กรม สบส. ส่ง อสม.บุกเคาะประตูบ้านค้นหา คัดกรองผู้เดินทางกลับภูมิลำเนา ใช้แอพลิเคชั่นติดตามกลุ่มเสี่ยงที่ต้องแยกตัวเพื่อสังเกตอาการ สกัดการแพร่ระบาดสู่ชุมชน  

กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ สนับสนุนให้ อสม.ร่วมเป็นทีมอาสาต้านโควิดระดับหมู่บ้าน/ตำบล ออกคัดกรองประชาชนที่เดินทางจากกรุงเทพและปริมณฑลกลับภูมิลำเนา ชี้ให้แยกตัวเพื่อสังเกตอาการ 14 วัน และปฏิบัติตนเองตามแนวทางอย่างเคร่งครัด พร้อมนำเทคโนโลยี แอพพลิเคชั่น AOT Airports ช่วยติดตามและระบุพิกัดกลุ่มเสี่ยง ง่ายต่อการติดตาม และลดโอกาสการติดเชื้อ เผยดำเนินการเคาะประตูบ้านไปแล้วกว่า 4  ล้านหลังคาเรือน

นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) ให้สัมภาษณ์ว่า จากการที่กรุงเทพมหานครมีประกาศปิดจุดเสี่ยงการแพร่เชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ทำให้กิจการหลายแห่งทั่วกรุงเทพฯ และปริมณฑลปิดเป็นการชั่วคราว 22 วัน ตั้งแต่วันที่ 22 มีนาคม ถึงวันที่ 12 เมษายน 2563 ส่งผลให้ประชาชนเป็นจำนวนมากเดินทางจากกรุงเทพ และจังหวัดอื่นๆ เพื่อกลับภูมิลำเนา จากสถานการณ์ดังกล่าวกรม สบส.ได้สนับสนุนให้ อสม.ร่วมเป็นทีมอาสาโควิดระดับตำบล และหมู่บ้าน ส่ง อสม.หมอประจำบ้าน 80,000 คนทั่วประเทศ บุกเคาะประตูบ้านค้นหา คัดกรองกลุ่มเสี่ยง 3 กลุ่ม คือ กลุ่มเสี่ยงจากสนามมวย ผู้ที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ และผู้เดินทางกลับภูมิลำเนาจากพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล ร่วมกับผู้นำชุมชน กำนัน ผู้ใหญ่บ้านและเจ้าหน้าสาธารณสุข รวมถึง อสม.ที่ได้รับการคัดเลือกจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ร่วมกันค้นหาให้พบภายใน 7 วัน เพื่อให้ความรู้ สร้างความเข้าใจแก่ผู้เสี่ยงและสมาชิกในครอบครัว โดยจะประเมินอาการสำคัญทางโทรศัพท์หรือสอบถามญาติ กรณีที่ลงพื้นที่จะอยู่ห่างจากผู้ถูกกักกันในระยะ 2 เมตร ตามมาตรการ Social Distancing และสวมหน้ากากอนามัยทุกครั้ง แนะนำให้ผู้เป็นกลุ่มเสี่ยงจะต้องแยกตัวเองออกจากคนในครอบครัวเป็นระยะเวลา 14 วันนับจากวันที่เดินทางกลับถึงภูมิลำเนา งดใช้สิ่งของร่วมกันผู้อื่น พร้อมสังเกตตนเอง หากมีไข้ ไอ เจ็บคอ ให้สวมหน้ากากอนามัย และรีบแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ทันที ทั้งนี้ อสม.จะติดตาม ประเมินสุขภาพจิตและรายงานแก่เจ้าหน้าที่ทุกวัน และดำเนินการติดสติกเกอร์เพื่อแสดงสัญลักษณ์สำหรับครัวเรือนที่ได้รับการคัดกรองแล้ว ผลการดำเนินงานตั้งแต่วันที่ 2 มีนาคมที่ผ่านมา อสม.ได้เคาะประตูบ้านไปกว่า 4,132,444 หลังคาเรือน ดำเนินการเยี่ยมติดตามครบ 14 วัน จำนวน 18,583 คน และติดตามอยู่ในระยะ 14 วัน จำนวน 167,383 คน และกลุ่มที่มีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ หอบเหนื่อย ส่งต่อเจ้าหน้าที่ 1,416 คน (ข้อมูล 27 มีนาคม – 1 เมษายน 62)

นพ.ภานุวัฒน์ ปานเกตุ  รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับ อสม.ที่ปฏิบัติหน้าที่จะได้รับความรู้และแนวทางการป้องกันโรคโควิด-19 จากเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ พร้อมนำแอพพลิเคชั่น AOT Airports ที่สามารถเก็บข้อมูลการเดินทางและสุขภาพ มาใช้ในการติดตามระบุพิกัดและการกักกันตัวของกลุ่มเสี่ยง ในระยะเวลา 14 วัน รวมถึงเป็นฐานข้อมูลเพื่อเฝ้าระวังและควบคุมโรคตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข สร้างความสะดวกสบาย เพียงแค่ใช้มือถือเพียงเครื่องเดียว และยังเป็นการลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้

นอกจากนี้ยังขอความร่วมมือชุมชน งดกิจกรรมการรวมกลุ่ม การสังสรรค์ และให้ทุกคนดำเนินการตามมาตรการป้องกันการระบาดของโรคไวรัสโคโรนา 2019 โดยเว้นระยะห่างทางสังคม หรือ Social Distancing ที่จะช่วยลดอัตราการแพร่ระบาดของไวรัสจากคนสู่คนได้