“หม่อมเต่า”ห่วงคนงานไทยกระทบโควิดกำชับทูตแรงงานติดตามสถานการณ์และช่วยเหลือเต็มที่

รมว.แรงงาน ห่วงใยแรงงานไทยที่ทำงานอยู่ในต่างประเทศอย่างถูกต้องตามกฎหมายทั้ง 205,522 คน กำชับทูตแรงงาน 11 แห่ง ที่อยู่ในพื้นที่รับผิดชอบดูแลของกระทรวงแรงงาน ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด หากคนงานไทยได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ที่มีการแพร่ระบาดไปทั่วโลก จะต้องให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่

หม่อมราชวงศ์จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ยังมีความรุนแรงอยู่ในขณะนี้และได้รับผลกระทบไปทั่วโลก ส่งผลให้สถานประกอบการหลายแห่งในแต่ละประเทศต้องเลิกจ้างลูกจ้างหรือปิดกิจการลง ซึ่งแรงงานไทยที่ไปทำงานในต่างประเทศได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าวไปด้วย ในส่วนของกระทรวงแรงงานมิได้นิ่งนอนใจ ได้สั่งการและกำชับให้ทูตแรงงานทั้ง 11 แห่ง ได้แก่ สาธารณรัฐเกาหลี ญี่ปุ่น ฮ่องกง ไต้หวัน (ไทเปและเกาสง) สิงคโปร์ มาเลเซีย บรูไน ซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และอิสราเอล ซึ่งปัจจุบันมีแรงงานไทยที่ทำงานถูกกฎหมายอยู่ประมาณ 205,522 คน (ข้อมูล ณ เดือนมีนาคม 2563) ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งให้ความช่วยเหลือคนงานไทยที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 จากมาตรการของประเทศต่าง ๆ อย่างเต็มที่ ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงแรงงานได้ให้ความช่วยเหลือแรงงานไทยในด้านต่าง ๆ แล้ว ดังนี้

• • จ่ายเงินกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานต่างประเทศ ช่วยเหลือแรงงานที่ถูกนายจ้างเลิกจ้างหรือที่หมดสัญญาจ้างและต้องเดินทางกลับ แต่ยังกลับไทยไม่ได้ เนื่องจากมีมาตรการห้ามเครื่องบินเข้าไทยถึง 31 พฤษภาคม 2563 ซึ่งขณะนี้กระทรวงฯ ได้จ่ายเงินช่วยเหลือไปแล้ว รวมจำนวน 18 ราย ซึ่งทำงานในเกาหลี 16 ราย และซาอุดีอาระเบีย 2 ราย รายละประมาณ 4,000 – 12,000 บาท โดยจ่ายเป็นค่าพาหนะ ค่าที่พัก ค่าอาหาร ค่ารักษาพยาบาล และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่จำเป็น ระหว่างที่อยู่ในต่างประเทศ (โดยจ่ายตามจริงรายละไม่เกิน 30,000 บาท)

• ประสานงานกับนายจ้างหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ช่วยต่อวีซ่าให้แก่แรงงานหรือผู้ฝึกงานที่ครบสัญญาแต่ยังกลับไม่ได้ หรือหากไม่ได้รับการต่อวีซ่า จะประสานให้นายจ้าง/บริษัทจัดหางานช่วยดูแลแรงงานระหว่างรอกลับประเทศ โดยระหว่างนี้ห้ามทำงานเนื่องจากผิดกฎหมาย

• ให้ความช่วยเหลือแรงงานที่ถูกนายจ้างให้ออกจากงานเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 โดยประสานนายจ้างหรือบริษัทจัดหางานในประเทศนั้นๆ ช่วยหานายจ้างรายใหม่ เพื่อให้แรงงานไทยมีงานทำต่อเนื่อง มีที่พัก และค่าอาหาร

• ในกรณีที่แรงงานยังไม่หมดสัญญาจ้าง แต่บริษัทต้องปิดกิจการ สำนักงานแรงงานไทยในต่างประเทศ จะประสานให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างตามที่ระบุในสัญญาจ้าง หรือตกลงกันเรื่องการปรับลดค่าจ้าง ปรับเป็นค่าจ้างรายวัน หรือการลาโดยไม่ได้รับค่าจ้าง โดยขอให้ดูแลลูกจ้างและพำนักในที่พักเดิมก่อน

• ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อรวบรวมรายชื่อแรงงานไทยที่จำเป็นหรือประสงค์จะกลับเมืองไทย ซึ่งได้ให้ความช่วยเหลือกลับไทยแล้วจำนวน 838 คน

• มีการประชาสัมพันธ์มาตรการต่าง ๆ ของประเทศไทยและของสถานเอกอัครราชทูตไทยในประเทศนั้น ๆ ในการป้องกันโรคโควิด-19 ให้คำแนะนำในการสวมหน้ากาก ใช้เจลแอลกอฮอล์ ทั้งนี้ ในกรณีที่มีแรงงานพำนักในพื้นที่เสี่ยงหรือประสบปัญหาจากโรคโควิด-19 จะให้ความช่วยเหลือผ่านสถานเอกอัครราชทูตไทย โดยจัดส่งถุงยังชีพ หรือแจกข้าวสารเพื่อให้สามารถดำรงชีพต่อไปได้

“แรงงานไทยท่านใดที่ประสบปัญหาและต้องการขอความช่วยเหลือสามารถติดต่อกับสำนักงานแรงงานไทยในต่างประเทศ (สนร.) ได้ทั้ง 11 แห่ง หากญาติหรือครอบครัวของแรงงานที่อยู่ในประเทศไทยได้รับการประสานขอความช่วยเหลือ ขอให้แจ้งไปที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 5 หรือติดต่อสำนักประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน โทรศัพท์ 02 232 1242 หรือสำนักงานแรงงานจังหวัดทุกจังหวัด เพื่อจะได้ดำเนินการให้ความช่วยเหลือต่อไป” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวในท้ายที่สุด