กรมอนามัย แนะโรงทานคุมเข้มความสะอาด ‘จุดปรุง – แจกอาหาร’ ลดเสี่ยงโควิด-19

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แนะโรงทานในบริเวณวัดปฏิบัติตามคำแนะนำด้านความสะอาด ปลอดภัย ตั้งแต่จุดที่ใช้ปรุงประกอบ และแจกจ่ายอาหาร เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งแพร่กระจายโรคโควิด-19

วันที่ 23 เมษายน 2563 แพทย์หญิงพรรณพิมล  วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผย ภายหลังการตรวจเยี่ยมโรงทานที่ปฏิบัติตามคำแนะนำของกรมอนามัยป้องกัน COVID-19                    ณ วัดบรมราชากาญจนาภิเษกอนุสรณ์ (วัดเล่งเน่ยยี่ 2) จังหวัดนนทบุรี ว่า ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ได้มีการจัดตั้งโรงทาน  ในบริเวณวัดเพิ่มมากขึ้น เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อน ซึ่งทางวัดต้องมีการควบคุมความสะอาด ปลอดภัย ตั้งแต่การจัดหาวัตถุดิบสถานที่เตรียมปรุงและจุดรับอาหาร เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งแพร่กระจายเชื้อโรค โดยสถานที่ตั้งโรงทานควรอยู่ในพื้นที่โล่งที่มีการระบายอากาศได้ดี ส่วนผู้ปรุงประกอบอาหารไม่ควรสัมผัสอาหารสดประเภทเนื้อสัตว์ เครื่องในสัตว์โดยตรง และล้างมือหลังการสัมผัสเนื้อสัตว์หรือผลิตภัณฑ์จากสัตว์ทุกครั้ง รวมทั้งแยกภาชนะ อุปกรณ์ปรุงประกอบอาหาร เช่น เขียง มีด ระหว่างอาหารสุกและอาหารดิบ เน้นปรุงอาหารให้สุกอย่างน้อย 30 นาทีด้วยความร้อนไม่น้อยกว่า 60 องศาเซลเซียส และหลีกเลี่ยงการปรุงประกอบอาหารที่บูดเสียง่าย เช่น อาหารที่มีกะทิ เป็นต้น

แพทย์หญิงพรรณพิมล กล่าวต่อไปว่า  หากเป็นอาหารกระป๋องทั้งก่อนเลือกซื้อและนำมาปรุงประกอบควรอ่านฉลากข้างกระป๋องให้ละเอียด โดยต้องมีเลขสารบบอาหาร (อย.) ฉลากควรระบุ ชื่อ ที่ตั้ง สถานที่ผลิตวันเดือนปีที่ผลิต หรือหมดอายุ ลักษณะของกระป๋องต้องไม่บวม ไม่บุบบู้บี้ ไม่เป็นสนิม ตะเข็บกระป๋องต้องไม่มีรอยรั่วเพราะหากมีแสดงว่าเกิดการปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์  ส่วนอาหารที่ปรุงเสร็จแล้วให้วางไว้บนโต๊ะสูง ไม่น้อยกว่า 60 เซนติเมตร มีการปกปิดอาหาร และอุ่นอาหารให้ร้อนทุก ๆ 2 ชั่วโมง รวมทั้งใช้อุปกรณ์สำหรับหยิบจับหรือตักอาหารด้วยความระมัดระวัง ไม่ให้ส่วนของด้ามจับตกหล่นหรือสัมผัสกับอาหาร เพราะอาจเกิดการปนเปื้อนของเชื้อโรคได้ ควรจัดอาหารเป็นชุดพร้อมแจกจ่ายให้นำกลับไปรับประทานที่บ้าน ให้แยกบรรจุ ข้าวและกับออกจากกันและให้หลีกเลี่ยงการใช้โฟมบรรจุอาหารเพราะส่งผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ควรเลือกใช้ภาชนะที่ทำจากวัสดุธรรมชาติ เช่น ชานอ้อย กล่องกระดาษ (Foodgrade) แทนจะเหมาะสมกว่า

“ที่สำคัญ ผู้ปรุงประกอบ ผู้ตักอาหาร และผู้ให้บริการ ต้องสวมผ้ากันเปื้อน ถุงมือ สวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย และล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่และน้ำ ตั้งแต่เริ่มเข้าทำงาน ก่อนการเตรียมอาหาร และหลังปรุงอาหารเสร็จ หากมีอาการเจ็บป่วย เช่น มีไข้ ไอ จาม มีน้ำมูก หรือเหนื่อยหอบ ให้หยุดปฏิบัติงานและ ไปพบแพทย์ทันที ส่วนบริเวณจุดรับอาหารนั้น ควรจัดให้มีจุดคัดกรองอุณหภูมิร่างกาย อ่างล้างมือพร้อมสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ให้ผู้บริโภคใช้ทำความสะอาดมือก่อนการหยิบจับอาหาร และมีการกำหนดจุดที่ยืนรอรับอาหารต้องมีระยะห่างกันอย่างน้อย 1 -2 เมตร” อธิบดีกรมอนามัย กล่าวในที่สุด

***

ศูนย์สื่อสารสาธารณะ /  23 เมษายน 2563