แพทย์แผนไทยแนะนำ เมนูอาหารสมุนไพร ช่วยดูแลสุขภาพผู้สูงวัย ห่างไกลโรค ก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์

กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก แนะนำเมนูอาหารพืชผักสมุนไพร ซึ่งเหมาะกับผู้สูงวัย เพื่อให้สุขภาพแข็งแรง และห่างไกลโรค รองรับประเทศไทยก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Completed Aged Society)

นพ.ปราโมทย์ เสถียรรัตน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยเป็นสังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติรายงานว่า ตั้งแต่ พ.ศ. 2558 ประเทศไทยมีประชากร ผู้สูงอายุหรือมีอายุมากกว่า 60 ปี ขึ้นไป สูงถึงร้อยละ 15.6 ของประชากรทั้งประเทศ และในปี พ.ศ. 2563 นี้ ประเทศไทย ได้ก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Completed Aged Society) เนื่องจากมีผู้สูงอายุมากกว่าร้อยละ 20 ของประชากร ทั้งประเทศ สำหรับปัญหาสุขภาพที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ ได้แก่ ปัญหาการนอนไม่หลับ ปัญหาด้านการมองเห็น ปัญหาท้องอืด ท้องเฟ้อ อาหารไม่ย่อย และปัญหาเกี่ยวกับความแข็งแรงของกระดูกและฟัน เป็นต้น

นพ.ปราโมทย์ กล่าวต่อไปว่า กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ขานรับนโยบายกระทรวงสาธารณสุข ในการให้ผู้สูงอายุดูสุขภาพเบื้องต้นด้วยศาสตร์การแพทย์แผนไทย เพื่อส่งเสริมและป้องกันโรคในผู้สูงอายุ โดยให้นำผักพื้นบ้าน สมุนไพรใกล้ตัวมาปรุงเป็นอาหาร เพื่อแก้ไขปัญหาสุขภาพที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ อย่างเช่น ปัญหาการนอนไม่หลับ ให้ใช้พืชผักสมุนไพรที่มีรสขม หรือมีฤทธิ์เย็นมาปรุงเป็นอาหาร โดยเฉพาะอาหารมื้อเย็น เช่น ขี้เหล็ก สะเดา มะระขี้นก มะระจีน ผักเชียงดา ใบบัวบก เนื่องจากสมุนไพรรสขม จะช่วยระบายความร้อนภายในร่างกาย ช่วยให้เกิดความรู้สึกผ่อนคลาย ลดความวิตกกังวล และช่วยนอนหลับได้สนิท ปัญหาด้านการมองเห็น ให้ใช้พืชผักสมุนไพรที่หลากสีมาปรุงเป็นอาหาร เช่น ผักบุ้ง ตำลึง ฟักทอง มะละกอสุก มะเขือเทศ ยอดฟักข้าว เนื่องจากพืชผักสมุนไพรที่หลากสี มีสารต้านอนุมูลอิสระ อุดมไปด้วยวิตามินเอ และเบต้าแคโรทีน ซึ่งมีส่วนช่วยในการบำรุงดวงตา ชะลอความเสื่อม ของดวงตาได้ ปัญหาท้องอืด ท้องเฟ้อ อาหารไม่ย่อย ให้เน้นการรับประทานอาหารที่มีส่วนประกอบของสมุนไพรรสเผ็ดร้อน เช่น ขิง กระชาย ตะไคร้ พริกไทย กะเพรา โหระพา ขมิ้น ข่า เนื่องจากสมุนไพรรสเผ็ดร้อน มีน้ำมันหอมระเหย ซึ่งช่วยในการขับลม บรรเทาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ ช่วยย่อย กระตุ้นการทำงานของระบบไหลเวียนเลือด ปัญหาเกี่ยวกับความแข็งแรงของกระดูกและฟัน ให้เน้นการรับประทานพืชผักหรือสมุนไพรที่มีแร่ธาตุแคลเซียมสูง เช่น ปลาเล็กปลาน้อย ใบชะพลู งาดำ ใบยอ ยอดแคบ้าน ผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง การรับประทานอาหารที่มีแร่ธาตุแคลเซียมสูงควบคู่ไปกับการรับวิตามินดีจากธรรมชาติ โดยการออกกำลังกายกลางแจ้ง เพื่อรับแสงแดดในตอนเช้าหรือตอนเย็น เนื่องจากวิตามินดีจะช่วยให้ร่างกายดูดซึมแคลเซียมไปใช้ในการเสริมสร้างความแข็งแรงของกระดูกและฟัน

สำหรับประชาชนท่านใด ต้องการสอบถามข้อมูลการดูแลสุขภาพด้วยศาสตร์การแพทย์แผนไทย สามารถติดต่อได้ทาง สถานบริการสาธารณสุขของรัฐที่เปิดให้บริการคลินิกการแพทย์แผนไทยทั่วประเทศ หรือ สามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก โทร 0 2149 5678