นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำทั้งประเทศ (ข้อมูล ณ วันที่ 29 เม.ย. 63) ว่า สภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศจำนวน 447 แห่ง มีปริมาณน้ำในอ่างฯ รวมกันทั้งสิ้น 35,574 ล้าน ลบ.ม. (47% ของความจุอ่างฯ) ปริมาณน้ำใช้การได้ 11,891 ล้าน ลบ.ม. (23% ของความจุน้ำใช้การ) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีปริมาณน้ำใช้การน้อยกว่าหรือเท่ากับ 30% ของความจุอ่าง จำนวน 25 แห่ง คือ ภูมิพล สิริกิติ์ แม่งัดสมบูรณ์ชล แม่กวงอุดมธารา กิ่วคอหมา แควน้อยบำรุงแดน แม่มอก ห้วยหลวง จุฬาภรณ์ อุบลรัตน์ ลำตะคอง ลำพระเพลิง มูลบน ลำแชะ ลำนางรอง สิรินธร ป่าสักชลสิทธิ์ ทับเสลา กระเสียว วชิราลงกรณ์ ขุนด่านปราการชล คลองสียัด บางพระ หนองปลาไหล และประแสร์
สถานการณ์น้ำใน 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล สิริกิติ์ แควน้อยฯ และป่าสักฯ) ปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 8,684 ล้าน ลบ.ม. (35% ของความจุอ่างฯ) เป็นปริมาณน้ำใช้การได้ 1,988 ล้าน ลบ.ม. (11% ของความจุน้ำใช้การ)
ผลการจัดสรรน้ำฤดูแล้งปี 2562/63
- ทั้งประเทศ แผนการจัดสรรน้ำ 17,699 ล้าน ลบ.ม. จัดสรรน้ำไปแล้ว 16,873 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 95
- เจ้าพระยา แผนการจัดสรรน้ำ 4,500 ล้าน ลบ.ม. จัดสรรน้ำไปแล้ว 4,544 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 101
แผน-ผลการเพาะปลูกข้าวนาปรังปี 2562/63 ในเขตชลประทาน (ข้อมูล ณ วันที่ 22 เม.ย.63)
- ทั้งประเทศ แผนเพาะปลูกข้าวนาปรัง 2.31 ล้านไร่ เพาะปลูกแล้ว 4.21 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 182.11 ของแผนฯ เก็บเกี่ยวแล้ว 2.79 ล้านไร่
- ลุ่มน้ำเจ้าพระยา แผนเพาะปลูกข้าวนาปรัง – ล้านไร่ (รณรงค์งดทำนาต่อเนื่องฤดูแล้ง ปี 2562/63) เพาะปลูกแล้ว 1.98 ล้านไร่ เก็บเกี่ยวแล้ว 1.81 ล้านไร่
คุณภาพน้ำ วันที่ 29 เม.ย.63 เวลา 05.00 น. : แม่น้ำเจ้าพระยา สถานีประปาสำแล จ.ปทุมธานี (สูงกว่าเกณฑ์เฝ้าระวัง) ท่าน้ำนนทบุรี จ.นนทบุรี (สูงกว่าเกณฑ์เฝ้าระวัง) ทั้งนี้ กรมชลประทานได้บริหารจัดการน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาความเค็ม โดยทำการผันน้ำบางส่วนจากแม่น้ำแม่กลองมายังแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำบางปะกง สถานีปราจีนบุรี (ปกติ) แม่น้ำท่าจีน สถานีปากคลองจินดา (ปกติ) และแม่น้ำแม่กลอง สถานีปากคลองดำเนินสะดวก (ปกติ)
จังหวัดที่มีการประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) ตั้งแต่วันที่ 17 ตุลาคม 2562 จำนวน 26 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ พะเยา น่าน อุตรดิตถ์ สุโขทัย เพชรบูรณ์ หนองคาย บึงกาฬ นครพนม สกลนคร กาฬสินธุ์ มหาสารคาม นครราชสีมา บุรีรัมย์ ชัยภูมิ ศรีสะเกษ นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท กาญจนบุรี สุพรรณบุรี ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี จันทบุรี และสงขลา รวมทั้งสิ้น 152 อำเภอ 810 ตำบล 7,086 หมู่บ้าน/ชุมชน 4 เทศบาล (ข้อมูลจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ณ วันที่ 28 เม.ย. 63)
กิจกรรมและการให้ความช่วยเหลือของศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจแก้ไขและบรรเทาวิกฤตภัยแล้งฯ
- สำนักงานชลประทานที่ 8 ดำเนินการนำรถบรรทุกน้ำขนาด 6,000 ลิตร แจกจ่ายน้ำ จำนวน 4 เที่ยว รวมปริมาณน้ำ 24,000 ลิตร เพื่อช่วยเหลือประชาชน ๕ หมู่บ้าน จำนวน ๖๔๙ ครัวเรือน ในเขตพื้นที่ตำบลด่านใน อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา
- โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาป่าสักชลสิทธิ์ สำนักงานชลประทานที่ 10 ลงพื้นที่ประชาสัมพันธ์แผนการส่งน้ำฤดูฝน ปี ๒๕๖๓ (นาปี) ให้กลุ่มบริหารการใช้น้ำชลประทานในพื้นที่ เพื่อให้เกษตรกรตระหนักถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นหากมีการทำนาปี ในช่วงเวลานี้ พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ทราบถึงการใช้น้ำในการทำการเกษตร ควรทำนาปีเมื่อกรมอุตุนิยมวิทยาประกาศเข้าสู่ฤดูฝน มีฝนตกสม่ำเสมอ และมีน้ำในพื้นที่เพียงพอต่อการเตรียมแปลงและปลูกข้าว
เพื่อหลีกเลี่ยงความเสียหายที่จะเกิดขึ้นในอนาคตหากน้ำไม่เพียงพอ ในเขตพื้นที่ตำบลทุ่งท่าช้าง ตำบลนิยมชัย ตำบลสระโบสถ์ อำเภอสระโบสถ์ จังหวัดลพบุรี - โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาพระยาบรรลือ สำนักงานชลประทานที่ 11 ดำเนินการกำจัดวัชพืชและผักตบชวา ณ สพานคลองญี่ปุ่นใต้ หมู่ที่ 8 ตําบลบัวปากท่า อําเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม เป็นการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนเรื่องน้ำให้กับประชาชนและเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ
- โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาบรมธาตุ สำนักงานชลประทานที่ 12 ดำเนินการกำจัดผักตบชวาและวัชพืชต่างๆ ในแม่น้ำน้อยเขตพื้นที่ อ.สรรคบุรี จ.ชัยนาท ช่วงกม.ที่ 34+000 ถึง กม.37+800 โดยได้รับความอนุเคราะห์จากฝ่ายเครื่องจักรกลรถขุดที่ 5 ส่วนบริหารเครื่องจักรกลที่ 5 สำนักเครื่องจักรกล นำรถแบล็คโฮลงโป๊ะเข้าดำเนินการเพื่อลดการแพร่กระจายตัวของผักตบชวาและเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำก่อนฤดูฝน
- โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาผักไห่ สำนักงานชลประทานที่ 12 ส่งหนังสือแจ้งประชาสัมพันธ์กำหนดการเพาะปลูกพืชฤดูฝน ปี 2563 ให้แก่หน่วยงานราชการ องค์การบริหารงานส่วนท้องถิ่น และเกษตรอำเภอในเขตพื้นที่ที่รับผิดชอบ เพื่อเป็นการสร้างการรับรู้ให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เกษตรกรและผู้ใช้น้ำทุกภาคส่วนทราบสถานการณ์น้ำและกำหนดการเพาะปลูกพืชฤดูฝน ปี 2563 ลุ่มเจ้าพระยาในพื้นที่ลุ่มต่ำและพื้นที่ดอนให้เริ่มการเพาะปลูกข้าวนาปี 2563 เมื่อกรมอุตุนิยมวิทยาประกาศเข้าสู่ฤดูฝน มีปริมาณฝนตกอย่างสม่ำเสมอและมีน้ำเพียงพอต่อการทำนา
- ส่วนบริหารเครื่องจักรกลที่ 7 สำนักเครื่องจักรกล นำเครื่องจักรกลประเภท รถขุดไฮดรอลิคตีนตะขาบ ชนิดบุ้งกี๋ ตักเข้า แขนยาว จำนวน 2 คัน ดำเนินการขุดลอกตะกอนดินบริเวณคลองบ้านโพธิ์ในพื้นที่ตำบลพังยาง อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา ทำให้มีปริมาณน้ำไหลผ่านในคลองบ้านโพธิ์มากขึ้นซึ่งสามารถช่วยเหลือให้ประชาชนในพื้นที่มีน้ำใช้ในการทำการเกษตรได้เพียงพอ