พอช.ช่วยชุมชนสู้พิษเศรษฐกิจจากโควิด-19 อนุมัติพักชำระสินเชื่อ-หนี้บ้านมั่นคงทั่วประเทศ 3 เดือน

สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ / พอช. ช่วยชุมชนสู้พิษเศรษฐกิจจากไวรัสโควิด-19  อนุมัติพักชำระสินเชื่อ หนี้บ้านมั่นคงทั่วประเทศอย่างน้อย 3 เดือน  ครอบคลุมผู้ใช้สินเชื่อจาก พอช. 480 กลุ่ม/องค์กร   ประมาณ 50,000  ครัวเรือน  นอกจากนี้ยังปรับลดงบประมาณโครงการบ้านมั่นคงเพื่อนำมาใช้ในโครงการ ‘บ้านพอเพียงชนบท’ สนับสนุนการซ่อมแซมบ้านเรือนที่ยากจนในชนบท  10,776 ครัวเรือน  ใช้งบ  242.46 ล้านบาท  รวมทั้งใช้งบ 144 ล้านบาทพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีรายได้น้อยในสถานการณ์ไวรัสโควิดระบาด  รวม 300 เมือง  1,500 ตำบล  ขณะที่ชาวชุมชนรวมพลังสร้างอาชีพ  สร้างแหล่งอาหารระยะยาว

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19  ทั่วโลก  รวมทั้งในประเทศไทย  ทำให้เกิดผลกระทบด้านเศรษฐกิจต่อประชาชนทั่วไป  เนื่องจากมีการปิดห้างร้าน สถานบริการต่างๆ  รวมทั้งการประกาศเคอร์ฟิวส์ทั่วประเทศ ส่งผลให้มีการจ้างงานน้อยลง  ประชาชนมีรายได้ลดลง  รัฐบาลและหน่วยงานต่างๆ จึงมีมาตรการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบ  เช่นเดียวกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’  ที่มีมาตรการช่วยเหลือชาวชุมชนทั่วประเทศซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้มีรายได้น้อย

บอร์ด พอช.อนุมัติพักชำระสินเชื่อ-หนี้บ้านมั่นคง 3 เดือน

ล่าสุดเมื่อวันที่  10 เมษายน  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ ได้เปิดเผยรายงานการประชุมคณะกรรมการสถาบันฯ เรื่องมาตรการบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนขององค์กรผู้ใช้สินเชื่อจากสถาบันฯ  โดยคณะกรรมการสถาบันฯ ได้ประชุมเมื่อวันที่ 2   เมษายน  โดยวิธีการเสนอญัตติวาระเพื่อขอมติโดยวิธีเวียน  มีกรรมการที่ตอบรับจำนวน  10 คน  ประกอบด้วย  นายไมตรี  อินทุสุต  ประธานคณะกรรมการสถาบันฯ  ผู้แทนหน่วยงานต่างๆ เช่น  กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กรมการพัฒนาชุมชน  ผู้แทนองค์กรชุมชนภาคเหนือ  ภาคใต้  ภาคกรุงเทพฯ ปริมณฑลและตะวันออก  ฯลฯ

               นายไมตรี  อินทุสุต  ประธานคณะกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ

โดยคณะกรรมการสถาบันฯ มีมติ  “เห็นชอบให้มีการพักชำระหนี้เพื่อช่วยเหลือองค์กรผู้ใช้สินเชื่อที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เป็นระยะเวลา 3 เดือน”

นอกจากนี้คณะกรรมการสถาบันฯ ยังมีข้อเสนอให้ประเมินสถานการณ์ช่วง 3 เดือนแรก   และเสนอคณะกรรมการสถาบันฯ  พิจารณา  หากมีความจำเป็นต้องขยายเวลาพักชำระหนี้ต่อไป

ทั้งนี้องค์กรชุมชนที่ขอใช้สินเชื่อจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ  หรือ พอช.  ส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อด้านการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัย  หรือโครงการ ‘บ้านมั่นคง’  ซึ่งปัจจุบันมีโครงการบ้านมั่นคงที่ใช้สินเชื่อจาก พอช. กระจายอยู่ทั่วประเทศ ประมาณ  480 กลุ่ม/องค์กร   มีสมาชิกที่เป็นผู้มีรายได้น้อยประมาณ 50,000 ครัวเรือน  โดยขณะนี้มีข้อมูลเบื้องต้นว่ามีกลุ่ม/องค์กรชุมชนที่ได้รับผลกระทบด้านเศรษฐกิจทั่วประเทศ  จำนวน 299  องค์กรที่ต้องการขอพักชำระหนี้

โครงการ ‘บ้านมั่นคง’  เป็นโครงการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของประชาชนที่มีรายได้น้อยทั่วประเทศ  ทั้งในเมืองและชนบท  โดยชาวชุมชนที่มีความเดือดร้อนด้านที่อยู่อาศัย  ไม่มีความมั่นคงในที่ดิน   เช่น  เช่าที่ดิน  ปลูกสร้างบ้านในที่ดินของรัฐหรือเอกชน  รวมตัวกันแก้ไขปัญหาและบริหารงานในรูปแบบของสหกรณ์  โดยการซื้อที่ดินหรือเช่าอย่างถูกต้อง  หรือปรับปรุงบ้านในที่ดินเดิม  เพื่อให้มีความมั่นคงในที่ดินและที่อยู่อาศัย

โดย พอช. สนับสนุนงบประมาณและสินเชื่อระยะยาวให้แก่กลุ่ม  องค์กร  หรือสหกรณ์ที่ชาวชุมชนจัดตั้งขึ้นมา  แล้วผ่อนชำระคืนเป็นรายเดือนให้แก่ พอช.  เริ่มดำเนินโครงการบ้านมั่นคงตั้งแต่ปี 2546  ปัจจุบันดำเนินการไปแล้วทั่วประเทศ รวม  1,231 โครงการ  จำนวน  112,777 ครัวเรือน  ทำให้ประชาชนที่มีรายได้น้อยมีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง  ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม  และมีการพัฒนาคุณภาพชีวิตต่างๆ  เช่น  ส่งเสริมอาชีพ  ปลูกผักสวนครัว  กิจกรรมเด็ก  การจัดการขยะ  บำบัดน้ำเสีย  การดูแลสิ่งแวดล้อม  ฯลฯ

โครงการบ้านมั่นคงเมืองชุมแพ  อ.ชุมแพ  จ.ขอนแก่น  สร้างเสร็จไปแล้วกว่า 1,000 หลัง

ปรับงบบ้านมั่นคง-พัฒนาคุณภาพชีวิตคนจน 300 เมือง  1,500   ตำบล

จากมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2563 เห็นชอบมาตรการด้านงบประมาณเพื่อบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19  ตามที่สำนักงบประมาณเสนอนั้น  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ  จึงได้เสนอแผนการปรับจ่ายงบประมาณโครงการบ้านมั่นคงในปีงบประมาณ 2563 เพื่อนำมาสนับสนุนโครงการบ้านพอเพียงชนบท  และปรับงบประมาณคงเหลือจากโครงการบ้านมั่นคง  เพื่อนำมาใช้ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีรายได้น้อยในเมืองและชนบท  โดยเสนอต่อคณะอนุกรรมการบ้านมั่นคงและจัดการที่ดินของ พอช.  และคณะกรรมการสถาบันฯ มีมติเห็นชอบดังนี้

1.เห็นชอบให้ปรับแผนการใช้จ่ายงบประมาณโครงการบ้านมั่นคงปีงบประมาณ 2563  จาก 5,500 ครัวเรือน  คงเหลือ  2,800 ครัวเรือน  งบประมาณ 251.44  ล้านบาท  นำมาสนับสนุนโครงการบ้านพอเพียงชนบท  จำนวน 10,776  ครัวเรือน  งบประมาณ 242.46 ล้านบาท

2.เห็นชอบปรับงบประมาณคงเหลือจากการดำเนินงานโครงการบ้านมั่นคงที่ไม่มีภาระผูกพัน  จำนวน 144.25 ล้านบาท  เพื่อนำมาใช้ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้มีรายได้น้อยในชุมชนเมือง  จำนวน 300  เมือง  และชนบท  1,500 ตำบล

ทั้งนี้การปรับลดงบประมาณบ้านมั่นคงเพื่อนำมาสนับสนุนโครงการบ้านพอเพียงชนบทนั้น  คณะกรรมการสถาบันฯ มีความเห็นว่า  การขับเคลื่อนโครงการบ้านพอเพียงชนบทมีความคล่องตัวกว่าโครงการบ้านมั่นคงในสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19  เนื่องจากโครงการบ้านพอเพียงชนบทเป็นการซ่อมแซมบ้านที่ใช้เวลาและงบประมาณไม่มากนัก  สามารถช่วยเหลือผู้เดือดร้อนได้จำนวนมากและทันต่อสถานการณ์

   บ้านพอเพียงที่ จ.ระยอง  ใช้แรงงานจิตอาสา  รื้อและสร้างใหม่ใช้เวลาเพียง 7 วัน

โดย พอช.จะสนับสนุนงบประมาณให้ครัวเรือนที่มีฐานะยากจน  สภาพบ้านเรือนทรุดโทรมได้ซ่อมแซมบ้านให้มั่นคงแข็งแรง   ครัวเรือนหนึ่งไม่เกิน 19,000 บาท  เพื่อจัดซื้อวัสดุซ่อมแซมบ้าน  ส่วนแรงงานใช้แรงงานจิตอาสาในชุมชน  หน่วยทหาร  หรืออาจมีการจ้างแรงงานบางส่วนในชุมชน  ทำให้เกิดการจ้างงาน  ผู้ที่ตกงานหรือว่างงานมีรายได้ในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ

พอช.จับมือชุมชนสร้างฐานเศรษฐกิจสู้พิษโควิด-19

นอกจากการปรับลดงบประมาณเพื่อช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนของชาวชุมชนในสถานการณ์โควิด-19  ดังกล่าวแล้ว  พอช.ยังส่งเสริมให้กลุ่มอาชีพ  วิสาหกิจชุมชนที่ได้รับผลกระทบด้านเศรษฐกิจ   ใช้ช่องทางการสื่อสารออนไลน์ที่ พอช.มีอยู่กระจายข่าวสารไปยังเครือข่าย  ขบวนองค์กรชุมชนต่างๆ ที่มีอยู่ทั่วประเทศ  เพื่อให้พี่น้องเหล่านี้ได้สั่งซื้อสินค้าจากกลุ่มเกษตรกรโดยตรง  เป็นการเพิ่มช่องทางการค้าในตลาดออนไลน์

เช่น  กลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่มะม่วงวิสาหกิจชุมชนมะม่วงมหาชนก  ต.หนองหิน  อ.หนองกุงศรี  จ.กาฬสินธุ์   ผลิตมะม่วง มหาชนก ได้รับการรับรองมาตรฐานการผลิต GAP จากที่เคยผลิตมะม่วงส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่น  จีน  มาเลเซีย  นำรายได้เข้าสู่ประเทศปีละหลายล้านบาท  แต่ปัจจุบันผลผลิตไม่สามารถออกสู่ตลาดได้  เพราะมีปัญหาเรื่องการส่งออกไปต่างประเทศ

                           กลุ่มเกษตรกรปลูกมมะม่วง  อ.หนองกุงศรี  จ.กาฬสินธุ์

นายชวาร  สอนคำหาร  ประธานกลุ่มเกษตรกรฯ  กล่าวว่า  กลุ่มปลูกมะม่วงมหาชนกมีสมาชิก 40 ราย  พื้นที่ปลูกรวมกันประมาณ  600 ไร่  ผลผลิตประมาณปีละ 200-300 ตัน   ทำรายได้รวมกันประมาณ 4-5 ล้านบาท  แต่ปีนี้ยังส่งออกไม่ได้   เพราะสถานการณ์โควิดทำให้บริษัทรับซื้อขาดแรงงาน   เนื่องจากเป็นแรงงานต่างด้าว  และแรงงานเหล่านี้ได้กลับประเทศไปแล้ว

“ตอนนี้กลุ่มจึงต้องลองขายมะม่วงทางออนไลน์  โดยมีหน่วยงานต่างๆ ช่วยกระจายข่าวสาร  รวมทั้ง พอช.  ทำให้มียอดขายประมาณวันละ 400 กิโลฯ หรือประมาณ 40-50   กล่อง  ราคาขายกิโลฯ ละ 35 บาทรวมค่าส่ง  แม้ว่ายอดซื้อจะไม่มาก  แต่ก็ทำให้กลุ่มมีช่องทางระบายมะม่วง  และได้ราคาดีกว่าขายในสวน  เพราะโดนกดราคา  กิโลฯ หนึ่งขายได้สิบกว่าบาทเท่านั้น  แต่ขายทางออนไลน์ได้ราคาดีกว่า”  ประธานกลุ่มเกษตรกรปลูกมะม่วงกล่าว  และบอกว่า  ผู้ที่สนใจติดต่อสั่งซื้อได้ที่เบอร์โทร 080-7662040

ส่วนชุมชนต่างๆ  ทั่วประเทศ  ขณะนี้ต่างร่วมมือกันเตรียมพร้อมรองรับกับสถานการณ์โควิดอย่างต่อเนื่อง  เช่น  ทำหน้ากากอนามัยป้องกันการแพร่เชื้อแจกจ่ายพี่น้องในชุมชน   เครือข่ายบ้านมั่นคงนครสวรรค์นำข้าวสารอาหารแห้งที่ใช้งบจากกองทุนสวัสดิการชุมชน  กองทุนภัยพิบัติ  ฯลฯ  แจกจ่ายให้แก่พี่น้องในชุมชนต่างๆ  เพื่อช่วยเหลือกันเฉพาะหน้า  และยังมีแผนสร้างแหล่งอาหารระยะยาว  เช่น  ทำแปลงเกษตร  ปลูกผัก  เลี้ยงไก่  ฯลฯ

                 เครือข่ายบ้านมั่นคงนครสวรรค์นำอาหารแห้งแจกจ่ายพี่น้องชุมชนต่างๆ

สหกรณ์บ้านมั่นคงหินเหล็กไฟ  จำกัด  อ.หัวหิน  จ.ประจวบคีรีขันธ์  มีสมาชิก 70 ครัวเรือน  ได้รับผลกระทบจากโครงการรถไฟรางคู่  จึงจัดทำโครงการบ้านมั่นคงโดยซื้อที่ดินแปลงใหม่เนื้อที่ 5 ไร่เศษ  ขณะนี้อยู่ในระหว่างเสนอโครงการใช้สินเชื่อจาก พอช.เพื่อสร้างบ้าน  และได้รับผลกระทบจากการปิดสถานบริการต่างๆ ในหัวหิน  ชาวชุมชนส่วนใหญ่มีอาชีพรับจ้าง  นวดแผนไทย  กลายเป็นคนตกงาน  จึงรวมกลุ่มกันไปรับเหมาซื้อปลาจากบ่อ  เพื่อมาทำเป็นสินค้าชุมชน  เช่น  ปลานิลแดดเดียว  ปลาสลิดแดดเดียว  เพื่อสร้างอาชีพ  สร้างรายได้ในช่วงตกงาน   และนำปลามาทำอาหาร  รวมทั้งปลูกผักเพื่อลดรายจ่ายด้วย

                      สมาชิกสหกรณ์บ้านมั่นคงหินเหล็กไฟจับปลาสร้างอาชีพสู้ภัยโควิด