สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ / พอช.เปิด ‘ตลาดนัดองค์กรชุมชน’ ขายสินค้าออนไลน์ช่วยพี่น้ององค์กรชุมชน
ทั่วประเทศที่ได้รับผลกระทบพิษเศรษฐกิจ-ไวรัสโควิด 19 พร้อมพักหนี้บ้านมั่นคง 3 เดือน และเร่งโครงการบ้านพอเพียงชนบทกว่า 22,000 หลัง เพื่อให้เกิดการจ้างงานสร้างรายได้ 50,000 คน ด้านชาวเลหาดราไวย์ จ.ภูเก็ตได้รับผลกระทบจากการปิดจังหวัด ระดมพลังทำประมงจับปลา-ตากแห้ง 3,000 ก.ก.แลกข้าวสารจากพี่น้องกะเหรี่ยงและอีสาน 22 ตัน ขณะที่ สช.หารือ พอช.ขยายความร่วมมือสร้าง ‘พลเมืองตื่นรู้’ รองรับการแก้ไขปัญหาระยะเร่งด่วน-ระยะฟื้นฟู-ระยะยาว
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ทั่วประเทศไทย แม้ว่าสถานการณ์ในขณะนี้จะดีขึ้น ผู้ติดเชื้อรายใหม่มีแนวโน้มลดจำนวนลง แต่ผลกระทบจากมาตรการปิดเมือง ปิดร้านค้า และสถานบริการต่างๆ ทำให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวม โดยเฉพาะประชาชนที่มีรายได้น้อยที่ต้องขาดงาน ขาดรายได้ หรือมีรายได้น้อยลง สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ ซึ่งมีภารกิจในการสนับสนุนให้ชุมชนและองค์กรชุมชนทั่วประเทศเกิดความเข้มแข็ง พึ่งพาตัวเองได้ จึงมีนโยบายและมาตรการต่างๆ ออกมาเพื่อช่วยเหลือและแบ่งเบาภาระของพี่น้ององค์กรชุมชนในยามวิกฤตนี้
เปิด ‘ตลาดนัดองค์กรชุมชน’ ขายสินค้าทางออนไลน์
ผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ทำให้พี่น้ององค์กรชุมชนที่รวมกลุ่มกันผลิตสินค้าการเกษตรและสินค้าต่างๆ ขายสินค้าได้น้อยลง บางรายไม่สามารถส่งสินค้าไปจำหน่ายยังตลาดต่างประเทศได้ เช่น กลุ่มวิสาหกิจผลิตมะม่วงมหาชนก อ.หนองกุงศรี จ.กาฬสินธุ์ มีสมาชิก 40 ราย พื้นที่เพาะปลูกประมาณ 600 ไร่ มีผลผลิตประมาณปีละ 200-300 ตัน ทำรายได้ประมาณปีละ 4-5 ล้านบาท แต่ปีนี้ได้รับผลกระทบเนื่องจากบริษัทรับซื้อขาดแรงงาน เพราะแรงงานต่างด้าวได้เดินทางกลับประเทศจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัส
นอกจากนี้ยังมีกลุ่มมะม่วงคุณภาพบ้านวังน้ำบ่อ อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก ที่เคยส่งมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองไปจำหน่ายในตลาดยุโรป แต่ขณะนี้ไม่สามารถขนส่งไปยุโรปได้
สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ จึงสนับสนุนให้พี่น้ององค์กรชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศเข้ามาขายสินค้าทางออนไลน์ มีสินค้าจากเหนือจรดใต้ เช่น ปลาแห้ง ส้มไข่ปลาจากลุ่มน้ำโขง จ.บึงกาฬ ก๋วยจั๊บสำเร็จรูปจาก จ.อำนาจเจริญ มะม่วงสุกมหาชนกจาก จ.กาฬสินธุ์ มะม่วงน้ำดอกไม้สีทองจาก จ.พิษณุโลก ข้าวสาร อาหารแห้ง จาก ต.หนองสาหร่าย จ.กาญจนบุรี ปลาเค็มจากมหาวิทยาลัยบ้านนอก จ.ระยอง น้ำบูดูสายบุรี จ.ปัตตานี ผักและผลไม้ปลอดสารเคมีจากสหกรณ์การเกษตรอินทรีย์ปราจีนบุรี สินค้าชุมชนจาก อ.หนองม่วง จ.ลพบุรี และอื่นๆ อีกมากมาย ผู้ที่สนใจสามารถเข้าไปดูสินค้าได้ที่ Facebook ตลาดนัดองค์กรชุมชน และสั่งซื้อสินค้าจากผู้ผลิตได้โดยตรง
พอช.พักหนี้บ้านมั่นคง 3 เดือนช่วยชุมชนลดดอกเบี้ย 42 ล้านบาท
จากผลกระทบด้านเศรษฐกิจดังกล่าว สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ หรือ พอช. จึงมีมาตรการพักชำระหนี้ให้แก่องค์กรชุมชน โดยไม่ต้องชำระเงินต้น ดอกเบี้ย และไม่คิดดอกเบี้ยในระยะเวลา 3 เดือน เริ่มตั้งแต่เดือนเมษายน-มิถุนายน 2563 สำหรับองค์กรผู้ใช้สินเชื่อประมาณ 500 องค์กร มีสมาชิกประมาณ 50,000 ครัวเรือน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อด้านที่อยู่อาศัยตามโครงการ ‘บ้านมั่นคง’ วงเงินดอกเบี้ยที่ลดลงรวมประมาณ 42 ล้านบาท
โครงการ ‘บ้านมั่นคง’ เป็นโครงการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของประชาชนที่มีรายได้น้อยทั่วประเทศ ทั้งในเมืองและชนบท โดยชาวชุมชนที่มีความเดือดร้อนด้านที่อยู่อาศัย ไม่มีความมั่นคงในที่ดิน เช่น เช่าที่ดิน ปลูกสร้างบ้านในที่ดินของรัฐหรือเอกชน รวมตัวกันแก้ไขปัญหาและบริหารงานในรูปแบบของสหกรณ์ โดยการซื้อที่ดินหรือเช่าอย่างถูกต้อง หรือปรับปรุงบ้านในที่ดินเดิม เพื่อให้มีความมั่นคงในที่ดินและที่อยู่อาศัย
3.บรรยาย / โครงการบ้านมั่นคงทำให้ผู้ที่มีรายได้น้อยเข้าถึงสินเชื่อในระบบ สร้างความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัยทั่วประเทศแล้วกว่า 1 แสนครัวเรือน
โดย พอช. สนับสนุนงบประมาณและสินเชื่อระยะยาวให้แก่กลุ่ม องค์กร หรือสหกรณ์ที่ชาวชุมชนจัดตั้งขึ้นมา แล้วผ่อนชำระคืนเป็นรายเดือนให้แก่ พอช. เริ่มดำเนินโครงการบ้านมั่นคงตั้งแต่ปี 2546 ปัจจุบันดำเนินการไปแล้วทั่วประเทศ รวม 1,231 โครงการ จำนวน 112,777 ครัวเรือน ทำให้ประชาชนที่มีรายได้น้อยมีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม และมีการพัฒนาคุณภาพชีวิตต่างๆ เช่น ส่งเสริมอาชีพ ปลูกผักสวนครัว กิจกรรมเด็ก การจัดการขยะ บำบัดน้ำเสีย การดูแลสิ่งแวดล้อม ฯลฯ
เพิ่มการจ้างงานโครงการบ้านพอเพียงชนบท 50,000 คน
สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ ยังปรับลดงบประมาณโครงการบ้านมั่นคงปี 2563 เพื่อนำไปใช้ในโครงการ ‘บ้านพอเพียงชนบท’ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ และเกิดการจ้างงานในท้องถิ่นในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ โดยจะซ่อมแซม/สร้างที่อยู่อาศัยครัวเรือนที่มีฐานะยากจน สภาพบ้านเรือนทรุดโทรมไม่เหมาะสมกับการอยู่อาศัย รวมทั่วประเทศ 22,276 ครัวเรือน รวมงบประมาณ 451 ล้านบาทเศษ (รวมงบประมาณเดิมจากโครงการบ้านพอเพียงชนบทปี 2563) หรือเฉลี่ยครัวเรือนละ 20,250 บาท ตำบลละประมาณ 10-20 ครัวเรือน ซึ่งจะทำให้เกิดการจ้างงานในชุมชนเพื่อช่วยกันซ่อมแซมบ้านได้ประมาณ 50,000 คนทั่วประเทศ อัตราค่าจ้างไม่น้อยกว่าคนละ 300 บาท/วัน
นอกจากนี้ยังมี ‘โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้มีรายได้น้อยในชุมชนเมืองและชนบท’ วงเงิน 144 ล้านบาท แยกเป็น 1.โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชนเมือง งบประมาณรวม 72 ล้านบาท เป้าหมายเครือข่ายชุมชนเมือง 317 เครือข่าย/เมือง รวมทั้งชุมชนเดี่ยวที่ยังไม่มีเครือข่าย เครือข่ายชุมชนริมคลอง เครือข่ายสลัมสี่ภาค และศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตคนไร้บ้าน 5 ศูนย์ งบประมาณโครงการละ 30,000 -300,000 บาท เน้นให้เครือข่ายชุมชนทั้งที่การทำโครงการบ้านมั่นคงและชุมชนรายได้น้อยอื่นๆ ในเมืองให้มีเชื่อมโยงกัน สำรวจข้อมูล วางแผนการพัฒนาคุณภาพชีวิตทั้งกรณีเฉพาะหน้า และระยะยาว เช่น การทำครัวกลาง จัดเตรียมข้าวสาร อาหารแห้ง การปลูกผักสวนครัว การปรับ/พัฒนาทักษะอาชีพ การตั้ง/ฟื้นฟูกองทุนชุมชน การเชื่อมโยงสินค้าเมืองสู่ชนบท ฯลฯ
2.โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชนชนบท งบประมาณ 72 ล้านบาท พื้นที่เป้าหมาย 1,500 ตำบล เฉลี่ยตำบลละ 45,000 บาท โดยเน้นให้เครือข่ายสภาองค์กรชุมชน สวัสดิการชุมชน ที่ดินที่อยู่อาศัยชนบท ร่วมกับท้องที่ท้องถิ่น จัดทำข้อมูล แผนพัฒนาคุณภาพชีวิตแผนพัฒนาที่อยู่อาศัย /ที่ดินทำกิน ขับเคลื่อนงานบางเรื่องร่วมกัน เช่น การสร้างความมั่นคงทางอาหาร แบ่งปันเมล็ดพันธุ์ ปลูกพืชผัก พัฒนาอาชีพให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ค่าตอบแทน/ค่าอาหารในการช่วยซ่อม/สร้างบ้านผู้ยากลำบาก การตั้ง/ฟื้นฟูกองทุนชุมชน เชื่อมโยงสินค้าชนบทเมือง ฯลฯ
‘ข้าวแลกปลา’ แลกเปลี่ยนอาหารจากพี่น้องภาคเหนือ-อีสาน
สู่ชุมชนชาวเลหาดราไวย์ จังหวัดภูเก็ต
นายสนิท แซ่ฉั่ว ตัวแทนชาวเลหาดราไวย์ จังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ชาวเลส่วนใหญ่มีอาชีพประมงพื้นบ้าน และทำงานรับจ้างทั่วไป มีทั้งหมด 255 หลังคาเรือน รวม 1,373 คน เมื่อสถานการณ์ไวรัสระบาด มีการปิดจังหวัดภูเก็ต ทำให้ชาวเลขายสินค้าประมงไม่ได้ งานรับจ้างที่เคยทำก็ไม่มี จึงไม่มีรายได้มาซื้อข้าวกิน กลุ่มชาวเลจึงร่วมกับหลายหน่วยงาน เช่น มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ มูลนิธิชุมชนไท ศูนย์มนุษย์วิทยาสิรินธร และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ร่วมกันประสานงานโครงการ ‘ข้าวแลกปลา’ โดยชาวเลหาดราไวย์จะออกเรือจับปลา เพื่อนำมาทำปลาแห้งหรือปลาเค็มนำไปแลกเปลี่ยนกับข้าวสาร
“ตอนนี้เราช่วยกันจับปลากล้วยเหลือง นำมาทำปลาแห้งโดยแบ่งกลุ่มกันทำ มี 3 กลุ่มๆ ละ 6-7 คน ช่วยกันทำปลาแล้วเอาไปตากแห้ง ถ้าแดดดีๆ 3 วันก็แห้ง เราตั้งเป้าจะทำปลาแห้งได้ทั้งหมดประมาณ 3,000 กิโลฯ เอาไปแลกข้าวกับพี่น้องกะเหรี่ยง 1,500 กิโลฯ และพี่น้องชาวนาที่จังหวัดยโสธรอีก 1,500 กิโลฯ” ตัวแทนชาวเลหาดราไวย์บอก
ดร.สุวิชาน พัฒนาไพรวัลย์ ตัวแทนชาวกะเหรี่ยง ผู้ประสานงานโครงการข้าวแลกปลา บอกว่า ตอนนี้พี่น้องจากภาคเหนือ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวปาเกอะยอ (กะเหรี่ยง) ที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนและเชียงใหม่ กำลังรวบรวมข้าวสารเพื่อนำมาแลกปลาแห้ง ปลาเค็มกับพี่น้องชาวเลหาดราไวย์ ตั้งเป้าข้าวสารประมาณ 5,000 ก.ก. ตอนนี้รวบรวมข้าวได้แล้วประมาณ 2,000 ก.ก. และจะเริ่มแลกเปลี่ยนภายในช่วงปลายเดือนเมษายนนี้เป็นต้นไป โดยมีบริษัทเอกชน คือบริษัท 360 TRUCK ช่วยเรื่องรถบรรทุก โดยนำข้าวจากจังหวัดเชียงใหม่ไปภูเก็ตและขากลับจะเอาปลาแห้งมา
“พี่น้องกะเหรี่ยงก็อยากจะกินปลา จึงเอาข้าวไปแลก เป็นข้าวไร่ หรือข้าวพันธุ์ดั้งเดิมของพี่น้องกะเหรี่ยง ไม่ใช้สารเคมี แต่ก็ถือว่าเป็นการช่วยเหลือกันในยามยากมากกว่า เพราะถ้าคิดตามราคาตลาด ข้าวสาร 4 กิโลฯ (ราคาประมาณ 120 บาท) จะเท่ากับปลาแห้ง 1 กิโลฯ แต่ตอนนี้เราคิดอัตราใหม่ คือ ข้าวสาร 7.5 ก.ก.ต่อปลาแห้ง 1 ก.ก. เพื่อช่วยเหลือพี่น้องชาวเล” ตัวแทนชาวกะเหรี่ยงบอก
ทั้งนี้หากคิดอัตราแลกเปลี่ยนข้าวสาร 7.5 ก.ก. ต่อปลาแห้ง 1 ก.ก. พี่น้องชาวเลหาดราไวย์มีปลาแห้งทั้งหมด 3,000 ก.ก. จะแลกข้าวได้ 22,500 ก.ก. หรือ 22.5 ตัน
นอกจากนี้ ดร.สุวิชาน ยังบอกถึงแผนงานต่อไปว่า ในระยะยาวหลังจากหมดสถานการณ์โควิดแล้ว พี่น้องชาวกะเหรี่ยง ชาวเล และพี่น้องทั่วไปก็อยากจะให้มีโครงการแลกข้าวปลาอาหารกันต่อไป โดยไม่ต้องซื้อขาย แต่ช่วงนื้ถือว่าเป็นการทดลอง และช่วยเหลือกันเฉพาะหน้าก่อน หลังจากนี้จะร่วมกันสรุปบทเรียน และจะมีการพูดคุยวางแผนการทำงานร่วมกัน เช่น เรื่องการขนส่งระหว่างภาคจะทำอย่างไร อาจจะต้องมีรถบรรทุกห้องเย็น เพื่อถนอมอาหารต่างๆ เช่น ปลาสด ผักสด ผลไม้สด หรือต้องมีโกดัง (Were House) เพื่อเก็บสินค้าได้นาน เช่น ในยามวิกฤต ภัยพิบัติ เพื่อนำข้าวปลา อาหาร สด แห้ง ไปแลกเปลี่ยนช่วยเหลือพี่น้องได้ทั่วประเทศ
สช.จับมือ พอช.สร้าง ‘พลเมืองตื่นรู้’
รองรับปัญหาระยะเร่งด่วน-ฟื้นฟู-ระยะยาว
ตามที่คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) และภาคีเครือข่าย เช่น สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ ได้บูรณาการแผนงาน เครื่องมือ และงบประมาณ เพื่อหนุนช่วยการทำงานในพื้นที่ให้เกิดการขับเคลื่อน จากประชาชนที่ตกอยู่ในภาะที่ตื่นกลัว ให้ปรับเป็น ‘พลเมืองที่ตื่นรู้’ เพื่อสู้ภัยโควิด-19 โดยจะใช้พื้นที่ตำบลเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ เป็นพื้นที่และฐานดำเนินงาน โดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง และมีหน่วยงานต่างๆ จากส่วนกลางช่วยหนุนเสริม เพื่อให้ประชาชนได้รับการดูแล และป้องกันตัวเองได้นั้น
ล่าสุดเมื่อวันที่ 16 เมษายน ที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ ถนนนวมินทร์ เขตบางกะปิ กรุงเทพฯ มีการประชุมหารือระหว่างคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) กับคณะผู้บริหารสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ และผู้แทนขบวนองค์กรชุมชน เพื่อ ติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานของแต่ละหน่วยงาน รวมทั้งการหารือแนวทางการขับเคลื่อนงานร่วมกันในระยะต่อไป เพื่อให้พื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมในการรองรับปัญหาสังคมและเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
ทั้งนี้การทำงานด้านสังคมของ พอช. ในช่วงสถานการณ์ไวรัสโควิด ได้มีการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการ หรือ ‘ศปก. พอช. COVID-19’ ขึ้นมา เพื่อขับเคลื่อนงานด้านต่าง ๆ โดยมีคณะทำงาน 6 ชุด ประกอบด้วย 1. ทีมข้อมูลสื่อสาร 2.ทีมปฏิบัติการชุมชน 5 ภาค 3.ทีมแผนงานและงบประมาณ 4.ทีมสำนักงานและบุคลากร 5.ทีมตลาดออนไลน์สินค้าชุมชน และ 6.ทีมระดมทุนและแลกเปลี่ยนสินค้า โดยมีผลการดำเนินงานสำคัญ เช่น 1.การจัดทำแผนเศรษฐกิจและแผนแก้ไขผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสในพื้นที่ 300 เมือง และประมาณ 2,500 ตำบล 2.มาตรการการพักหนี้ชุมชน 3 เดือน 500 องค์กร 3.การจัดทำแผนพัฒนาตำบลประมาณ 500 ตำบล ฯลฯ
ในการประชุมร่วมระหว่าง สช.กับ พอช.และผู้แทนขบวนองค์กรชุมชนครั้งนี้ ได้มีข้อสรุปการทำงานร่วมกันดังนี้ 1.ระดับนโยบาย (1) ขยายความร่วมมือไปยังภาคียุทธศาสตร์อื่นที่มากกว่าปัจจุบัน (2) การจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการสนับสนุนพื้นที่ (3) การตั้งศูนย์ข้อมูลกลาง (4) การสื่อสารเพื่อยกระดับการทำงาน
2.ระดับพื้นที่ (1) ระดับภาค การทำงานในระดับภาค พอช. ช่วยประสานงานเพื่อหนุนช่วยการทำงานในภาค
(2) ระดับเขต/กลุ่มจังหวัด สร้างกลไกหารือประสานความร่วมมือและข้อตกลงสนับสนุนตามบริบทพื้นที่ (3) ระดับจังหวัด เวทีกลางสร้างพลเมืองตื่นรู้ระดับจังหวัด (4) ระดับอำเภอ ใช้กลไก พชอ.(คณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ) ติดตาม สนับสนุน รวบรวม (5) ระดับตำบล ปักหมุดความดีสื่อสารพื้นที่รูปธรรม เครื่องมือ กระบวนการทำงานในพื้นที่ให้เกิดการขยายไปสู่พื้นที่อื่น และสร้างมาตรการทางสังคม ระยะเร่งด่วน (สถานการณ์โควิด) ระยะฟื้นฟู (จัดทำแผนพัฒนาตำบลในด้านต่างๆ) ระยะเยียวยา (การสร้างความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่น)
ทั้งนี้การประชุมร่วมกันระหว่าง สช.กับ พอช. และภาคีเครือข่ายต่างๆ จะมีการประชุมเป็นระยะๆ เพื่อติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานของแต่ละหน่วยงาน การสรุปผลการดำเนินงาน รวมทั้งหารือแนวทางการขับเคลื่อนงานร่วมกันในระยะต่อไป จนกว่าสถานการณ์โควิด – 19 จะคลี่คลาย