วันที่ 26 มีนาคม 2561 ที่ทัณฑสถานบำบัดพิเศษ จังหวัดปทุมธานี พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม นายจรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน และผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงยุติธรรม ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงโครงการประชารัฐ ร่วมสร้างงาน สร้างอาชีพผู้ต้องขัง ระหว่างกรมการจัดหางาน กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กรมราชทัณฑ์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ตอบสนองนโยบายรัฐ ยกระดับศักยภาพ ทักษะและสมรรถนะแรงงาน สร้างโอกาสและคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับผู้ต้องขัง มุ่งหวังส่งเสริมคนดีสู่สังคม และแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงาน โดยมี นายอนุรักษ์ ทศรัตน์ อธิบดีกรมการจัดหางาน นายสุทธิ สุโกศล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน นายอายุตม์ สินธพพันธุ์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ นายพากร วังศิราบัตร รองเลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และนายภูมินทร์ หะรินสุต รองประธานกรรมการหอการค้าไทยเป็นผู้ลงนามในบันทึกข้อตกลง
พลตำรวจเอกอดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า “โครงการประชารัฐ ร่วมสร้างงาน สร้างอาชีพผู้ต้องขัง” นี้ เป็นการทำงานในรูปแบบประชารัฐ โดยความร่วมมือระหว่างกรมการจัดหางาน กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กรมราชทัณฑ์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างโอกาสและคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ผู้ต้องขัง โดยผ่านกระบวนการฝึกอบรมวิชาชีพ จริยธรรม ให้โอกาสกับผู้ที่เคยกระทำผิดปรับปรุงตนเอง และแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานในบางสาขาอาชีพ ทั้งยังเป็นการเตรียมความพร้อมให้แก่กำลังแรงงาน โดยการแนะแนวอาชีพ เพิ่มทักษะความรู้ ความสามารถ เตรียมความพร้อมด้านจรรยาบรรณในวิชาชีพ เพื่อเข้าสู่กระบวนการทำงาน ส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพให้เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานหรือสามารถประกอบอาชีพอิสระได้ ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) ที่ต้องการยกระดับศักยภาพ ทักษะ สมรรถนะแรงงานอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน เพื่อสร้างผลิตภาพเพิ่มให้กับประเทศ และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ในการสร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม
สำหรับแนวทางความร่วมมือคือ กรมการจัดหางานดำเนินการประสานงานและให้คำแนะนำแก่สถานประกอบการหรือนายจ้างในการส่งเสริมการมีงานทำให้แก่ผู้ต้องขังในเรือนจำและรับผู้ต้องขังชั้นดีใกล้พ้นโทษเข้าฝึกทักษะในสถานประกอบการ รับลงทะเบียนและบริการจัดหางานให้แก่ผู้พ้นโทษที่ประสงค์จะหางานทำ ตลอดจนสาธิตอาชีพ ฝึกทักษะอาชีพระยะสั้นแก่ผู้ต้องขังก่อนปล่อย แนะแนวอาชีพ ให้ข้อมูลข่าวสารตลาดแรงงาน ให้คำปรึกษาแนะนำการประกอบอาชีพอิสระ ส่วนกรมพัฒนาฝีมือแรงงานทำหน้าที่ฝึกอาชีพในหลักสูตรการฝึกฝีมือแรงงานในสาขาอาชีพตามความต้องการของผู้ต้องขัง เพื่อเพิ่มเติมความรู้ รวมทั้งประกอบชิ้นงานเพื่อจัดจำหน่ายและสร้างรายได้แก่ผู้ต้องขัง รวมทั้งทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานให้แก่ผู้ต้องขังในสาขาอาชีพตามความต้องการและสอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน ขณะที่กรมราชทัณฑ์ทำหน้าที่จัดทำฐานข้อมูลผู้ต้องขัง เพื่อประสานการส่งเสริมการมีงานทำ จัดทำขั้นตอนการดำเนินงานรับชิ้นงานไปผลิตในเรือนจำ ส่งผู้ต้องขังเข้าฝึกทักษะในสถานประกอบการ อำนวยความสะดวกด้านสถานที่ฝึกอบรมและการปฏิบัติงาน ทั้งยังควบคุม ดูแล ติดตามผลผู้ต้องขังที่ได้รับการส่งเสริมการมีงานทำผ่านกลไกของศูนย์ประสานงานและส่งเสริมการมีงานทำ ด้านสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ทำหน้าที่ประสานงานกับสถานประกอบการหรือนายจ้างเพื่อเข้าร่วมโครงการ และประชาสัมพันธ์เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับโครงการ เพื่อการรับรู้และเจตคติที่ดีในการรับผู้ต้องขังเข้าทำงานกับผู้ประกอบธุรกิจการค้าและบริการภาคเอกชน โดยบันทึกข้อตกลงฉบับนี้มีระยะเวลา 5 ปี
รมว.แรงงานกล่าวอีกว่า โครงการนี้มีเป้าหมายการดำเนินงาน จำนวน 37,000 คน แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มแรก การดำเนินการก่อนพ้นโทษ จะเป็นการฝึกทักษะและฝึกอาชีพ จำนวน 27,000 คน และเตรียมความพร้อมก่อนพ้นโทษ อีกจำนวน 10,000 คน กลุ่มที่สอง การดำเนินการหลังพ้นโทษ จะคัดแยกกลุ่มผู้พ้นโทษตามความต้องการ ระหว่างต้องการทำงานในสถานประกอบการและต้องการประกอบอาชีพอิสระ โดยกรมการจัดหางานจะบริการจัดหางานและส่งเสริมการประกอบอาชีพอิสระ และจะมีการติดตาม ประเมินผลเป็นระยะ ๆ ทุก 1 เดือน 3 เดือน 6 เดือน และ 1 ปี
ด้านพลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า ปัจจุบันมีผู้ต้องขังในเรือนจำทั่วประเทศ 346,470 คน บางส่วนเป็นกำลังแรงงาน และมีศักยภาพในการทำงาน ซึ่งกระทรวงยุติธรรมก็มีนโยบายที่ต้องการสร้างโอกาสและคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ผู้ต้องขัง โดยการให้โอกาสกับผู้ที่เคยกระทำผิดปรับปรุงตนเองและส่งเสริมคนดีสู่สังคมด้วยเช่นกัน