นอกเหนือจากฟ้าทะลายโจรที่เด่นดังกับการจัดการหวัด ยังมีสมุนไพรชนิดอื่นๆ ที่ถูกนำมาศึกษาวิจัย เนื่องจากหวัดเป็นอาการที่พบบ่อยในสังคมมาช้านาน คนในท้องถิ่นต่างๆ เรียนรู้และสั่งสมเป็นประสบการณ์ในการนำสมุนไพรมาใช้เพื่อช่วยรักษาและบรรเทาอาการของหวัด โดยหนึ่งในนั้นคือ มะขามป้อม ผลไม้สมัยพุทธกาล มีใช้กันมานาน ภาษาอังกฤษ เรียก Indian gooseberry คนไทยสมัยก่อนใช้มะขามป้อมจิ้มเกลือแก้ไอ ต้มน้ำกินแก้หวัด แก้ไอ ละลายเสมหะ และกินบำรุงร่างกายเป็นยาอายุวัฒนะ
มะขามป้อม
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Phyllanthus emblica
วงศ์ : Phyllanthaceae
ชื่อพื้นเมืองอื่นๆ : กันโตด (เขมร – กาญจนบุรี) กำทวด (ราชบุรี) มะขามป้อม (ทั่วไป) มั่งลู่, สันยาส่า (กะเหรี่ยง – แม่ฮ่องสอน)
ล่าสุด มีการศึกษาวิจัยในปัจจุบันพบว่า มะขามป้อม มีคุณสมบัติที่สำคัญคือกระตุ้นภูมิคุ้มกัน (immunomodulatory&immunity enhancing effects) (Yadav, Singh, Singh, & Kumar, 2017) โดยมีสารที่เกี่ยวข้องกับการยับยั้งไวรัส COVID-19 ได้แก่ phyllaemblicin B phyllaemblinol และ phyllaemblicin G7 (Wu et al., 2020)
โดย สารสำคัญแต่ละชนิดมีบทบาทสำคัญดังนี้
- phyllaemblicin B และ phyllaemblinol เป็นสารกลุ่ม flavonoids ที่ออกฤทธิ์ยับยั้งการแบ่งตัวของไวรัส
- phyllaemblicin G7 จะป้องกันไม่ให้ไวรัสเข้าสู่เซลล์ โดยการจับที่ขาของไวรัส และไปจับที่ตัวรับที่ปอด ทำให้ไวรัสไม่สามารถเข้าปอดได้
งานวิจัยขั้นต้นยังอยู่ในขั้นตอนเริ่มแรก ** คือการศึกษาโครงสร้างของสารกับโครงสร้างของเชื้อในคอมพิวเตอร์ ซึ่งหากจะยืนยันว่ามะขามป้อมรักษาได้ คงใช้เวลาอีกพอสมควร แต่ในขณะนี้เพื่อไม่ให้เสียโอกาสในการเสริมสร้างร่างกายให้แข็งแรง สามารถเลือกมะขามป้อม สายพันธุ์ไทย (ลักษณะคือ ลูกเล็กๆ จะมีสารสำคัญดีกว่า) เป็นส่วนหนึ่งในเมนูอาหาร ของว่างได้เลย มะขามป้อมไทยมีสารกลุ่มฟีโนลิกสูง ซึ่งสารนี้มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ดินเสริมภูมิคุ้มกันได้ และความปลอดภัยสูง ผลข้างเคียงในการรับประทานมะขามป้อมที่อาจพบได้ในบางรายคือ อาจมีฤทธิ์ระบาย รับประทานแล้วถ่ายง่ายขึ้นแต่ไม่ทำให้ท้องเสีย
อ่านเพิ่มเติม
1.Jaijoy, K., Soonthornchareonnon, N., Panthong, A., & Sireeratawong, S. (2010). Anti-inflammatory and analgesic activities of the water extract from the fruit of Phyllanthus emblica Linn. International Journal of Applied Research in Natural Products, 3.
2.Singh, M. K., Yadav, S. S., Gupta, V., & Khattri, S. (2013). Immunomodulatory role of Emblica officinalis in arsenic induced oxidative damage and apoptosis in thymocytes of mice. BMC Complement Altern Med, 13, 193. doi: 10.1186/1472-6882-13-193
3.Wu, C., Liu, Y., Yang, Y., Zhang, P., Zhong, W., Wang, Y., . . . Li, H. (2020). Analysis of therapeutic targets for SARS-CoV-2 and discovery of potential drugs by computational methods. Acta Pharmaceutica Sinica B. doi: https://doi.org/10.1016/j.apsb.2020.02.008
4.Yadav, S. S., Singh, M. K., Singh, P. K., & Kumar, V. (2017). Traditional knowledge to clinical trials: A review on therapeutic actions of Emblica officinalis. Biomed Pharmacother, 93, 1292-1302. doi: 10.1016/j.biopha.2017.07.065