วันที่ 14 เม.ย. 63 ที่บริเวณโถงชั้น 1 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สะพานขาว ถ.กรุงเกษม กทม. นางสาวสราญภัทร อนุมัติราชกิจ รองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เปิดเผยถึงผลการสำรวจ “ครอบครัวไทยในภาวะวิกฤติ COVIC-19” ใน 3 ประเด็น ได้แก่ 1) การปฏิบัติตัวของประชาชน ในภาวะวิกฤต COVID-19 2)กิจกรรมขณะอยู่บ้าน Stay at home ในภาวะวิกฤต COVID-19 และ 3) การอยู่ร่วมกันในครอบครัว Stay at home ในภาวะวิกฤต COVID-19 โดยสำรวจจากประชาชนอายุ 15 ปีขึ้นไป ทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศจำนวน 2,069 ตัวอย่าง ซึ่งมีข้อคำถามเกี่ยวกับการรับทราบข้อมูลการปฏิบัติตัวของประชาชนและสถานการณ์การอยู่ร่วมกันในครอบครัวในภาวะวิกฤต COVIC-19 ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ระหว่างวันที่ 10 – 13 เมษายน 2563 ในแต่ละประเด็นที่ทำการสำรวจ พบข้อมูลที่น่าสนใจ ดังนี้
ประเด็นที่ 1 การปฏิบัติตัวของประชาชนในภาวะวิกฤต COVID-19 ในช่วงระยะเวลา 1 เดือนที่ผ่านมา ประชาชนส่วนใหญ่ให้ความร่วมมือปฏิบัติตามนโยบายและมาตรการของรัฐบาลอย่างเคร่งครัด ดังนี้ ผลสำรวจในประเด็นนี้ พบว่า ร้อยละ 96.4 สมาชิกในครอบครัวส่วนใหญ่มีการสวมใส่หน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าทุกครั้งที่ออกนอกบ้าน ร้อยละ 88.3 มีความพยายามหลีกเลี่ยงการออกนอกบ้าน ไม่ไปอยู่ในสถานที่สาธารณะที่มีผู้คนแออัดและหลีกเลี่ยงงานเลี้ยงสังสรรค์ ร้อยละ 84.3 มีการทานอาหารที่ถูกสุขลักษณะ กินร้อน ช้อนส่วนตัวและล้างมือบ่อยมากขึ้น
ประเด็นที่ 2 กิจกรรมที่ประชาชนทำขณะอยู่บ้าน Stay at home ในภาวะวิกฤต COVID-19 เมื่อพิจารณาถึงกิจกรรมของครอบครัวที่ทำขณะอยู่บ้าน พบว่า ร้อยละ 98.8 มีการติดตามข่าวสารบ้านเมืองและข่าวสถานการณ์ COVID-19 ร้อยละ 85.6 มีส่วนร่วมในการช่วยเหลือสังคมด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น บริจาคเงิน ทำบุญ จิตอาสา ร้อยละ 82.0 มีการเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ มากขึ้น นอกจากนี้ ยังพบว่านโยบายทำงานที่บ้าน (Work for home) พบว่า สมาชิกครอบครัว 7 ใน 10 คน ทำงานที่บ้านมีสัดส่วน 1 ใน 4 คน ที่ใช้เวลาทำงานมากพอๆ กับที่ทำงาน แม้ว่าจะมีสถานการณ์วิกฤตจากโรคระบาด ครอบครัวไทยส่วนใหญ่ ร้อยละ 96.0 ไม่ได้ใช้ความรุนแรงทำร้ายร่างกายกัน อย่างไรก็ตาม อาจเป็นเพราะความตึงเครียด ทำให้สมาชิกครอบครัวเพียงร้อยละ 56.4 เท่านั้นที่สามารถควบคุมการใช้อารมณ์รุนแรงหรือไม่ใช้อารมณ์รุนแรงกับคนในครอบครัว และที่น่าห่วงใย คือ มีครอบครัวไทยร้อยละ 5.8 ที่เมื่อมีความหงุดหงิดและโมโหแทบไม่สามารถควบคุมการใช้อารมณ์กับคนในครอบครัวได้เลย ซึ่งในจำนวนนี้มีร้อยละ 0.9 ที่มีการใช้ความรุนแรงทำร้ายร่างกายกัน จนได้รับบาดเจ็บ
นางสาวสราญภัทร กล่าวต่อว่า ประเด็นที่ 3 การอยู่ร่วมกันของครอบครัวในภาวะวิกฤติ COVID-19 พบว่า ร้อยละ 94.6 มีความเห็นว่าสถาบันครอบครัว คือสถาบันที่มีความสำคัญมากที่สุด ร้อยละ 84.0 คือ รู้สึกมีความสุขที่ได้อยู่ร่วมกับครอบครัว และร้อยละ 68.9 มีการตัดสินใจเรื่องต่างๆ ร่วมกับครอบครัว อย่างไรก็ตาม มีประเด็นที่น่ากังวล คือ มีครอบครัวไทยเพียงร้อยละ 23.4 เท่านั้น ที่ไม่มีปัญหาด้านการเงินและสามารถดูแลรับผิดชอบค่าใช้จ่ายของครอบครัวได้ในภาวะวิกฤตนี้ สำหรับครอบครัวร้อยละ 61.4 พอที่จะสามารถจัดการแก้ไขปัญหาทางการเงินและดูแลรับผิดชอบค่าใช้จ่ายของครอบครัวได้แต่สำหรับครอบครัวอีกร้อยละ 14.7 มีปัญหาทางเศรษฐกิจอย่างมาก เพราะแทบไม่สามารถจัดการด้านการเงินและค่าใช้จ่ายของครอบครัวได้เลย
นายสาวสราญภัทร กล่าวเพิ่มเติมว่า ทั้งนี้ มีครอบครัวเกือบ 2 ใน 3 หรือ ร้อยละ 65.5 มีความเชื่อถือข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข และมีความเชื่อมั่นการทำงานของรัฐรวมถึงบุคลากรทางการแพทย์ ที่สำคัญ จากภาวะวิกฤตนี้ ทำให้ประชาชนกว่า 6 ใน 10 หรือ ร้อยละ 60.1 มีการใช้ชีวิตความเป็นอยู่แบบพอเพียงมากขึ้น จะเห็นได้ว่าวิกฤติโรคระบาด COVID-19 ได้ส่งผลกระทบทั้งในระดับบุคคล ครอบครัว และระดับประเทศ ซึ่งบทบาทของครอบครัวไทย มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่จะทำให้รอดพ้นจากภาวะวิกฤตนี้ได้ด้วยความร่วมมือร่วมใจของสมาชิกในครอบครัวทุกคน คือ การอยู่กับบ้าน Stay at home ออกนอกบ้านเท่าที่จำเป็นเท่านั้น
ซึ่งนอกจากเป็นโอกาสที่ดีที่ครอบครัวจะได้อยู่พร้อมหน้ากัน มีความรัก ความอบอุ่น และได้เรียนรู้กันให้มากขึ้น ยังเป็นการปฏิบัติตามมาตรการรัฐบาล “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” สนับสนุนให้กำลังใจบุคลากรทางการแพทย์ และเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้อง ให้สามารถจัดการป้องกันและแก้ไขปัญหาวิกฤตโรคระบาดนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และที่สำคัญ เราจะผ่านวิกฤตนี้ไปด้วยกัน เพื่อความปลอดภัยของคนไทยทุกคน
ทั้งนี้ ในสถานการณ์ที่ไม่ปกติเช่นนี้ หากประชาชนประสบปัญหาทางสังคม หรือพบเห็นผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือ สามารถโทรแจ้ง ศูนย์ช่วยเหลือสังคม สายด่วน พม. โทร. 1300 บริการฟรี 24 ชั่วโมง ซึ่งกระทรวง พม. พร้อมให้คำปรึกษาและดำเนินการช่วยเหลืออย่างเต็มที่ นางสาวสราญภัทร กล่าวในตอนท้าย
สรุปรายงานผลการสำรวจ “ครอบครัวไทย” ในภาวะวิกฤต COVID – 19 http://www.dwf.go.th/Content/View/10474/1