กรมควบคุมโรค เตือนประชาชนระมัดระวังป่วยโรคไข้เลือดออก แนะยึดหลัก “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค”

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เตือนประชาชนในพื้นที่ที่เกิดพายุฝนฟ้าคะนอง ระมัดระวังป่วย โรคไข้เลือดออก ขอให้สำรวจบริเวณรอบๆ ตัวบ้านและในชุมชน โดยเฉพาะตามภาชนะหรือวัสดุต่างๆ ที่มีน้ำขัง และช่วยกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง โดยแนะให้ประชาชนเก็บบ้าน เก็บขยะ เก็บน้ำ ตามมาตรการ “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค”

วันที่ 10 เมษายน 2563 นายแพทย์อัษฎางค์ รวยอาจิณ รองอธิบดีและโฆษกกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากรายงานของกรมอุตุนิยมวิทยา ในช่วงนี้ประเทศไทยจะเกิดพายุฝนฟ้าคะนองในหลายพื้นที่ ทำให้เกิดน้ำขังในภาชนะต่างๆ ซึ่งเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย จึงขอเตือนประชาชนให้ระมัดระวังป้องกันตนเองไม่ให้ถูกยุงกัด เพราะอาจเสี่ยงป่วยด้วยโรคไข้เลือดออก และช่วยกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย โดยสถานการณ์ของโรคไข้เลือดออกตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 7 เมษายน 2563 พบผู้ป่วย 8,147 ราย เสียชีวิต 4 ราย กลุ่มอายุที่พบมากที่สุด 3 อันดับ คือ 5-14 ปี รองลงมา 15-24 ปี และ 0-4 ปี ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา 10 จังหวัดที่มีอัตราป่วยสูงสุด ได้แก่ อ่างทอง ระยอง พิจิตร สมุทรสาคร ชัยนาท ประจวบคีรีขันธ์ ระนอง ขอนแก่น นครราชสีมาและนครปฐม ตามลำดับ ส่วนปัจจัยเสี่ยงของการเสียชีวิตคือโรคอ้วน และก่อนมาโรงพยาบาลได้ทานยาทานเองในกลุ่มยา NSAIDS เช่น ไอบรูโปรเฟน

จะเห็นได้ว่าเพียง 3 เดือนกว่าของปีนี้ ที่แม้จะมีผู้ป่วยน้อยกว่าในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา แต่ตัวเลขผู้ป่วยจำนวนกว่า 8000 ราย ก็ถือว่ามากกว่าหลายๆ ปีก่อนหน้านี้ แสดงให้เห็นว่าสถานการณ์การระบาดของโรคโดยรวมก็ยังมีความเสี่ยงสูงและต้องมีการเฝ้าระวังอย่างเข้มข้นต่อไป ยิ่งเมื่อมีพายุฝนในช่วงนี้ยิ่งจะเติมน้ำในภาชนะขังน้ำทั่วไปซึ่งอาจมีไข่ยุงลายแห้งติดอยู่หลายเดือนรอการแตกตัวเป็นลูกน้ำและเป็นยุงลายพาหะได้ อีกทั้งเมื่อเข้าฤดูฝนอย่างเป็นทางการในราวเดือนพฤษภาคมก็จะมีความเสี่ยงมากยิ่งขึ้นจากที่จะมีจำนวนยุงลายชุกชุมหนาแน่นขึ้นไปอีกหากไม่ดำเนินการใดๆอย่างจริงจัง ทางที่ดีประชาชนเองซึ่งเป็นเจ้าของบ้าน เจ้าของชุมชนซึ่งอยู่ใกล้ชิดกับสิ่งแวดล้อมรอบตัวที่เอื้อต่อการก่อโรคมากที่สุด ควรตระหนักและสร้างนิสัยในพฤติกรรมกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายอย่างสม่ำเสมอก่อนฝนจะมา เก็บปิดทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ให้เหลือน้อยที่สุดเพื่อลดจำนวนยุงลายพาหะนำโรคไข้เลือดออกและโรคอื่นๆ ก่อนฤดูการระบาดของโรคที่จะมาถึง

สำหรับการป้องกันโรคไข้เลือดออกนั้น ขอให้ประชาชนสำรวจพื้นที่ที่มีน้ำขัง และร่วมกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในบริเวณรอบๆ ตัวบ้านและในชุมชน โดยแนะให้ประชาชนเก็บบ้าน เก็บขยะ เก็บน้ำ ตามมาตรการ “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค” ดังนี้ 1.เก็บบ้านให้สะอาด เช่น พับเก็บเสื้อผ้าใส่ในตู้หรือแขวนให้เรียบร้อย เพื่อไม่ให้มีมุมอับทึบเป็นที่เกาะพักของยุง 2.เก็บขยะที่อยู่บริเวณรอบบ้าน เก็บภาชนะใส่อาหารหรือน้ำดื่มที่ทิ้งไว้ใส่ถุงดำ และนำไปทิ้งลงถังขยะ เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง และ 3.เก็บน้ำ ภาชนะที่ใส่น้ำเพื่ออุปโภค บริโภค  ต้องปิดฝาให้มิดชิด ล้างคว่ำภาชนะใส่น้ำ และเปลี่ยนน้ำในกระถางหรือแจกันทุกสัปดาห์ ป้องกันไม่ให้ยุงลายวางไข่ ซึ่งจะสามารถป้องกันได้ 3 โรค คือ 1.โรคไข้เลือดออก 2.โรคติดเชื้อไวรัสซิกา 3.โรคไข้ปวดข้อยุงลาย

ทั้งนี้ หากประชาชนมีอาการป่วย เช่น มีไข้ ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ หายใจเหนื่อยหอบ เบื่ออาหาร ปวดท้อง ซึ่งอาจมีลักษณะคล้ายกันหลายโรค ทั้งไข้หวัดใหญ่ ไข้เลือดออก และโรคโควิด-19 จึงขอให้ประชาชนใส่หน้ากากอนามัย รับประทานยาลดไข้ 1-2 วัน ถ้าอาการไม่ดีขึ้นให้รีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน เพื่อรับการวินิจฉัยโรคและรับการรักษาต่อไป สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422


ข้อมูลจาก : กองโรคติดต่อนำโดยแมลง/สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค

วันที่ 10 เมษายน 2563