“ดีป้า” จับมือ “ไอบีเอ็ม ประเทศไทย” นำเสนอ 4 โซลูชันฮอต อำนวยความสะดวกในการทำงานและให้บริการด้านดิจิทัล ตอบโจทย์ Work From Home ช่วงสถานการณ์ COVID-19

25 เมษายน 2563, อาคารดีป้า ลาดพร้าวกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดย สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล จับมือ ไอบีเอ็ม ประเทศไทย นำเสนอ 4 โซลูชัน ตอบโจทย์ Work From Home พร้อมอำนวยความสะดวกในการทำงานและให้บริการด้านดิจิทัล ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 สามารถทดลองใช้ฟรี 90 วันได้แล้ววันนี้

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ส่งผลกระทบต่อการเดินทาง และกิจวัตรประจำวันของประชาชน รวมถึงการดำเนินธุรกิจ และการติดต่อสื่อสาร จนทำให้พฤติกรรมการทำงานในช่วงนี้เปลี่ยนไปสู่โหมด Work From Home

โดย นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เล็งเห็นปัญหาที่เกิดขึ้น และพร้อมสนับสนุนมาตรการ “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” ของรัฐบาล จึงได้มอบหมายให้ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า ดำเนินมาตรการช่วยเหลือในมิติต่าง ๆ เพื่อเยียวยาทุกภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบ ควบคู่ไปกับการเร่งหาแนวทางเพิ่มเติม เพื่อให้บริการประชาชนที่ต้อง Work From Home สามารถทำงานได้อย่างสะดวกและราบรื่น

ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า เปิดเผยว่า ขณะนี้ ดีป้า ได้ร่วมมือกับพันธมิตรอย่าง บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด ผู้ให้บริการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและโทรคมนาคมชั้นนำของประเทศ เปิดตัวแคมเปญ “IBM helps Thailand for COVID-19 Fighting” พร้อมนำเสนอโซลูชัน เพื่อเป็นเครื่องมืออำนวยความสะดวกในการทำงานช่วง Work From Home แก่บุคลากรในองค์กรต่าง ๆ รวมถึงผู้ที่ทำงานในสายงานดิจิทัล และผู้สนใจ

ด้าน นางสาวปฐมา จันทรักษ์ รองประธานด้านการขยายธุรกิจในกลุ่มประเทศอินโดจีนและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ไอบีเอ็ม ประเทศไทย กล่าวว่า ไอบีเอ็มมีความยินดีที่ได้มีโอกาสนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) และ Cloud ที่มีมาตรฐานความปลอดภัยระดับโลกเข้ามาสนับสนุนมาตรการของภาครัฐ เพื่อช่วยให้ประชาชนที่ต้อง Work From Home สามารถทำงานได้อย่างสะดวกและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

อีกทั้งช่วยให้ภาคธุรกิจสามารถเดินหน้าได้อย่างไม่มีสะดุดแม้ในสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งโซลูชันต่าง ๆ ประกอบด้วย IBM Cloud Event Management, IBM Maas360, IBM Enterprise Video Streaming และ Aspera File Transfer สามารถทดลองใช้งานโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ภายในระยะเวลา 90 วันได้แล้ววันนี้

สำหรับคุณสมบัติของโซลูชันต่าง ๆ จาก ไอบีเอ็ม ประเทศไทย ประกอบด้วย

IBM Cloud Event Management

  • ตัวช่วยของฝ่าย IT และทีม DevOps ในการจัดลำดับเหตุการณ์สำคัญ และเหตุการณ์ต่าง ๆ
  • รองรับได้ถึง 20,000 เหตุการณ์ต่อเดือน
  • บริการแจ้งเตือนอัตโนมัติบน IBM Cloud
  • รองรับการแจ้งเตือน 1,000 ข้อความผ่านช่องทางต่าง ๆ
  • มีไอเทม Runbook อัตโนมัติ 1,000 รายการ
  • เก็บข้อมูลบน IBM Cloud ที่รักษาความปลอดภัยของข้อมูลสูงสุด และให้สิทธิ์เข้าถึงเฉพาะผู้ใช้เท่านั้น
  • สามารถทำงานร่วมกับ Cloud อื่น ๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็น VMware, GCp, AWS, AZURE ฯลฯ

IBM MaaS360

  • ตัวช่วยควบคุมและจัดการอุปกรณ์เคลื่อนที่ให้สามารถทำงานได้ตามที่องค์กรต้องการ
  • ช่วยปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงาน
  • ควบคุมการใช้อุปกรณ์ให้มีประสิทธิภาพ
  • รับประกันความปลอดภัยของข้อมูล

IBM Enterprise Video Streaming

  • Live ที่ไหน ชัดที่นั่น
  • สามารถเลือกผู้รับชมและรับชมย้อนหลังได้
  • ตรวจสอบคุณภาพของสัญญาณได้
  • มีระบบจัดคิวคำถาม และทำโพลแบบ Real-Time
  • IBM Watson แปลงเสียงเป็นคำพูด และทำ Image Recognition เก็บข้อมูลภาพและเสียงเพื่อวิเคราะห์
  • เหมาะกับสถาบันการศึกษา งานสื่อสารองค์กร งานเปิดตัวผลิตภัณฑ์ และงานประชุม สัมมนา

Aspera File Transfer

  • ส่งไฟล์ขึ้น Cloud เร็วขึ้นสูงสุด 100 เท่า เพราะมีการสรรหาเส้นทางส่งไฟล์ให้เร็วที่สุด
  • ควบคุมสิทธิ์การใช้งาน และตรวจสอบกิจกรรมทั้งหมดได้
  • เพิ่มผู้ร่วมงาน เพื่อให้ผู้ใช้งานเข้าถึงไฟล์เวอร์ชันล่าสุดในโฟลเดอร์ที่แชร์กัน
  • ปลอดภัยและได้มาตรฐาน

นอกจากนี้ ดีป้า และ ไอบีเอ็ม ประเทศไทย ยังได้ร่วมกันพัฒนาระบบ Watson Assistant for Citizens (AI) โดยมีวัตถุประสงค์ให้ชาวต่างชาติที่อยู่ในประเทศไทยสามารถสอบถาม ค้นหาข้อมูลต่าง ๆ และรับคำแนะนำเกี่ยวกับ COVID-19 เป็นภาษาอังกฤษ อาทิ แนวทางการป้องกัน การรักษา การกักตัว สถานที่ตรวจหาโรค ข้อกำหนดการเดินทาง ตลอดจนประกาศ/คำสั่งของรัฐบาลไทยจากหลากหลายแหล่ง เช่น ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาด COVID-19 กรมควบคุมโรค สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข องค์การอนามัยโลก ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐอเมริกาที่สามารถให้ข้อมูลได้อย่างแม่นยำและเชื่อถือได้ ซึ่ง ไอบีเอ็ม ประเทศไทย มีความพร้อมที่จะพัฒนาระบบต่อเนื่องในอนาคต