สธ.พัฒนาห้องปฏิบัติการการแพทย์และสาธารณสุขไทยทั้งภาครัฐและเอกชนผ่านมาตรฐานสากล

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ร่วมพัฒนายกระดับคุณภาพห้องปฏิบัติการด้านการแพทย์และสาธารณสุขทั้งภาครัฐและเอกชนของประเทศให้มีศักยภาพในการตรวจวินิจฉัยโรคและสุขภาพสูงมากขึ้น เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการที่มีคุณภาพ และเพิ่มโอกาสการแข่งขันในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ตามยุทธศาสตร์ความปลอดภัย  ด้านการแพทย์และผลิตภัณฑ์สุขภาพ

 

นายแพทย์ธวัช สุนทราจารย์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การยกระดับคุณภาพและศักยภาพห้องปฏิบัติการด้านการแพทย์และสาธารณสุข มีความสำคัญต่อระบบบริการสุขภาพ เพราะผลการตรวจ          ทางห้องปฏิบัติการที่มีความถูกต้องและได้รับความน่าเชื่อถือจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการดูแลรักษาผู้ป่วย  รวมทั้งการควบคุม ป้องกันโรค การส่งเสริมสุขภาพและสุขอนามัยของประชาชน ซึ่งจะเป็นข้อมูลเชิงยุทธศาสตร์เพื่อกำหนดนโยบายความปลอดภัยทั้งด้านการแพทย์และผลิตภัณฑ์สุขภาพของประเทศไทย อาทิ อาหาร ยา เครื่องสำอาง สมุนไพร วัตถุอันตรายทางด้านสาธารณสุข และผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ เพื่อผลักดันให้ห้องปฏิบัติการทั้งภาครัฐและเอกชน ของประเทศไทยมีความพร้อมในการจัดบริการสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub and Wellness) ที่มีขีดความสามารถ ในการแข่งขันและสามารถสร้างประโยชน์สุขให้แก่คนในชาติ ทั้งด้านคุณภาพชีวิต สังคมที่ดี และเศรษฐกิจที่เติบโต อย่างเข้มแข็ง เพื่อความพร้อมในการก้าวสู่ Thailand 4.0 สามารถสร้างการยอมรับในระดับเดียวกันกับประเทศอื่นๆ  ทั่วโลก เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมและเพิ่มโอกาสการแข่งขันในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ

นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์  มีบทบาทสำคัญในการยกระดับคุณภาพและศักยภาพของห้องปฏิบัติการด้านการแพทย์และสาธารณสุข ด้านการทดสอบความชำนาญและรับรองมาตรฐานห้องปฏิบัติการ โดยการส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพห้องปฏิบัติการ ประเมินคุณภาพ การตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ และการให้การรับรองห้องปฏิบัติการด้านการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อให้ห้องปฏิบัติการทางการแพทย์และสาธารณสุขทั้งภาครัฐและเอกชนของประเทศมีคุณภาพมาตรฐานสากล ดังนั้นเพื่อเชิดชูหน่วยงานที่มีผลงานตามเกณฑ์คุณภาพมาตรฐาน กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จึงได้จัดงานมหกรรมคุณภาพกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ “Smart Quality 4.0” ซึ่งในปีนี้มีผู้ได้รับรางวัลความเป็นเลิศคุณภาพห้องปฏิบัติการ ทางการแพทย์และสาธารณสุขจำนวน 56 แห่ง โดยหน่วยงานที่ได้รับการรับรองมาตรฐานสากล (ISO 15189, ISO/IEC 17025, ISO 22870-POCT, ISO 17034 –RMP, OECD-GLP) จำนวน 26 หน่วยงาน หน่วยงานที่ได้รับการรับรองมาตรฐานระดับประเทศ (ห้องปฏิบัติการของสถานพยาบาลตรวจสุขภาพคนหางานที่จะไปต่างประเทศ และห้องปฏิบัติการระบบตรวจสอบสารพิษตกค้างในผักสด-ผลไม้สด) จำนวน 4 หน่วยงาน และหน่วยงานที่ได้รับรางวัลความเป็นเลิศคุณภาพห้องปฏิบัติการการทดสอบความชำนาญด้านๆต่าง ได้แก่ อาหาร เครื่องสำอาง ยาเสพติด พิษวิทยา พยาธิวิทยาคลินิก และกลุ่มศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ จำนวน 26 หน่วยงาน

“การจัดงานครั้งนี้เพื่อเชิดชูเกียรติห้องปฏิบัติการทั้งภาครัฐและเอกชน ที่มีการพัฒนาและรักษาระบบบริหารคุณภาพตามมาตรฐานระดับสากล จนได้รับการรับรองความสามารถและมีการธำรงรักษาระบบคุณภาพอย่างมีประสิทธิภาพ ถือเป็นแบบอย่างที่ดีในความตั้งใจ ความมุ่งมั่น และความเสียสละของบุคลากรในหน่วยงานทางห้องปฏิบัติการ เพื่อสร้างแรงจูงใจให้แก่ห้องปฏิบัติการอื่นๆให้มีการพัฒนาศักยภาพเพื่อก้าวทันต่อการเปลี่ยน ประเทศไทยสู่ยุค 4.0 รวมทั้งเป็นเวที ให้หน่วยงานและเครือข่ายที่เกี่ยวข้องได้แลกเปลี่ยนความรู้ประสบการณ์และข้อคิดเห็นเพื่อพัฒนางานให้มีประสิทธิภาพ มากยิ่งขึ้น” อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าว

***********************************