“จุรินทร์ “ ประธานประชุม “ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ – มันสำปะหลัง” หาแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรในสถานการณ์วิกฤติโควิด-19 ชูนโยบาย”เกษตรผลิต พาณิชย์การตลาด”

เห็นชอบประกันภัย 7 อย่างผู้ปลูกข้าวโพด ช่วยเหลือผู้ปลูกมันสำปะหลัง ที่ตกหล่นยังไม่ได้รับเงินส่วนต่างประกันรายได้ เตรียมนำเข้า ประชุม ครม. ขอเพิ่มงบช่วยเหลือเกษตรกร

วันที่ 13 เมษายน 2563 ที่กระทรวงพาณิชย์ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน การประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ – มันสำปะหลัง ครั้งที่ 1/2563 ภายหลังการประชุม นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ประธานในที่ประชุม แถลงผลการประชุมว่า

วันนี้ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ได้ให้ความเห็นชอบเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพด 2 เรื่อง คือ เรื่องที่หนึ่งการประกันภัยพืชผลหรือการประกันภัยข้าวโพดจะช่วยให้ชาวไร่ข้าวโพด หากประสบภัย7 ชนิด หรือประสบภัยจากโรคระบาดจะได้รับเงินชดเชยเพื่อช่วยเหลือพืชผลทางการเกษตรที่เสียหาย โดยรัฐบาลกับ ธกส.จะร่วมมือกันในการจ่ายเบี้ยประกันแทนชาวไร่ข้าวโพดไร่ละ 160 บาท โดยเบี้ยประกัน 160 บาทต่อไร่นั้น รัฐบาลจะจ่ายให้ 96 บาท และ ธกส. จะช่วยจ่ายให้ 64 บาท ถ้าชาวไร่ข้าวโพดผลผลิตเสียหายจากเหตุ 7 ชนิด เช่น น้ำท่วม ภัยแล้ง พายุ เป็นต้น จะได้รับเงินชดเชยไร่ละ 1,500 บาท แต่ถ้าเกิดจากโรคระบาดจะได้รับการชดเชยไร่ละ 750 บาท โดยจะใช้วงเงินทั้งหมด 313 ล้านบาท เพื่อดำเนินการเรื่องนี้โดยให้ ธกส. สำรองจ่ายไปก่อนและรัฐบาลจะตั้งวงเงินชดเชยให้ในปีถัดไป

เรื่องที่สองการขยายระยะเวลานโยบายประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดซึ่งแต่เดิมนั้นได้กำหนดระยะเวลาการประกันรายได้ไว้สำหรับผู้ปลูกข้าวโพดตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2562 ไปจนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2563 ทำให้เกิดช่องว่างระหว่างวันที่ 1 มิถุนายน 2562 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2562 ทำให้เกษตรกรที่ปลูกในช่วงเดือนนี้ไม่สามารถได้รับเงินส่วนต่างจากนโยบายประกันรายได้ได้ วันนี้ที่ประชุมจึงมีมติให้ความเห็นชอบว่าเปิดโอกาสให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2562 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2562 สามารถได้รับเงินจากโครงการประกันรายได้ได้ด้วยโดยมีเกษตรกรอยู่ประมาณ 150,000 ราย ใช้วงเงินงบประมาณ 670 ล้านบาทจะได้รับเงินส่วนต่างชดเชยกิโลกรัมละ 29 สตางค์โดยประมาณ ซึ่งจะให้ ธกส. สำรองจ่ายไปก่อนและรัฐบาลจัดตั้งงบประมาณชดเชยให้ในปีถัดไป พร้อมทั้งจะเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อขอความเห็นชอบต่อไป

สำหรับเรื่องมันสำปะหลัง ที่ประชุมมีความเห็นชอบในเรื่องสำคัญ 2 เรื่องด้วยกัน

เรื่องที่ 1 การปฎิบัติตามนโยบายประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง ซึ่งได้มีการประกันรายได้ไว้ที่กิโลกรัมละ 2.50 บาทและมีการกำหนดการจ่ายเงินส่วนต่างรวม 12 งวด คือเดือนละ 1 งวดทุกวันที่ 1 ของเดือน ที่ผ่านมาได้มีการจ่ายไปแล้ว 5 งวดด้วยกัน ยังเหลืออยู่อีก 7 งวดซึ่งงวดถัดไปวันที่ 1 พฤษภาคมที่จะถึงนี้ อย่างไรก็ตามเนื่องจากช่วงเวลาที่ผ่านมาราคาหัวมันสดตกต่ำลงไปมากส่วนหนึ่งเกิดจากภัยแล้งทำให้เชื้อแป้งไม่ได้ตามเกณฑ์ที่ควรจะเป็นทำให้เกษตรกรมีรายได้ในราคาที่ต่ำลงประกอบกับโควิดทำให้ความต้องการในตลาดต่างประเทศมีปัญหาในเรื่องของการส่งออกหลายส่วน เพราะฉะนั้นรัฐบาลจำเป็นต้องจ่ายเงินชดเชยส่วนต่างเพิ่มมากขึ้น ทำให้งวดที่ 6 ถึงงวดที่ 12 ที่ยังค้างอยู่นั้นจำเป็นจะต้องใช้เงินเพิ่มเติมอีกประมาณ 460 ล้านบาท จึงจำเป็นต้องขอมติจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อช่วยดูแลในงบประมาณส่วนนี้ต่อไป โดยจะขอให้ ธกส. ได้จ่ายสำรองไปก่อนและรัฐบาลก็จะตั้งจ่ายชดเชยในปีถัดไป

เรื่องที่ 2 เพื่อให้การช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังที่ประชุมมีความเห็นร่วมกันว่าควรขอความร่วมมือจากสมาคมที่เกี่ยวข้องกับมันสำปะหลังทั้งหมด 4 สมาคมด้วยกันประกอบด้วย สมาคมแป้งมัน สมาคมการค้ามันสำปะหลัง สมาคมมันสำปะหลังภาคอีสาน และสมาคมมันสำปะหลังภาคตะวันออก ได้หารือร่วมกันเพื่อที่จะหาแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังในช่วงระยะเวลาวิกฤตในปัจจุบันนี้ โดยขอให้หารือกันว่าสามารถที่จะช่วยรับซื้อหัวมันสดจากเกษตรกรในราคากิโลกรัมละ 2.30 บาท ที่เชื้อแป้ง 25% ได้หรือไม่ ทั้งนี้เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นในยามวิกฤตและขณะเดียวกันเพื่อเป็นการลดภาระการจ่ายเงินส่วนต่างของรัฐบาลไปอีกจำนวนหนึ่งได้ด้วยในเวลาเดียวกันซึ่งขอให้ 4 สมาคมนี้ ได้ไปหารือร่วมกันกับผู้แทนของกระทรวงพาณิชย์และขอคำตอบว่าจะสามารถดำเนินการได้หรือไม่อย่างไรโดยเร็วที่สุด

อย่างไรก็ตามสำหรับนโยบายประกันรายได้เกษตรกรที่ได้ดำเนินการมาของรัฐบาลทั้งในส่วนของข้าว มัน ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และข้าวโพดนั้นมีความคืบหน้าเป็นลำดับ เกษตรกรจำนวนมากได้รับเงินส่วนต่างไปโดยลำดับ อย่างไรก็ตามเชื่อว่ายังมีเกษตรกรจำนวนหนึ่งที่ยังประสบปัญหาติดขัดไม่ว่าจะเป็นรายละเอียดในเรื่องใดก็ตามที่มีสิทธิ์แต่ยังไม่ได้รับเงินส่วนต่างจากนโยบายประกันรายได้ เพราะฉะนั้นตรงนี้จึงเป็นที่มาที่วันนี้ได้มีการสั่งการให้กรมการค้าภายในกระทรวงพาณิชย์ได้จัดตั้งศูนย์รับเรื่องจากเกษตรกรที่ เชื่อว่าตนเองมีสิทธิ์ที่จะได้รับเงินส่วนต่างจากนโยบายประกันรายได้แต่ยังไม่ได้รับเงินเนื่องจากติดปัญหาอุปสรรค นอกจากจะไปร้องเรียนที่เกษตรตำบล กำนันผู้ใหญ่บ้าน หรือที่ ธกส. โดยตรงแล้ว กระทรวงพาณิชย์ก็จะเปิดรับเรื่องจากเกษตรกรโดยตรงผ่านหมายเลข 1569 โดยจะจัดเจ้าหน้าที่ไว้รับเรื่องนี้เป็นการเฉพาะและตรวจแยกข้อมูลเพื่อที่จะได้สั่งการไปยังผู้รับผิดชอบในแต่ละจังหวัดให้เร่งดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาให้เกษตรกรที่มีสิทธิ์ที่จะได้รับเงินส่วนต่างให้ได้รับเงินส่วนต่างโดยเร็ว

“เรื่องที่ผมได้เคยเรียนให้ทุกท่านได้รับทราบว่าภายใต้สถานการณ์วิกฤติโควิดที่เกิดขึ้นและรัฐบาลมีนโยบายที่จะออกพระราชกำหนดในการกู้เงินเพื่อมาใช้ในการเยียวยาและสนับสนุนให้ภาคส่วนต่าง ๆ สามารถผ่านพ้นวิกฤตไปได้ด้วยดีถือว่าเป็นนโยบายที่สังคมให้การตอบรับมาก” นายจุรินทร์กล่าว

ในส่วนของกระทรวงเกษตรกับกระทรวงพาณิชย์นั้น นายจุรินทร์กล่าวว่า เรื่องนี้คิดว่าจะต้องมีการดำเนินการบูรณาการร่วมกันในการทำงานเพราะทั้งหมดทั้ง 2 ส่วน ก็มีเป้าหมายเพื่อที่จะช่วยเหลือเกษตรกรจะดำเนินการบูรณาการร่วมกันภายใต้หลักการ “เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด” เพื่อควบคู่กันไปและจะมีการดำเนินการในโครงการต่าง ๆ เพื่อให้การช่วยเหลือเกษตรกรแบบครบวงจรทั้งในภาคการผลิตและภาคการแปรรูปรวมทั้งการตลาด ต่อไปไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการให้เงินช่วยเหลือเกษตรกรครัวละ 5,000 บาท ซึ่งกระทรวงเกษตรได้เตรียมการในการตั้งเรื่องที่เกี่ยวกับในเรื่องนี้แล้วและจะช่วยเหลือทั้งในส่วนของเกษตรด้านพืช ปศุสัตว์ ประมง และเกษตรแปรรูปต่อไปในภาคส่วนต่าง ๆ รวมทั้งการเตรียมการที่จะลดต้นทุนการผลิตปุ๋ยหรือในเรื่องอื่นๆ เรื่องของแหล่งน้ำ ในเรื่องของการเพิ่มผลผลิตให้มีคุณภาพมาตรฐานขึ้น รวมทั้งในเรื่องของการประสานการตลาด ซึ่งจะมุ่งเน้น 3 ส่วนทั้งตลาดในประเทศและตลาดต่างประเทศ หมายรวมถึงการส่งออกและตลาดอีคอมเมิร์ซหรือตลาดออนไลน์ซึ่งเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่งในสถานการณ์ปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นตลาดออนไลน์เพื่อการค้าในประเทศหรือต่างประเทศก็ตาม โดยทั้งหมดนี้ภายใต้หลักการ “เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด” ตนจะนำเรื่องนี้เข้าหารือกับนายกรัฐมนตรีเพื่อขอการสนับสนุนต่อไปเพื่อให้รัฐบาลสามารถที่จะเดินหน้าในการเข้ามาช่วยเหลือเกษตรกรได้อย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็วที่สุด