นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า ตับอักเสบเป็นภาวะที่เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น จากการติดเชื้อ ยา สารเคมี หรือสารพิษต่างๆ แอลกอฮอล์ ถือเป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญ ที่ทำให้เกิดโรคตับอักเสบได้ โดยการดื่มสุราหรือแอลกอฮอล์เป็นประจำ อาจทำให้เกิดอาการพิษต่อตับได้ทั้งระยะเฉียบพลัน และเรื้อรัง อาการที่เกิดขึ้น เช่น อ่อนเพลีย ไม่มีแรง เบื่ออาหาร ปวดท้อง เกิดภาวะดีซ่านตัวเหลือง ตาเหลือง ในกลุ่มที่เป็นพิษเรื้อรัง อาจทำให้มีอาการ ขาบวม ท้องมาน สับสน สมองเสื่อม มีอาเจียนเป็นเลือดหรือถ่ายเป็นเลือด เกิดภาวะตับแข็ง ตับวาย หรือมะเร็งตับ นำไปสู่การเสียชีวิตได้ นอกจากนี้ มารดาที่ดื่มแอลกอฮอล์ อาจทำให้ทารกเสียชีวิต แท้ง หรือคลอดก่อนกำหนด รวมถึงทารกที่คลอดจากมารดาที่ดื่มแอลกอฮอล์ อาจพบความผิดปกติต่างๆ เหล่านี้ได้ เช่น ภาวะปัญญาอ่อน กะโหลกศีรษะเล็ก น้ำหนักแรกคลอดต่ำ และน้ำหนักตัวในช่วงพัฒนาการน้อยผิดปกติ หรือมีความผิดปกติของหัวใจโดยกำเนิด นอกจากนี้เมื่อเด็กโตขึ้น สามารถพบปัญหาทางพฤติกรรมต่างๆ เช่น สมาธิสั้น มีความบกพร่องในการใช้สติปัญญา โดยความผิดปกติต่างๆ เหล่านี้ จะเกิดขึ้นอย่างถาวร
นายแพทย์มานัส โพธาภรณ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถี กล่าวเพิ่มเติมว่า ในผู้ที่ดื่มสุรา หรือแอลกอฮอล์ปริมาณมากเป็นประจำ การหยุดดื่มทันที หรือลดปริมาณลง อาจทำให้เกิดอาการกระสับกระส่าย หงุดหงิด มือสั่น นอนไม่หลับ ใจสั่น คลื่นไส้ อาเจียน และในบางคนจะได้ยินเสียงแว่ว ประสาทหลอน สับสน และชักได้ ซึ่งเป็นภาวะ “ติดเหล้า” ทางกาย ดังนั้นผู้ที่ติดเหล้าเป็นเวลานานและต้องการเลิกเหล้า อาจจำเป็นต้องพบแพทย์เพื่อปรึกษาขอคำแนะนำที่ถูกต้องและเหมาะสม หากสามารถเลิกดื่มได้สำเร็จ จะส่งผลดีต่อร่างกาย ทั้งสุขภาพที่แข็งแรง ลดความเสี่ยงในการเป็นโรคร้ายต่าง ๆ ความสุขที่ได้จากการดื่มแอลกอฮอล์เป็นความสุขเพียงชั่วคราว ไม่คุ้มค่ากับผลเสียที่ตามมา และเพื่อส่งเสริมให้คนไทยมีสุขภาพดี คณะรัฐมนตรีจึงมีมติเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2551 กำหนดให้วันเข้าพรรษาเป็นวันงดดื่มสุราแห่งชาติ