห่งชาติ กองทัพบก กองทัพเรือ กรมทรัพย์สินทางปัญญา กรมศุลกากร กรมสอบสวนคดีพิเศษ กรมสรรพากร กรมประชาสัมพันธ์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงาน กสทช. สำนักงาน ปปง. และสำนักงาน อย. เป็นต้น และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าทุกหน่วยงานจะร่วมมือกันเช่นนี้ต่อไป เพื่อรักษาสถานะผลการจัดสถานะของไทยไว้ในบัญชี WL หรือผลักดันให้ไทยหลุดจากทุกบัญชีในอนาคต ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐบาลให้ความสาคัญ
และการที่ไทยมุ่งมั่นพัฒนาระบบทรัพย์สินทางปัญญาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขกฎหมาย การเพิ่มประสิทธิภาพในการคุ้มครองและป้องปรามการละเมิด รวมทั้งการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคเอกชน นอกจากจะส่งผลให้ไทยสามารถรักษาสถานะในบัญชี WL ไว้ได้แล้ว ยังเป็นการเสริมสร้างความเชื่อมั่นด้านการค้า การลงทุน และเสริมสร้างแรงจูงใจให้คนไทยเข้าสู่ระบบการคุ้มครองและใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินทางปัญญามากยิ่งขึ้น ตลอดจนสร้างความเข้มแข็งด้านนวัตกรรมและการสร้างสรรค์ของไทย และเพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขันของประเทศ ซึ่งมีส่วนสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้กลับมาฟื้นตัวและเติบโตขึ้นต่อไปโดยเร็ว โดยเฉพาะช่วงหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) ซึ่งทุกฝ่ายจะต้องเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับ New Normal ทรัพย์สินทางปัญญาจะยิ่งมีบทบาทสำคัญในเชิงเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุน และเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของทุกคนมากขึ้นเรื่อยๆ
—————————————
กรมทรัพย์สินทางปัญญา
กระทรวงพาณิชย์