นายสุพพัต อ่องแสงคุณ โฆษกกระทรวงพาณิชย์และศูนย์ปฏิบัติการด้านการควบคุมสินค้า (ศปส) ฝ่ายสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์ เปิดเผยถึงผลการปฏิบัติการกรณีสินค้าอุปโภคบริโภคและเวชภัณฑ์ของกระทรวงพาณิชย์ว่า ณ วันที่ 22 เม.ย.2563 ที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการจับกุมผู้กระทำความผิดตามพ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 สามารถจับกุมผู้กระทำความผิดกรณีหน้ากากอนามัย เจลล้างมือและแอลกอฮอล์ เพิ่มอีก 8 ราย ดังนี้
กรุงเทพฯ 2 ราย โดยทำการล่อซื้อและจับกุมผู้จำหน่ายหน้ากากอนามัยผ่านทางเฟซบุ๊ก 1 ราย พบจำหน่ายหน้ากากอนามัย บรรจุกล่องละ 50 ชิ้น ในราคากล่องละ 575 บาท (เฉลี่ยชิ้นละ 11.50 บาท) จำนวน 119 กล่อง รวม 5,950 ชิ้น และร้านค้าจำหน่ายหน้ากากอนามัยผ่านทางแอปพลิเคชั่นไลน์ อีก 1 ราย จำหน่ายหน้ากากอนามัยบรรจุกล่องละ 50 ชิ้น ในราคากล่องละ 700 บาท (เฉลี่ยชิ้นละ 14 บาท) รวม 30,000 ชิ้น แจ้งข้อหากระทำความผิดจำหน่ายหน้ากากอนามัยสูงกว่าราคาที่กำหนด และราคาสูงเกินสมควร ตามมาตรา 25 (1) และมาตรา 29
ต่างจังหวัด 6 ราย แยกเป็นการกระทำความผิด ดังนี้
– กระทำความผิดตามมาตรา 28 ข้อหาจำหน่ายเจลแอลกอฮอล์โดยไม่ปิดป้ายแสดง ราคาขาย จำนวน 1 ราย เป็นร้านค้าแผงลอย ในจังหวัดนครสวรรค์
– กระทำความผิดตามมาตรา 29 ข้อหาจำหน่ายหน้ากากอนามัยในราคาสูงเกินสมควร โดยเจ้าหน้าที่ทำการล่อซื้อและจับกุมผู้จำหน่ายหน้ากากอนามัยผ่านทางเฟซบุ๊ก จำนวน 4 ราย ได้แก่ จังหวัดชลบุรี 1 ราย พบจำหน่ายหน้ากากอนามัย บรรจุกล่องละ 50 ชิ้น ในราคากล่องละ 590 บาท (เฉลี่ยชิ้นละ 11.80 บาท) จังหวัดนครสวรรค์ 1 ราย พบจำหน่ายหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ บรรจุกล่องละ 50 ชิ้น ในราคากล่องละ 650 บาท (เฉลี่ยชิ้นละ 13 บาท) และจังหวัดพิษณุโลก 2 ราย พบจำหน่ายหน้ากากอนามัย บรรจุกล่องละ 50 ชิ้น ในราคากล่องละ 680 – 690 บาท (เฉลี่ยชิ้นละ 13.60 – 13.80 บาท) รวม 150 ชิ้น นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ยังได้ทำการล่อซื้อและจับกุมผู้จำหน่ายหน้ากากอนามัยเป็นร้านค้าทั่วไป ในจังหวัดพิษณุโลกอีก 1 ราย พร้อมของกลางเป็นหน้ากากอนามัยบรรจุกล่อง 50 ชิ้น
ทำให้สถิติการจับกุมผู้กระทำความผิดกรณีหน้ากากอนามัย เจลล้างมือและแอลกอฮอล์ มีจำนวนเพิ่มถึง 382 ราย แยกเป็นกรุงเทพฯ 172 ราย และต่างจังหวัด 210 ราย
สำหรับสถานการณ์การจำหน่ายไข่ไก่ในขณะนี้ โดยรวมความต้องการซื้อไข่ไก่ลดลงจนเข้าสู่ภาวะปกติประชาชนซื้อเท่าที่พอเพียงต่อการบริโภค อีกทั้งมีปริมาณผลผลิตไข่ไก่เข้าสู่ตลาดเพิ่มขึ้น สามารถสั่งซื้อและส่งสินค้าได้ตามปกติ ทั้งนี้ จากการติดตาม ตรวจสอบ และจับกุม ยังคงพบการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 ในความผิดจำหน่ายไข่ไก่โดยไม่ปิดป้ายแสดงราคาขาย ตามมาตรา 28 เพิ่ม 1 ราย ในจังหวัดเพชรบูรณ์ ทำให้ยอดรวมการจับกุมเพิ่มเป็น 28 ราย (สถิติจับกุม ณ วันที่ 21 เม.ย.63)
ทั้งนี้ โทษที่ผู้กระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 ข้อหาขายเกินราคาควบคุม มาตรา 25 (1) มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ข้อหาไม่แจ้งต้นทุนราคาซื้อ ราคาจำหน่าย ปริมาณการผลิต ปริมาณคงเหลือ ตามมาตรา 25 (5) มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับ ไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และปรับไม่เกินวันละ 2,000 บาท ตลอดเวลาที่ฝ่าฝืน หรือจนกว่าจะแจ้ง มาตรา 26 ข้อหา เป็นผู้ผลิตไม่แจ้งชื่อ ราคาซื้อ ราคาจำหน่าย มาตรา 28 ข้อหา ไม่ปิดป้ายแสดงราคาขาย มีอัตราโทษปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาทและมาตรา 29 ข้อหาขายแพงเกินสมควร มีอัตราโทษจำคุก ไม่เกิน 7 ปี ปรับไม่เกิน 1.4 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
นายสุพพัต กล่าวเพิ่มเติมว่า ในสถานการณ์การระบาดของโรคไวรัสโคโรน่า (โควิด – 19) อยากย้ำเตือนผู้ที่มีพฤติกรรมกักตุน และขายสินค้าแพงเกินจริง โดยเฉพาะสินค้าหน้ากากอนามัย เจลล้างมือ และแอลกอฮอล์ รวมถึงสินค้าที่ไม่ได้เป็นสินค้าควบคุมเช่น ไข่ไก่ สินค้าอุปโภค บริโภคต่างๆ ซึ่งเป็นสินค้า ที่มีความจำเป็นในสถานการณ์ดังกล่าว หากพบการกระทำความผิดกระทรวงพาณิชย์จะดำเนินคดีตามกฎหมายขั้นเด็ดขาด ตามพ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 เพราะถือเป็นการเอารัดเอาเปรียบประชาชน
“หากพบมีการกักตุนสินค้าและขายสินค้าแพงเกินจริง สามารถร้องเรียนได้ทันทีที่ สายด่วนกรมการค้าภายใน 1569 และในต่างจังหวัดร้องเรียนได้ที่สำนักงานพาณิชย์จังหวัด หรือ ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด” นายสุพพัต กล่าว
——————————-
23 เมษายน 2563