นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการพัฒนาเกลือทะเลไทย ครั้งที่ 4/2563 ว่า ที่ประชุมคณะกรรมการพัฒนาเกลือทะเลไทย ได้มีมติที่จะดำเนินการเสนอให้เกลือทะเลไทยเข้าสู่ระบบมรดกทางการเกษตรโลก ขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือ เอฟ เอ โอ (Food and Agriculture Organization of the United Nations- FAO) ซึ่งได้ตระหนักถึงความสำคัญของเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมการเกษตรเพื่อความมั่นคงด้านอาหารและการพัฒนาที่ยั่งยืน และการกินดีอยู่ดีของชุมชนเกษตรกร จึงได้เริ่มจัดให้มี “ระบบมรดกทางการเกษตรโลก” หรือ GIAHS (Globally Important Agricultural Heritage System) ขึ้นเมื่อปี 2545 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์มรดกทางการเกษตร เพื่อความมั่นคงทางอาหารและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ปกป้องและส่งเสริมการใช้ทรัพยากรทางชีวภาพให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมท้องถิ่น ตลอดจนเป็นการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน
“เกลือทะเลไทยถือเป็นมรดกไทย มรดกโลกที่มีประวัติความเป็นมากว่า 900 ปี โดยมีวิถีชีวิต ระบบนิเวศน์ วัฒนธรรม การค้า และการเกษตร ที่เกี่ยวเนื่องกับความหลากหลายทางชีวภาพและวิถีชีวิตชุมชนจนเป็นวัฒนธรรมที่คู่ขนานมากับวัฒนธรรมข้าว ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ซึ่งประเทศไทยมีการผลิตเกลือทะเลเป็นลำดับต้น ๆ ของโลก และตั้งแต่ยุคสุโขทัยเป็นราชธานี เกลือทะเลถือเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญ ประกอบกับตั้งแต่ปี 2545 ที่องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือ เอฟ เอ โอ เริ่มจัดให้มี “ระบบมรดกทางการเกษตรโลก” หรือ GIAHS จนถึงปัจจุบันมีการขึ้นทะเบียนไปแล้ว 22 ประเทศ 59 พื้นที่ อยู่ในเอเชีย 7 ประเทศ 36 พื้นที่ แต่ยังไม่มีประเทศไทยเลย ดังนั้น คณะกรรมการพัฒนาเกลือทะเลไทยจึงมีมติที่จะผลักดันให้เกลือทะเลไทยเป็นมรดกทางการเกษตรโลก ขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือ เอฟ เอ โอ” นายอลงกรณ์ กล่าว
สำหรับ “ระบบมรดกทางการเกษตรโลก” หรือ GIAHS หมายถึง ระบบการทำการเกษตรที่สืบทอดกันมาเป็นเวลายาวนาน ซึ่งมีความสัมพันธ์กับสังคมและสิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม และภูมิทัศน์ และมีการพัฒนาขึ้นมาทีละเล็กทีละน้อยเป็นลำดับ ตั้งแต่บรรพบุรุษจนถึงปัจจุบัน ซึ่ง GIAHS เป็นระบบที่มีชีวิต หรือมรดกแห่งอนาคตที่มีการพัฒนาให้ดีขึ้นเป็นลำดับ โดยรักษาสมดุลของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งกิจกรรมในการดำรงชีวิตมีการปรับตัวอย่างต่อเนื่องต่อข้อจำกัดของสภาพแวดล้อมซึ่งนำไปสู่การสั่งสมประสบการณ์รุ่นต่อรุ่นในการเพิ่มพูนความรู้อย่างลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ ก่อนจะได้รับการขึ้นทะเบียน “ระบบมรดกทางการเกษตรโลก” หรือ GIAHS นั้น มีหลักเกณฑ์การพิจารณาสำคัญ 5 ประการ ประกอบด้วย 1) ความมั่นคงด้านอาหาร (Food Security) และชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี (Livelihood) ของประชากร 2) ความหลากหลายทางชีวภาพการเกษตร (Agro-Biodiversity) 3) ระบบความรู้ท้องถิ่นและมีมาแต่ดั้งเดิม (Local and Traditional Knowledge System) 4) วัฒนธรรม (Cultures) ระบบค่านิยม (Value Systems) และองค์กรทางสังคม (Social Organizations) และ 5) ภูมิทัศน์ทางบกและทางทะเล (Landscapes and Seascapes Features) ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ อยู่ระหว่างศึกษาแนวทางและเตรียมข้อมูลเพื่อดำเนินการในลำดับต่อไป