ชีวิตคนไร้บ้าน “ศูนย์คนไร้บ้านสุวิทย์ วัดหนู”

“คนไร้บ้าน” สิ่งแรกที่นึกถึงคือ คนเร่ร่อน ไม่มีที่อยู่อาศัย ขาดโอกาสและความพร้อมในการดำรงชีวิตในทุกๆด้าน ซึ่งภาพที่คุ้นชินกับสายตาที่เคยเห็นและเคยเจอบ้างก็คงหนีไม่พ้นจาก คนที่อาศัยอยู่ใต้สะพานบ้าง ข้างถนนบ้าง หรือแม้แต่ตามสถานที่ต่างๆ เช่น สถานีรถไฟ สถานีขนส่งผู้โดยสาร สวนสาธารณะ เป็นต้น ตามที่สาธารณะต่างๆ ทั้งในยามกลางวันและกลางคืน เหล่านี้คือสิ่งที่พอจะนึกได้หากนึกถึงเรื่องราวของคนไร้บ้าน

แต่เมื่อเร็วๆ นี้ ได้มีโอกาสติดตามเจ้าหน้าที่สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชน จัดการความรู้และสื่อสาร สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ ลงพื้นที่ เพื่อที่จะทำการสัมภาษณ์ เก็บข้อมูลเกี่ยวกับคนไร้บ้าน สอบถามเรื่องราว ความเป็นอยู่ และที่สำคัญผลกระทบจากการเกิดโรคระบาดจากไวรัสโควิด-19 ที่ “ศูนย์คนไร้บ้านสุวิทย์ วัดหนู” ย่านบางกอกน้อย กรุงเทพฯ  ซึ่งจากการลงพื้นที่ในครั้งนี้  ทำให้ได้ประสบการณ์ใหม่ และเป็นครั้งแรกที่ได้รับรู้และสัมผัสกับการใช้ชีวิตของคนไร้บ้านจากประสบการณ์ตรง โดยไม่ผ่านการรับรู้จากสื่อ ข่าวในรายการโทรทัศน์  ทั้งตื่นเต้น กลัว และกังวล เพราะเราไม่รู้ว่าพวกเขาจะมีปฏิกิริยากับเราเช่นไร

เมื่อเดินทางไปถึง พบว่าคนที่นี่น่ารัก ให้การต้อนรับที่ดี มีรอยยิ้มเป็นมิตรกับพวกเราทุกคน และสิ่งแรกที่เห็นได้ชัดเจนและเป็นรูปธรรมที่สุด คือเรื่องของสถานที่ที่อยู่อาศัย เพราะคนไร้บ้านเหล่านี้ เขามีที่อยู่อาศัย มีเครื่องอุปโภคบริโภค สิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็นในการดำรงชีพตามสมควร รวมทั้งสภาพแวดล้อมบรรยากาศรอบๆ ที่ดีในระดับหนึ่งสำหรับดำรงชีวิต ซึ่งคนไร้บ้านที่อยู่ที่นี่ จะแตกต่างกับกลุ่มคนไร้บ้านที่ เร่ร่อนอยู่ตามสถานที่สาธารณะอย่างชัดเจน

ในมุมมองส่วนตัวก็แอบคิดว่าคนที่นี่ยังมีความโชคดีกว่ากลุ่มคนเร่ร่อนแบบนั้นมาก เพราะคนที่อยู่ที่ “ศูนย์คนไร้บ้าน สุวิทย์ วัดหนู” ยังได้รับโอกาส ได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยงานราชการในภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง รวมถึงความช่วยเหลือจากภาคเอกชน หรือบุคคลต่างๆที่มีความพร้อมและกำลังที่จะช่วยเหลือและให้การสนับสนุน รวมทั้งโอกาสและทางเลือกในการประกอบอาชีพเพื่อเลี้ยงดูตัวเองและครอบครัว

คนไร้บ้านที่อาศัยอยู่ใน “ศูนย์คนไร้บ้านสุวิทย์ วัตหนู” แห่งนี้ แต่ละคนก็มีประวัติเรื่องราวความเป็นมาของชีวิตที่แตกต่างกันออกไป มาจากคนละภาค  คนละจังหวัด แต่สิ่งหนึ่งที่รับรู้ได้ว่าพวกเขามีเหมือนกัน นอกจากปัญหาในชีวิตที่พวกเขาได้พบเจอ ความยากลำบากที่เคยผ่านมานั้น นั่นก็คือความเห็นอกเห็นใจ เข้าใจกัน ช่วยเหลือเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อกัน เพราะเมื่อพวกเขาได้รับความช่วยเหลือ หรือได้รับสิ่งดีๆ จากหน่วยงานไม่ว่าจะจากรัฐหรือเอกชน พวกเขาก็จะแบ่งปันความช่วยเหลือที่ตัวเองได้รับ มอบไปสู่ผู้อื่นที่ลำบากกว่าพวกเขาด้วยเสมอ เช่น นำอาหาร น้ำดื่ม หน้ากากอนามัย ไปแจกให้แก่คนไร้บ้านในที่สาธารณะ

นี่คือสิ่งที่อยู่คู่กับสังคมคนไทยมาแต่ไหนแต่ไร ไม่ว่าจะลำบากยากดีมีจนขนาดไหน แต่คนไทยไม่เคยทิ้งกัน สิ่งไหนที่ช่วยเหลือกันได้ แบ่งปันกันได้ เราจะหยิบยื่นน้ำใจและช่วยเหลือกันเสมอมา

สุดท้ายสิ่งที่ได้เรียนรู้จากผู้คนที่ “ศูนย์คนไร้บ้านสุวิทย์ วัดหนู” ได้สะท้อนให้เห็นว่า ในสังคมไทยยังมีความเหลื่อมล้ำกันอยู่มาก และคนไร้บ้านที่เร่ร่อนก็ยังคงมีอยู่มากในสังคมที่กระจายตัวอยู่ตามจุดต่างๆของเมืองใหญ่ พวกเขาเหล่านี้ล้วนต่างต้องการความช่วยเหลือในด้านต่างๆ ตามสิทธิขั้นพื้นฐานที่ควรจะได้รับในฐานะที่เป็นประชาชนชาวไทยคนหนึ่ง

ดังนั้นภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรมองเห็นถึงปัญหาและให้ความสำคัญกับกลุ่มคนไร้บ้านมากกว่านี้ เพราะพวกเขาต่างก็อยากมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีบ้านเป็นของตัวเอง มีอาชีพที่มั่งคงพอที่จะเลี้ยงดูตัวเองและครอบครัวได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเกิดได้หากเขาได้รับโอกาส และสิทธิขั้นพื้นฐานที่ควรจะได้เหมือนกับประชาชนทั่วไป..!