กรมสุขภาพจิต แนะนำวิธีการดูแลสุขภาพจิตของคนไทยและบุคลากรทางการแพทย์ พร้อมเปิดตัวความร่วมมือจากภาคีเครือข่าย ในการสื่อสารพร้อมรับมือสถานการณ์คลื่นลูกที่ 4 ในสังคมไทย

กรมสุขภาพจิตชี้ต้องมีการติดตามดูแลจิตใจของประชาชนชาวไทย เนื่องจากผู้ที่อยู่ในภาวะการระบาดของโควิด ประชาชนจะมีความวิตกกังวล เครียด กลัว เศร้า การได้รับความช่วยเหลือทางด้านจิตใจอย่างใกล้ชิดจะช่วยให้สามารถฟื้นฟูสภาพร่างกายและจิตใจได้ดี และลดผลกระทบด้านสุขภาพจิตในระยะยาว ขณะเดียวกันหากรู้สึกหมดพลัง เครียดไปต่อไม่ไหวอย่าเก็บไว้คนเดียว ขอให้หาคนปรึกษา หรือใช้บริการสายด่วนสุขภาพจิต 1323

ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า จากผลกระทบจากสถานการณ์ในแต่ละช่วง เปรียบเทียบกับคลื่นทั้ง 4 ลูก โดย คลื่นลูกแรกคือการสูญเสียจากการระบาดของโควิดในช่วงแรก คลื่นลูกที่สองจะเป็นผลกระทบตามมาจากการขาดแคลนทรัพยากร ความช่วยเหลือเพียงพอ คลื่นลูกที่สามจะเป็นผลกระทบต่อการดูแลผู้ที่มีความเปราะบางในสังคมและกลุ่มโรคเรื้อรัง ส่วนคลื่นลูกสุดท้ายหรือลูกที่สี่ ความสูญเสียมากและมีระยะได้รับผลกระทบที่ยาวนาน ส่งผลกระทบทางด้านจิตใจ ปัญหาด้านสุขภาพจิต ผลกระทบด้านเศรษฐกิจ และภาวะหมดไฟ โดย ส่งผลต่อประชากรทั้ง4 กลุ่ม คือ กลุ่มผู้ติดเชื้อผู้ถูกกักกัน กลุ่มผู้เสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพจิต กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ และกลุ่มประชาชน โดยการดูแลประชาชนนั้น ได้ใช้สายด่วนสุขภาพจิต 1323 เป็นหลัก ซึ่งในเดือนมีนาคม มีผู้โทรมาปรึกษาความเครียดจากโควิดมากขึ้นเป็น 600 ราย และในช่วงกลางเดือนเมษายน พบว่ามี 315 ราย คาดการณ์ว่าสิ้นเดือนนี้จะมีคนมาปรึกษาไม่ต่ำกว่า 630 ราย กว่าครึ่งเป็นการปรึกษาความเครียดวิตกกังวล และเป็นผู้ป่วยจิตเวชเดิมประมาณร้อยละ 38 มีการเพิ่มคู่สายสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ไปแล้วเป็นสองเท่า จาก 10 คู่สายเป็น 20 คู่สาย และเปิดสายด่วนสำหรับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขเพื่อดูแลจิตใจบุคลากร ถึง 41 เลขหมาย รวมถึงการส่งต่อทีม MCATT ในพื้นที่

กรมสุขภาพจิตได้พัฒนาแนวทางเพื่อให้บุคลากรในพื้นที่สามารถทำงาน เน้นการแนะนำสถานพยาบาลในการช่วยเหลือบุคลากรตามหลัก 4 สร้าง 2 ใช้ คือ ต้องสร้างให้บุคลากรรู้สึกปลอดภัย สร้างความสงบ สร้างความหวัง สร้างความเข้าใจและเห็นใจ ใช้ศักยภาพขององค์กรให้เต็มที่ และใช้สายสัมพันธ์สร้างความเข้มแข็งให้บุคลากร ในขณะเดียวกันสำหรับประชาชน ก็ใช้หลักการณ์คล้ายคลึงกัน นั่นคือ สร้างความปลอดภัยให้ตนเองครอบครัวและชุมชน สร้างความสงบทำจิตให้สงบไม่รับฟังข่าวลวงข่าวปลอม สร้างความหวังไม่ย่อท้อในการต่อสู้กับโรคโควิดและแก้ปัญหาโดยใช้สติ สร้างความเห็นใจไม่รังเกียจ พยายามทำความเข้าใจช่วยกันรับมือ ใช้พลังของตัวเองให้เต็มศักยภาพมากที่สุดในการป้องกันโรค ใช้สายสัมพันธ์สร้างความแข็งแกร่งแบ่งปันพลังจากตัวเราออกไปสู่คนรอบข้างและชุมชน

กรมสุขภาพจิตยังได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานภาคประชาชน ได้แก่ การจัด event ออนไลน์ด้านสุขภาพจิตแรก ความยาว 8 ชั่วโมง ผ่านทางช่องทางต่างทั้งเพจกรมสุขภาพจิต เพจข่าวสด และอื่นๆ มีทั้งเนื้อหาสาระความรู้ การลงพื้นที่ไปดูการทำงานของ อสม และ รพสต สลับกับดนตรีและบันเทิง และการกุศลเพื่อช่วยเหลือฮีโร่ด่านหน้า โดยจะทำการถ่ายทอดในวันเสาร์ที่ 25 เมษายนนี้ เวลา 10.00 – 18.00 และความร่วมมือกับบริษัทโรซ่า และเดอะวอยซ์ จัด event “เดอะ ดูเอท ใจไม่ป่วย ความสูขสร้างได้” ทุกสัปดาห์ผ่านทางเพจของเดอะวอยซ์และกรมสุขภาพจิต และ สสส และสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส จัดทำเพจบ้านพลังใจ และรายการโทรทัศน์ บ้านพลังใจ ทุกวันเสาร์ เวลา 21.10 -22.00 ทางช่องไทยพีบีเอส ขอให้ประชาชนติดตามความรู้และความบันเทิงดีดีจากกรมสุขภาพจิตถึงประชาชน

สุดท้ายขอฝากถึงบุคลากรด่านหน้าทุกคน ได้แก่ เจ้าหน้าที่ รพ.สต. และพี่น้องอสม./อสส.ทุกท่าน ที่กำลังทำงานกันอย่างเหน็ดเหนื่อย ขอให้มีสุขภาพกายที่แข็งแรง มีพลังใจที่เข้มแข็ง อยู่เคียงข้างเพื่อดูแลพี่น้องประชาชนของเราต่อไป “ท่านคือคนด่านหน้า ที่ไม่สามารถประเมินค่าได้สำหรับคนข้างหลัง” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขกล่าว


22 เมษายน 2563