“ลุงคำมี” ต้นแบบเกษตรกรพอเพียงที่เปี่ยมสุข สู้ภัยแล้งสำเร็จ ‘ผันตัวจากคนใช้น้ำ-เป็นคนหาน้ำ’

สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อาจยืดเยื้อกว่าที่คิดไว้ เพราะต้องใช้เวลาพัฒนายาและวัคซีนในการรักษาไม่ต่ำกว่า 1 ปี ทางเลือกที่ดีที่สุดขณะนี้ จึงเป็นเพียงการยับยั้งการแพร่เชื้อให้ลดลง และประคองสถานการณ์เพื่อไม่ให้กระทบกับเศรษฐกิจมากนัก ภาครัฐจึงมีการแบ่งโซนจังหวัดออกเป็น 3 โซน ได้แก่ เขียว เหลือง และแดง โดยจังหวัดที่มีการควบคุมการระบาดของโรคได้ต่อเนื่องเกินกว่า 14 วัน จะได้รับอนุญาตให้กลับเข้าสู่สภาวะปกติ สำหรับประชาชนสิ่งที่ดีที่สุด คือ ปรับวิถีชีวิตให้คุ้นเคยต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา (New Normal)

ภาคธุรกิจต่างมองว่า วิกฤตโควิด-19 อาจนำมาสู่โอกาสในการพลิกเกมเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น หลังแรงงานจากเมืองหลวงหลั่งไหลกลับต่างจังหวัด จึงถึงเวลาสานต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของจังหวัดเมืองรอง ด้วยการส่งเสริมภาคการเกษตร การผลิต และสร้างความเข้มแข็งภายในชุมชน

หนึ่งเครื่องมือสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชน คือการน้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่มีพระราชดำรัส “น้ำคือชีวิต” ให้กำเนิดทรัพยากร ช่วยหล่อเลี้ยงพืชพันธุ์ต่าง ๆ ให้อุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งผลิตอาหาร สร้างงาน และสร้างรายได้ มาปรับใช้ให้สอดคล้องกับวิถีชีวิต

หนีแล้ง มุ่งขายแรงงานเมืองกรุง

ลุงคำมี ปุ้งโพธิ์ ชุมชนบ้านป่าเป้ง อ.แวงน้อย จ.ขอนแก่น ต้นแบบเกษตรกรสู้ภัยแล้งในโครงการ “เอสซีจีร้อยใจ 108 ชุมชนรอดภัยแล้ง” เป็นผู้หนึ่งที่เคยตกอยู่ในวังวนของปัญหารายได้ไม่เพียงพอเลี้ยงปากท้อง เพราะเติบโตมากับความแห้งแล้ง ต้องเผชิญกับปัญหาฝนดี 2 ปี และน้ำแล้ง 4 ปี สู้กับน้ำท่วมน้ำแล้งซ้ำซาก มีน้ำไม่เพียงพอสำหรับทำการเกษตร ทำให้ผลผลิตตกต่ำ จนต้องออกไปรับจ้างขายแรงงานในกรุงเทพฯ ท้ายที่สุดจึงรู้ว่าสิ่งนี้ ไม่ได้ช่วยให้ชีวิตหลุดพ้นจากความยากจน เพราะรายรับไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายที่สูงลิ่วในเมืองเศรษฐกิจ

กลับบ้านเกิด คือคำตอบของแรงงานอย่างลุงคำมี เพราะหวังจะสร้างโอกาสให้ชีวิตดีขึ้น จึงตัดสินใจปลูก ‘มันสำปะหลัง’ พืชเชิงเดี่ยวซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจที่ตลาดโลกต้องการ แต่กลับถูกกดราคารับซื้อ ได้กำไรเพียง 300-400 บาท แต่เมื่ออยากจะเปลี่ยนอาชีพมาปลูกข้าวก็พบว่า มีน้ำไม่เพียงพอ

“สมัยก่อนทุ่งนาคันนามีคันเล็ก ๆ น้ำไหลมาแค่ตื้น ๆ เพราะแล้ง กันดารจริง ๆ ต้นไม้ในสวนก็เหี่ยวแห้งหมด จึงไปทำงานในกรุงเทพฯ จนรู้ซึ้ง จึงอยากกลับบ้านมาทำเกษตร และไม่อยากไปทำงานต่างถิ่นอีก” ลุงคำมีเล่าย้อนถึงความทุกข์จากภัยแล้งจนต้องทิ้งถิ่นฐาน

‘แนวพระราชดำริ’ พลิกฟื้นคืนชีวิต

จนกระทั่ง มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) หรือ สสน. ร่วมมือกับเอสซีจี นำเรื่อง ‘การบริหารจัดการน้ำ’ ตามแนวพระราชดำริ มาสู่ชุมชนป่าภูถ้ำ ภูกระแต ต.แวงน้อย อ.แวงน้อย จ.ขอนแก่น จึงทำให้ชุมชนบ้านป่าเป้งซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนหนึ่งของป่าภูถ้ำ ภูกระแต ได้เข้าใจกระบวนการดักน้ำหลากที่ต้องกักเก็บน้ำไว้ในช่วงฤดูฝน แล้วจึงค่อยผันน้ำเข้าสู่แปลงเกษตรของชุมชน จนสามารถคืนความชุ่มชื้นมาสู่ป่าไม้ พืชพันธุ์ รวมถึงสัตว์เล็ก ๆ อาทิ กบ อึ่ง ก็กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง

“จากที่เคยเป็นเพียงผู้ใช้น้ำอย่างเดียว น้ำไม่พอใช้ น้ำไม่พอปลูกข้าว ก็ได้เห็นความเปลี่ยนแปลง คือมีน้ำเพิ่มขึ้น เพราะสวมบทบาทเป็นผู้หาน้ำด้วยการเรียนรู้เรื่องการดักน้ำตามแรงโน้มถ่วง เก็บน้ำเข้าสู่สระน้ำในไร่นา จากมูลนิธิฯ และเอสซีจี จึงทำให้แปลงเกษตรมีน้ำใช้ตลอดปี”

แปลงเกษตรเก็บเกี่ยวได้ตลอดทั้งปี

นอกจากมีน้ำใช้เพียงพอสำหรับทำเกษตรแล้ว พื้นที่เพาะปลูกของลุงคำมียังช่วยสร้างรายได้เพิ่มได้ตลอดทั้งปี ด้วยการทำ ‘เกษตรผสมผสาน ตามแนวทฤษฎีใหม่ โดยเริ่มต้นจากจัดสรรแปลงที่ดินในพื้นที่กว่า 21 ไร่ เปลี่ยนจากเดิมที่ทำนา 12 ไร่ ก็ค่อย ๆ ลดพื้นที่ทำนาให้เหลือ 4-5 ไร่ พร้อมขุดสระน้ำ 2 สระ เพื่อให้มีน้ำไว้ใช้ทำเกษตรและเลี้ยงปลา และใช้พื้นที่ที่เหลือปลูกไม้ยืนต้น ไม้สวน รวมถึงพืชสมุนไพร โดยไม่ใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช ทำให้ผลลัพธ์ที่ได้คือที่ดินกว่า 21 ไร่ของลุงคำมีเป็นแหล่งรายได้หมุนเวียน มีผลผลิตที่เก็บเกี่ยวได้ทั้งรายวัน รายเดือน และรายปี

“พืชผักสวนครัวสร้างรายได้เป็นรายวัน ส่วนสมุนไพร ไม้ยืนต้น และไม้ผล สร้างรายได้เป็นรายเดือน ในขณะที่ผักหวานสร้างรายได้เป็นรายปี สิ่งสำคัญคือต้องวางแผนการเพาะปลูกให้เหมาะสมกับปริมาณน้ำในสระน้ำ โดยสระน้ำหลักจะรับน้ำที่เชื่อมต่อท่อมาจากหนองผักหวานซึ่งเป็นสระน้ำแก้มลิงของชุมชน และจากสระน้ำหลักก็ต่อท่อไปลงอีกสระเพื่อกระจายน้ำสู่แปลงเกษตร”

เกษตรกรยุค 4.0 ใช้เทคโนโลยีช่วยประหยัดน้ำและเงิน

เพราะเป็นเกษตรกรที่รักการเรียนรู้ จึงสามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมที่นำเทคโนโลยีมาใช้ในการเกษตรให้สมกับเป็นเกษตรกรยุค 4.0 ด้วยการติดตั้งโซลาเซลล์ลอยน้ำ เพื่อช่วยสูบน้ำจากสระหลักขึ้นไปเก็บไว้บนถังสูง แล้วกระจายน้ำแบบมินิสปริงเกอร์เข้าแปลงเกษตร ทำให้ประหยัดค่าไฟฟ้าได้มากขึ้น

ขณะเดียวกัน ชุมชนได้รวมกลุ่มทำข้อตกลงประจำหมู่บ้าน ร่วมกันจ่ายเงินค่าน้ำในอัตราชั่วโมงละ 20 บาท เมื่อรับน้ำเข้าพื้นที่ ลุงคำมีจึงมีต้นทุนค่าน้ำเฉลี่ยเดือนละ 1,000 บาท ซึ่งถือว่ายังสมเหตุสมผล เมื่อเปรียบเทียบกับผลผลิตที่สร้างรายได้ให้อย่างน่าพอใจ ทั้งผักหวาน ฝรั่ง มะนาว โดยรายได้เฉลี่ยของลุงคำมีสูงถึงเดือนละ 50,000 บาท หรือราว 576,000 – 960,000 บาทต่อปี ซึ่งระบบการจัดสรรน้ำช่วยลดต้นทุนได้ถึง 384,000 บาทต่อปี

“จะหาเงิน 1,000 บาท แค่เดินเก็บพืชผักผลไม้ในสวนไปขายก็ได้แล้ว แค่ผักหวานอย่างเดียว ก็สร้างรายได้เพิ่มขึ้นกว่า 200,000 บาทต่อปีแล้ว” ลุงคำมีเล่าถึงความสุข และความภาคภูมิใจบนผลผลิตจากไร่ที่สร้างมา

ศูนย์พึ่งตน ”ลุงคำมี” เกษตรกรผู้มั่งคั่ง-กูรูเปี่ยมสุข สู่ “ศูนย์เรียนรู้เกษตรพอเพียง”

วิถีชีวิตเกษตรกรได้พลิกชีวิตของลุงคำมีให้อยู่ดีกินดี มีรายได้เลี้ยงดูครอบครัว และส่งลูกเรียนหนังสือจนได้ปริญญา ลุงคำมีจึงเปรียบเสมือนคนต้นแบบของการเรียนรู้วิถีชีวิตเศรษฐกิจพอเพียง ไร่ แปลงผัก และสวนป่าแห่งนี้จึงกลายเป็น “ศูนย์เรียนรู้เกษตรพอเพียง” ที่พร้อมถ่ายทอดวิชาการพึ่งพาตนเอง เป็นตำนานผู้พลิกชีวิตจากแรงงานเมืองกรุงฯ สู่เกษตรกรผู้เปี่ยมสุข และแบ่งปัน

“ไร่แห่งนี้ปลูกทุกอย่างที่กินได้และกินทุกอย่างที่ปลูก ใช้ชีวิตอยู่อย่างพอเพียง ผมจะสืบสานทำไปเรื่อย ๆ ลูกหลานไม่ว่าเยาวชนหรือกลุ่มไหนก็แล้วแต่ เข้ามาในสวน ผมจะให้ความรู้หมด ไม่หวงความรู้ จะบอกและแนะนำวิธีการทำทุกอย่าง ถ่ายทอดให้เขาเอาไปทำต่อได้”

นี่คือวิถีชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียงที่เกิดจากหนึ่งคน จนสามารถขยายผลไปสู่หมู่บ้านใกล้เคียง และชุมชนอื่น ทำให้เห็นว่า ยิ่งแบ่งปันและแลกเปลี่ยนเรียนรู้มากขึ้นเท่าใด เศรษฐกิจชุมชนก็พร้อมแข็งแกร่งมากขึ้นเท่านั้น  ต้นแบบวิถีชีวิตพึ่งพาเศรษฐกิจชุมชนสอดคล้องกับยุคโควิด-19 เมื่อเกิดการปิดเมือง ควบคุมการเดินทางเข้า-ออกประเทศ วิถีการเกษตรคือแหล่งผลิตอาหาร ซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานในการใช้ชีวิต เป็นกลไกสำคัญให้ประเทศอยู่รอดได้อย่างยั่งยืน