สธ.เชิญชวนผู้ป่วยโรคเรื้อรังรักษาทางไกล ผ่านวิดีโอคอล

กระทรวงสาธารณสุข เชิญชวนผู้ป่วยโรคเรื้อรังลงทะเบียนรักษาทางไกลผ่านระบบวิดีโอ ทางไลน์/ Skype และรับยาทางไปรษณีย์ นำร่องกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรังอาการคงที่ที่รักษาต่อเนื่องในโรงพยาบาล

วันที่ 24 เมษายน 2563 ที่ศูนย์ปฏิบัติการด้านข่าวโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จังหวัดนนทบุรี นายแพทย์ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า  ในช่วงสถานการณ์ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด 19) กรมการแพทย์ได้ปรับรูปแบบการจัดบริการทางการแพทย์ เพื่อลดความแออัดในโรงพยาบาล ลดการแพร่กระจายเชื้อ เป็นระบบบริการแบบใหม่ (New Normal Medical Services) ที่เป็นทางเลือกในการรับการรักษาต่อไป ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกแก่ผู้ป่วย ไม่ต้องเสียเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทาง เพิ่มการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing)

โดยโรงพยาบาลในสังกัดกรมการแพทย์ได้จัดระบบการรักษาทางไกลผ่านระบบวิดีโอ (Tele Consult/ Video call) และให้บริการส่งยาทางไปรษณีย์ทุกสิทธิการรักษา นำร่องในกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรัง อาทิ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง มะเร็ง โรคทางระบบประสาท กระดูก ที่มีประวัติการรักษาที่โรงพยาบาลนั้นๆ ดำเนินการแล้ว 27 แห่งทั่วประเทศ ขณะนี้ เริ่มมีผู้รับการรักษาทางไกลผ่านระบบวิดีโอแล้ว 4,316 คน เฉลี่ย 200 คนต่อวัน และส่งยาทางไปรษณีย์ 6,717 คน เฉลี่ย 313 คนต่อวัน จะขยายบริการให้ครอบคลุมทุกสถานพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ทั้งแผนกและกลุ่มโรค เชื่อมโยงข้อมูลการรักษาระหว่างโรงพยาบาลและข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ป่วย (Personal Health Record) พัฒนาไปสู่ระบบการส่งต่อและให้คำปรึกษาโดยผู้เชี่ยวชาญ (Consult)

นายแพทย์ณัฐพงศ์กล่าวต่อว่า ในการรับบริการ ผู้ป่วยโรคเรื้อรังลงทะเบียนห้องตรวจ เพื่อแจ้งความจำนงรักษาทางไกลในการรักษาครั้งต่อไป ซึ่งผู้ป่วยหรือญาติสามารถใช้ Smart phone ในการสื่อสารกับเจ้าหน้าที่ได้ ทางโรงพยาบาลจะพิจารณาจากประวัติการรักษาผู้ป่วย หากมีอาการทั่วไปดี ผลการตรวจล่าสุดคงที่ จะนัดวันและเวลาการรักษาทางไกลผ่านระบบวิดีโอ เพื่อรับการตรวจและปรึกษากับแพทย์ทางไลน์ หรือ Skype และส่งยาให้ทางไปรษณีย์ แต่หากผู้ป่วยรายใดมีอาการแย่ลง หรือเจ็บป่วยรุนแรงฉุกเฉินสามารถรับการรักษาที่ห้องฉุกเฉินได้ตลอด 24 ชั่วโมง

ทั้งนี้ ระบบบริการทางการแพทย์แบบใหม่ (New Normal Medical Services) เป็นระบบบริการใหม่ตามความจำเป็นของแต่ละบุคคล สนับสนุนการดูแลตนเองผ่าน Application และสื่อ มีระบบข้อมูลด้านสุขภาพและการส่งต่อผู้ป่วยที่เชื่อมโยงกัน นำระบบ IT มาใช้เพื่อให้เข้าถึงบริการง่ายขึ้น สะดวกรวดเร็วขึ้น อำนวยความสะดวกประชาชน อาทิ การตรวจทางห้องปฏิบัติการแบบ drive thru การรับยาร้านยาใกล้บ้าน การส่งยาทางไปรษณีย์ การปรึกษาทางไกล เป็นต้น มีการบริหารจัดการเตียงร่วมกันระหว่างหน่วยบริการ และเพิ่มประสิทธิภาพระบบการป้องกันการติดเชื้อในสถานพยาบาล

 


24 เมษายน 2563