กรมการแพทย์ โดยสถาบันโรคผิวหนังแนะวิธีป้องกันอันตรายจากแสงแดด เมื่อเข้าสู่หน้าร้อนอุณหภูมิที่พุ่งสูง พร้อมกับแสงแดดที่แผดเผาในทุก ๆ วัน ทำให้เกิดปัญหาผิวหนัง เช่น ผิวแดงไหม้ ผิวคล้ำ อาจจะทำให้เกิดมะเร็งผิวหนังได้ จึงจำเป็นต้องป้องกันแสงแดดด้วยวิธีต่าง ๆ เพื่อสุขภาพผิวที่ดี
นายแพทย์ณรงค์ อภิกุลวณิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ และโฆษกกรมการแพทย์ กล่าวว่า แสงแดดมีทั้งประโยชน์ และอาจทำให้เกิดอันตรายต่อผิวหนังได้ หากได้รับในปริมาณที่มากเกินไป ช่วงเวลาที่ทำให้เกิดอันตรายต่อผิวหนังมากที่สุด คือ ช่วงแดดจัด ๆ ตั้งแต่เวลา 10.00-15.00 น. โดยอันตรายจากแสงแดดที่สังเกตได้ เช่น มีอาการผิวไหม้แดง แสบร้อนทุกครั้งที่ออกแดด แสงแดดประกอบด้วยแสงหลากหลายชนิด ซึ่งแสงที่ทำให้เกิดอันตรายต่อผิวหนังมากที่สุด คือ แสงอัลตราไวโอเลต หรือที่เรียกว่า UV มีผลทำให้ผิวแดงไหม้ ผิวคล้ำ ผิวแห้งกร้าน เป็นฝ้า ตกกระ แก่ก่อนวัย และอาจก่อให้เกิดโรคมะเร็งของผิวหนังได้ในระยะยาว แสง UV ที่ส่องผ่านมายังโลกและเป็นอันตรายต่อผิวมนุษย์สามารถแยกได้เป็น 2 ชนิดด้วยกัน คือแสง UVA และแสง UVB ซึ่งแสง UVA มีช่วงคลื่นยาวกว่า UVB สามารถผ่านทะลุเข้าไปถึงชั้นหนังกำพร้าและชั้นหนังแท้ ทำให้ผิวหนังเหี่ยวย่น ผิวคล้ำ เป็นฝ้ากระ และทำให้เป็นมะเร็งผิวหนังได้ ส่วนแสง UVB เป็นแสงช่วงคลื่นสั้นกว่า UVA ทำให้เกิดผิวไหม้แดด จะมีอาการผิวบวมแดง และอาจพองปวดแสบร้อน ผิวไหม้และแห้งกร้าน ผิวเหี่ยวย่น คล้ำ เป็นฝ้า กระ
แพทย์หญิงมิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กล่าวเพิ่มเติมว่า ผิวหนังที่ถูกแสงแดดเป็นประจำมีความเสี่ยงอาจจะทำให้เกิดมะเร็งผิวหนังได้ ดังนั้น ควรหลีกเลี่ยงการตากแดด หากจำเป็นต้องตากแดดควรใส่เสื้อแขนยาวคอปิด กางร่มหรือใส่หมวกปีกกว้าง และทาครีมกันแดดเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอ เพราะโอกาสได้รับรังสี UV แม้อยู่ในร่ม เนื่องจากพื้นคอนกรีต พื้นน้ำ พื้นทราย สามารถสะท้อนรังสี UV เข้าสู่ผิวกายได้ สำหรับการเลือกใช้ครีมกันแดดควรเลือกชนิดที่เหมาะกับผิวและมีประสิทธิภาพในการป้องกันแสงแดดอย่างแท้จริง ตัวเลข SPF คือ ความสามารถของครีมกันแดดที่จะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดอาการแดงไหม้ซึ่งเกิดจาก UVB โดยจะแสดงค่าความสามารถในการป้องกันแสงแดดเป็นตัวเลข เช่น SPF 15, 30 เป็นต้น ถ้า SPF 15 หมายความว่า คนๆ หนึ่งตากแดด 30 นาทีแล้วเกิดผิวแดง ไหม้แสบ แต่ถ้าทาครีมกันแดดที่มีค่า SPF 15 จะสามารถตากแดดได้นานเป็น 15 เท่าของ 30 นาที หรือ ประมาณ 7 ชั่วโมงครึ่ง โดยไม่ก่อให้เกิดอาการแดงที่ผิวหนัง ที่สำคัญต้องเลือกครีมกันแดดที่สามารถป้องกัน UVAได้ โดยต้องมีส่วนผสมของสารกันแดดหรือสารกันแดดที่สะท้อนแสง ซึ่งทาแล้วอาจจะทำให้หน้าขาวบ้าง แต่ข้อดีคือไม่มีอาการระคายเคืองและไม่แพ้ ทั้งนี้ การทาครีมกันแดดควรเริ่มทาอย่างสม่ำเสมอตั้งแต่เด็ก โดยเฉพาะเด็ก ๆ ที่เรียนว่ายน้ำ หรือเล่นกีฬากลางแจ้ง เพราะแสงอัลตราไวโอเลตจะมีผลเสียต่อผิวหนังแบบสะสม ดังนั้นการทาครีมกันแดดจึงเป็นเกราะป้องกันผิวหนังที่ดี
#กรมการแพทย์ #สถาบันโรคผิวหนัง #ดูแลผิวหนังในหน้าร้อน