‘กรมเจรจาฯ’ ชี้ บรรจุภัณฑ์พลาสติกใส่เจลล้างมือมาแรง ช่วงโควิด-19 แนะผู้ประกอบการใช้เอฟทีเอเพิ่มแต้มต่อขยายส่งออก

 กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ชี้ วิกฤตไวรัสโควิด-19 ทำความต้องการบรรจุภัณฑ์พลาสติกสำหรับบรรจุเจลล้างมือพุ่ง ส่งผลให้ยอดส่งออก 2 เดือนแรก ปี 2563 โตขึ้น 19 % ตลาดจีนโตสูงสุด 175 % เชียร์ผู้ประกอบการคว้าโอกาส เร่งใช้เอฟทีเอสร้างแต้มต่อขยายส่งออก

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ปัจจุบันความต้องการเจลและสเปรย์แอลกอฮอล์เพื่อทำความสะอาดและป้องกันตนจากการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโควิด-19 เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้สินค้าบรรจุภัณฑ์จากพลาสติกสำหรับบรรจุเจลล้างมือ เช่น ขวดจากพลาสติก จุกฝาครอบพลาสติก หัวปั๊ม และขวดหัวสเปรย์ มีความต้องการเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย โดยในช่วง 2 เดือนแรก ของปี 2563 ไทยส่งออกบรรจุภัณฑ์พลาสติกรวม 45 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2562 กว่าร้อยละ 19 โดยจีนขยายตัวมากที่สุดถึงร้อยละ 175 รองลงมา ได้แก่ สหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 163 และอาเซียน ขยายตัวถึงร้อยละ 22 ซึ่งอาเซียนยังคงเป็นตลาดส่งออกสำคัญอันดับ 1 มีส่วนแบ่งตลาด ร้อยละ 40 ของการส่งออกทั้งหมด รองลงมา ได้แก่ ญี่ปุ่น ส่วนแบ่งตลาด ร้อยละ 21 และจีน ส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 12.5

สำหรับสินค้าส่งออกสำคัญที่ขยายตัวอย่างโดดเด่น ในช่วง 2 เดือนแรก ของปี 2563 ได้แก่ ขวดปั๊ม ขยายตัวถึงร้อยละ 38 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 มีสัดส่วนการส่งออกร้อยละ 14 เมื่อเทียบกับการส่งออกบรรจุภัณฑ์จากพลาสติกทั่งหมดของไทย รองลงมา ได้แก่ ฝาหรือจุกครอบ ขยายตัวร้อยละ 25 สัดส่วนการส่งออกร้อยละ 47 และขวดสเปรย์ ขยายตัวร้อยละ 13 สัดส่วนการส่งออกร้อยละ 6

นางอรมน กล่าวว่า แนวโน้มความต้องการบรรจุภัณฑ์จากพลาสติกที่เพิ่มขึ้น ถือเป็นโอกาสทองในการขยายการส่งออกบรรจุภัณฑ์พลาสติก โดยผู้ประกอบการสามารถใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) เพื่อเพิ่มแต้มต่อในการแข่งขันทางการตลาดได้ เนื่องจากไทยมีเอฟทีเออยู่ 13 ฉบับ กับ 18 ประเทศ โดยมี 17 ประเทศ ได้แก่ สมาชิกอาเซียน 9 ประเทศ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เปรู ชิลี และฮ่องกง ได้ยกเลิกการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าบรรจุภัณฑ์พลาสติกสำหรับใส่เจลล้างมือข้างต้นแล้วทุกรายการ มีเพียงอินเดียที่คงภาษีนำเข้าขวดพลาสติก ฝาจุกครอบพลาสติกและขวดปั๊ม ร้อยละ 10 และขวดสเปรย์ ร้อยละ 7.5

“ไทยมีจำนวนผู้ประกอบการในกลุ่มบรรจุภัณฑ์พลาสติกอยู่เกินกว่า ร้อยละ 50 ของจำนวนผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมพลาสติกทั้งหมด นอกจากนี้ ยังมีห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมพลาสติกที่ครบวงจร ตั้งแต่อุตสาหกรรม ปิโตรเคมีที่เป็นผู้ผลิตเม็ดพลาสติก และผู้ใช้เม็ดพลาสติกเพื่อแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์พลาสติก ทำให้สามารถผลิตได้เพียงพอกับความต้องการในประเทศและการส่งออก ส่งผลให้บรรจุภัณฑ์พลาสติกเป็นสินค้าที่มีศักยภาพของไทย โดยสามารถสร้างรายได้เป็นอันดับ 1 ในสินค้ากลุ่มพลาสติกแปรรูป” นางอรมน กล่าว

ทั้งนี้ ในปี 2562 ไทยเป็นผู้ส่งออกบรรจุภัณฑ์จากพลาสติกประเภทขวด ฝาครอบ ขวดปั๊ม และขวดสเปรย์  เป็นอันดับ 9 ของโลก โดยมีมูลค่าส่งออกรวม 252 ล้านเหรียญสหรัฐ และส่งออกสินค้าบรรจุภัณฑ์พลาสติกไปยังประเทศที่ไทยมีเอฟทีเอด้วย 18 ประเทศ คิดเป็นร้อยละ 83 ของการส่งออกบรรจุภัณฑ์พลาสติกฯ ทั้งหมดของไทย

—————————————-

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

กระทรวงพาณิชย์